บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พระพุทธ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 29.5K views




สาระการเรียนรู้

 


๑. ความสำคัญของพระพุทธศาสนา
     ๑.๑ พระพุทธศาสนามีทฤษฎีและวิธีการที่เป็นสากล
 


ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ


          หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาจากการค้นพบความจริงตามธรรมชาติของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาเผยแผ่แก่ชาวโลก โดยเหมาะสมกับบุคคลทุกระดับชั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันว่า มีทฤษฎีและวิธีการที่เป็นสากล ซึ่งหมายถึง มีหลักคำสอนต่าง ๆ สามารถพิสูจน์และเชื่อถือได้ ทฤษฎีและวิธีการอันเป็นสากลมีอยู่หลายเรื่อง เช่น หลักกฎแห่งกรรม หลักแห่งเหตุและปัจจัย หลัการพัฒนามนุษย์ ๔ ด้าน แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนมากเป็นพิเศษ คือ หลักอริยสัจ ๔ หรือหลักความจริงแห่งชีวิต ๔ ประการ ได้แก่
          ๑. ทุกข์ คือ ปัญหา อริยสัจข้อนี้เป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องเผชิญ


         ๒. สมุทัย คือ สาเหตุของปัญหา โดยปัญหาทุกอย่างล้วนมีสาเหตุ
         ๓. นิโรธ คือ ความหