บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 328.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

1. ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     1.1 ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ
          1.เขตเทือกเขาสูง
          2. เขตที่ราบสูง
          3. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
     1.2 ลักษณะภูมิอากาศ ภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในเขตร้อน จึงมีอุณหภูมิสูงเกือบทั้งปี มีนาคมถึงเดือนตุลาคมจะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้มีฝนตกชุก พฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากจีน ทำให้อุณหภูมิต่ำลง นอกจากลมมรสุม ยังได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพายุที่มีกำลังแรงมากก่อให้เกิดความเสียหายและฝนตกชุก
     1.3 ความสำคัญของสภาพภูมิศาสตร์ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้า ดังต่อไปนี้
          1. ด้านการค้า มีอารยธรรมที่มีความเจริญก้าวหน้าจึงทำให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า
          2. ด้านการเมือง มีช่องแคบมะละกาเป็นทางผ่าน มีอิทธิพลทั้งทางการค้าและการเมือง
          3. ด้านเศรษฐกิจ มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกตลอดทั้งปี

 

 อาชีพปลูกยางพารา

 

          4. ด้านวัฒนธรรม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอารยธรรมเป็นของตนเองอยู่แล้ว ต่อมาได้รับวัฒนธรรมจากจีนและอินเดีย การที่ชาวจีนและอินเดียอพยพเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางผ่านของพ่อค้าและนักเดินเรือ


2. อารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     2.1 อารยธรรมยุคก่อนรับอิทธิพลอินเดียและจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ยุคหินเมื่อ 3,000–2,000 ปีก่อนพุทธศักราช เป็นช่วงที่มีแหล่งอารยธรรมเกิดขึ้น เช่น อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

 

หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรี จ.อุดรธานี ภาชนะดินเผาลายเขียนสี วัฒนธรรมบ้านเชียง

 

     2.2 อิทธิพลของอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          1. การรับอารยธรรมอินเดีย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขยายอิทธิพลอินเดีย มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกษัตริย์นักรบชาวอินเดีย กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มนักบวชในนิกายต่าง ๆ
          2. อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย เช่น ศาสนา การปกครอง กฎหมาย ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม
     2.3 อิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          1. อิทธิพลทางด้านการเมือง จักรพรรดิจีนเชื่อว่าตนมีอำนาจเหนือภูมิภาคนี้ แต่จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐต่าง ๆ แต่ถ้าเกิดข้อพิพาท จีนจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือตัดสิน
          2. อิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นตลาดการค้าใหญ่และเป็นศูนย์กลางทางการค้า เส้นทางการค้าของจีนที่ค้าขายนอกประเทศมีอิทธิพลมาก ถ้าหากอาณาจักรใดอยู่บนเส้นทางนั้นก็จะรุ่งเรือง
          3. อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม จีนมีอิทธิพลน้อยมากเมื่อเทียบกับอินเดีย ที่ชัดเจนในไทย เช่น อาหารจีน ภาษาจีน ศิลปกรรมจีนก็ผสมผสานอยู่ในจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมไทย รวมทั้งการนับถือผู้อาวุโส


3. รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลังการรับอิทธิพลอินเดียและจีน
     3.1 รัฐบนภาคพื้นทวีป
          1. อาณาจักรฟูนัน ฟูนันเป็นอาณาจักรใหญ่และสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเมืองหลวงชื่อ วาธปุระอยู่ในกัมพูชาในปัจจุบัน สิ้นสุดลงเนื่องจากถูกอาณาจักรเจนละ (ขอมโบราณ) ยึดครองในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ด้วยเหตุนี้เขมรจึงได้รับอารยธรรมฟูนัน ซึ่งรับมาจากอินเดียอีกทอด

 

อาณาจักรฟูนัน เงินตราที่ใช้ในสมัยฟูนัน

 

          2. อาณาจักรเจนละ เชื่อกันว่ามีเชื้อสายเดียวกันกับมอญ และเป็นบรรพบุรุษของเขมร เมื่ออาณาจักรฟูนันเสื่อมสลายพวกเจนละรวมตัวกันต่อสู้เพื่อเอกราช ต่อมารัฐอ่อนแอลง แตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเหนือ เจนละบก และฝ่ายใต้ เจนละน้ำ ซึ่งอยู่ในกัมพูชาปัจจุบัน เจนละได้รับอิทธิพลของอินเดียตั้งแต่เป็นเมืองขึ้นของฟูนัน

 

อาณาจักรเจนละ

 

          3.อาณาจักรเขมร ในปลายพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรชวา ตีได้เจนละน้ำและรุกรานจัมปากับตังเกี๋ย ทำให้อาณาจักรเจนละตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรชวา พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ยกทัพมากู้เอกราชให้เจนละ และทรงรวมเจนละบกกับเจนละน้ำเข้าด้วยกัน แล้วประกาศตั้งอาณาจักรเขมร ทรงรับความเชื่อในเรื่องการบูชาพระศิวะ พร้อมกับประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งภูเขา แสดงถึงความยิ่งใหญ่และเป็นอิสระ ดังนั้นกษัตริย์เขมรทุกพระองค์จะต้องสร้างภูเขาวิหารขึ้นในเขมร ศาสนสถานหรือวิหารภูเขาที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์เขมร คือ นครวัด และปราสาทบายนที่นครธม (พระนครหลวง) ซึ่งเป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบบายน ผสมแนวความเชื่อในพระพุทธศาสนานิกายมหายานเข้าไปด้วย

 

นครวัด ปราสาทบายนที่นครธม

อาณาจักรเขมรโบราณ

 

          4. อาณาจักรล้านช้างหรือศรีสัตนาคนหุต พงศาวดารล้านช้างกล่าวว่า เจ้าฟ้างุ้ม ได้รวบรวมรัฐอิสระของพวกลาวเป็นรัฐเดียวกัน ในพุทธศตวรรษที่ 19 มีชื่อว่า อาณาจักรล้านช้างหรือศรีสัตนาคนหุต มีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง ได้รับวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาจากอาณาจักรเขมรและล้านนา ล้านช้างได้ตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐรอบข้างที่มีความเข้มแข็ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทยแล้วโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบอาณาจักรล้านช้าง และนำพระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรกลับมาด้วย
          5. อาณาจักรพุกาม ตั้งอยู่ลุ่มน้ำอิรวดี ซึ่งเป็นที่อาศัยของคนหลายเผ่า เช่น พวกมอญ พม่า พยูหรือปยู พวกพยูสามารถสถาปนาอำนาจได้ก่อน และสร้างเป็นอาณาจักรศรีเกษตร โดยรับอารยธรรมจากอินเดีย อาณาจักรพุกามเสื่อมสลายลงเพราะการรุกรานของมองโกล และมอญตั้งตัวเป็นเอกราช

 

อาณาจักรพุกาม เจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้ง เมียนมา

 

          6. อาณาจักรจัมปา เป็นรากฐานของรัฐในลุ่มแม่น้ำแดง เมืองศูนย์กลางของจัมปา คือ เมืองเว้ จัมปาเคยเป็นเมืองขึ้นของจีน แม้จัมปาตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่นานแต่ไม่ได้รับเอาวัฒนธรรมของจีนมาเท่าที่ควร แต่กลับรับเอาอารยธรรมอินเดีย

 

อาณาจักรจัมปาและนามเวียด

 

          7. อาณาจักรนามเวียด มีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำแดง เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกโล ต่อมาพวกเวียดได้อพยพมายึดพื้นที่เนื่องจากถูกจีนรุกราน และตั้งอาณาจักรนามเวียดขึ้น และตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีน นามเวียดได้รับเอกราชอย่างแท้จริง เมื่อราชวงศ์ถังของจีนเริ่มเสื่อมอำนาจ และเมื่อได้รับเอกราชได้เปลี่ยนชื่อเป็น อาณาจักรไดเวียด และทำสงครามกับจัมปาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็รวมเข้ากับไดเวียด เวียดนามได้รับอิทธิพลจากจีนซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของอาณาจักรไดเวียด
     3.2 รัฐแถบริมทะเล
          1. อาณาจักรสิงหัสส่าหรี เกิดขึ้นเนื่องมาจากการแย่งชิงสมบัติในชวา มีการผสมผสานของวัฒนธรรมฮินดูและชวา และเป็นอาณาจักรสุดท้ายในหมู่เกาะอินโดนีเซียที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมแบบฮินดูชวา

 

อาณาจักรสิงหัสส่าหรี

 

          2. อาณาจักรมัชปาหิต เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญต่อจากอาณาจักรศรีวิชัย มีอาณาเขตเท่ากับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบันรวมกัน เริ่มเสื่อมเนื่องจากอยุธยาได้แผ่ขยายอำนาจ

 

อาณาจักรมัชปาหิต

 

          3. อาณาจักรมะละกา ผู้ก่อตั้งเป็นเชื้อสายกษัตริย์ศรีวิชัย ส่งบรรณาการให้อยุธยาเพื่อไม่ให้ถูกรุกราน ต่อมาจีนให้การสนับสนุนมะละกา จึงทำให้สามารถขยายอำนาจออกไปได้

 

อาณาจักรมะละกา

 

4. การขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     4.1 การขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกในยุคแรก พุทธศตวรรษที่ 21–24
          1. โปรตุเกส วัสโก ดา กามา (Vasco da Gama) ได้ค้นพบเส้นทางการเดินเรือมาสู่เอเชีย โดยอ้อมแหลมกู๊ดโฮปที่อยูตอนปลายสุดของทวีปแอฟริกามายังอินเดีย และอาศัยเส้นทางการค้าจากอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุผลที่สำคัญคือ การค้าเครื่องเทศ

 

ภาพแกะสลักแสดงขบวนเรือของโปรตุเกสอยู่นอกแนวปะการังที่เกาะตอร์เนตในหมู่เกาะโมลุกกะ

 

          2. สเปน เมื่อโปรตุเกสประสบความสำเร็จในการค้าเครื่องเทศจึงทำให้สเปนเกิดความสนใจในการเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สเปนถูกสันตะปาปาสั่งห้ามใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮป จึงต้องใช้เส้นทางอ้อมไปทางตะวันตก โดยมีนักเดินเรือชื่อเฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) ทำให้เป็นผู้ค้นพบหมู่เกาะฟิลิปปินและหมู่เกาะโมลุกกะ โปรตุเกสเข้ามาขัดขวางและแบ่งดินแดน
          3. ฮอลันดาหรือฮอลแลนด์ ชาวฮอลันดาหรือชาวดัตช์ เป็นพ่อค้าคนกลางที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุโรป แต่ถูกกีดกันทางการค้าในยุโรปจากโปรตุเกสและสเปน ฮอลันดาจึงหันมาทำการค้าทางตะวันออกแทน
          4. อังกฤษ ศูนย์กลางทางการค้าของอังกฤษอยูที่หมู่เกาะอินเดียตะวันออกหรือหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฮอลันดามองว่าอังกฤษเป็นคู่แข่งทางการค้า โดยเฉพาะการค้าเครื่องเทศ อังกฤษประสบความสำเร็จเมื่อไปตั้งสถานีการค้า และสร้างอิทธิพลในเกาะบอร์เนียวและนิวกินี
          5. ฝรั่งเศส อิทธิพลของฝรั่งเศสเริ่มในตังเกี๋ยก่อนขยายไปยังส่วนอื่น ๆ ของเวียดนาม เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาในอยุธยา ไทยได้อาศัยฝรั่งเศสในการถ่วงดุลอำนาจของอังกฤษและฮอลันดา หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ฝรั่งเศสถูกคนไทยต่อต้านและขับไล่ออกจากอยุธยา
     4.2 การขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกในยุคที่สอง (ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24)
          1. อังกฤษ รวมดินแดน 3 ส่วน คือ ปีนังกับพรอวินซ์เวลส์ลีย์ สิงคโปร์ และมะละกาเป็นสเตรตส์เซตเทิลเมนต์ (Straits Settlements) ให้อยู่ในความดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ต่อมาให้ข้าหลวงใหญ่อังกฤษปกครองโดยตรง อังกฤษประสบความสำเร็จในการยึดครองรัฐอื่น ๆ ในคาบสมุทรมลายู และได้รวมสหพันธรัฐมลายู มีสุลต่านเป็นประมุข และไทยได้ยกรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปะลิสให้อังกฤษ เพื่อแลกกับสิทธินอกอาณาเขตจากอังกฤษ
          2. ฮอลันดา การขยายอิทธิพลของอังกฤษ ทำให้ฮอลันดาต้องกลับมาฟื้นฟูอำนาจอีกครั้ง จนได้รับดินแดนที่อยู่นอกเกาะชวาเกือบทั้งหมดกลับคืนมา และนำระบบการเพาะปลูกเพื่อการส่งออกมาใช้ โดยบังคับให้ชาวพื้นเมืองปลูกเฉพาะพืชที่ตนต้องการ
          3. ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสบีบให้ไทยยกดินแดนให้หลายครั้ง จึงทำให้ฝรั่งเศสรวมเวียดนาม เขมร ลาว เป็นอินโดจีนได้สำเร็จ
          4. สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศเกิดใหม่ เมื่อทำสงครามชนะสเปน จึงอ้างสิทธิในการยึดครองฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของสเปน ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้

 

5. ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
     1. ประเทศพม่า มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สหภาพพม่า เมืองหลวงชื่อ เนปีดอว์ ภาษาที่ใช้มีภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ ศาสนาสำคัญที่มีผู้นับถือมากที่สุด คือ พระพุทธศาสนา ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร
     2. เวียดนาม มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐ สังคมนิยมเวียดนาม เมืองหลวงชื่อ ฮานอย ภาษาราชการ คือ ภาษาเวียดนาม ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมแบบสาธารณรัฐ
     3. ลาว มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองหลวงชื่อ เวียงจันทน์ มี ภาษาราชการ คือ ภาษาลาว มีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
     4. ฟิลิปปินส์ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมืองหลวงชื่อ มะนิลา ภาษาราชการมี 2 ภาษา คือ ภาษาตากาล็อกและภาษาอังกฤษ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
     5. กัมพูชา มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา เมืองหลวงชื่อ พนมเปญ ภาษาราชการ คือ ภาษาเขมร ปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นการปกครองแบบเดียวกับประเทศไทย
     6. บรูไนดารุสซาลาม มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าเนการาบรูไนดารุสซาลาม เมืองหลวงชื่อ บันดาห์เสรีเบกาวัน ภาษาราชการ คือ ภาษามาเลย์ บรูไนดารุสซาลามมีการปกครองแบบเจ้าผู้ครองนคร ตามแบบ คูเวต ซาอุดีอาระเบีย ตำแหน่งประมุขของประเทศคือ สุลต่าน
     7. มาเลเซีย เมืองหลวงชื่อ กัวลาลัมเปอร์ ภาษาราชการ คือ ภาษามลายู มาเลเซียมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุข ซึ่งมีประเทศเดียวเท่านั้น พระมหากษัตริย์ของมาเลเซีย เรียกว่า พระราชาธิบดี (ยังดี เปอตวน อากง) มีอำนาจอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
     8. สิงคโปร์ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมืองหลวงชื่อ สิงคโปร์ ภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ ภาษาจีน ภาษามาเลย์ ภาษาทมิฬ และภาษาอังกฤษ สิงคโปร์ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
     9. อินโดนีเซีย มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมืองหลวงชื่อจาการ์ตา ภาษาประจำชาติ คือ ภาษาอินโดนีเซีย มีการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง
     10.ติมอร์–เลสเต มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐ ติมอร์–เลสเต เมืองหลวงชื่อ ดิลี ปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหารประเทศ เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีเงินทุนพัฒนาฟื้นฟูประเทศ


6. การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     6.1 การตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Asssociation of Southeast Asian Nations–ASEAN)
สมาคมอาเซียนเกิดขึ้นจากความต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกเพื่อความมั่นคงของภูมิภาค
     6.2 วัตถุประสงค์ของสมาคมอาเซียน
          1. เพื่อเร่งรัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของภูมิภาค
          2. เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค
          3. เพื่อส่งเสริมให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และการบริการในภูมิภาค
          4. จัดให้มีความช่วยเหลือเกี่ยวกับ การฝึกอบรม และวิจัยทางด้านการศึกษา วิชาชีพ วิชาการ และการบริหาร
          5. ร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์มากขึ้นในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การขยายการค้า รวมทั้งการศึกษาปัญหาในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ
          6. ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          7. ธำรงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ที่มีความมุ่งหมายคล้ายคลึงกัน และที่จะแสวงหาลู่ทางเพื่อให้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
     6.3 สัญลักษณ์ของอาเซียน


สัญลักษณ์อาเซียน

 

เป็นต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้น มัดรวมกัน หมายถึง ประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นหนึ่งน้ำใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง ความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
     6.4 โครงสร้างของอาเซียน
โครงสร้างของอาเซียนประกอบด้วยส่วนสำคัญดังนี้
          1. สำนักเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่ในการดำเนินงานและประสานงาน มีหัวหน้าสำนักงาน คือ เลขาธิการอาเซียน
          2. สำนักงานอาเซียนแห่งชาติหรือกรมอาเซียน เป็นหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องมี
     6.5 กลไกในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน
          1. การประชุมระดับหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนหรือการประชุมสุดยอดอาเซียน
          2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
          3. การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา
          4. การประชุมรัฐมนตรีในสาขาอื่น ๆ ประกอบด้วย
               1) การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
               2) การประชุมคณะรัฐมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน
               3) การประชุมคณะรัฐมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน
               4) การประชุมรัฐมนตรีเฉพาะด้าน
          5. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ แบ่งออกเป็น
               1) ด้านการเมือง
               2) ด้านเศรษฐกิจ
               3) คณะกรรมการประจำอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการอาเซียน และอธิบดีกรมอาเซียนของแต่ละประเทศสมาชิก มีหน้าที่ดูแลดำเนินงาน ติดตามผล และพิจารณาทบทวนการปฏิบัติงานของอาเซียน
               4) ด้านการคลัง
               5) เฉพาะด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านยาเสพติด
               6) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจและอธิบดีอาเซียน เป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ และคณะกรรมการประจำอาเซียน จัดขึ้นเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนในแต่ละปี
     6.6 วิสัยทัศน์อาเซียนปี 2020 และแผนปฏิบัติงานของอาเซียน
ไทยผลักดัน การบรรจุแนวคิดที่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาเป็นสังคมที่เปิดกว้าง ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยอาเซียนได้จัดทำแผนปฏิบัติงานอาเซียนสำหรับวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541

 

คำสำคัญ
ฟูนัน
เจนละ
ศรีสัตนาคนหุต
พุกาม
มองโกล
จัมปา
นามเวียด
ไดเวียด
สิงหัสส่าหรี
มัชปาหิต
มะละกา
ยังดี เปอตวน อากง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อาเซียน

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th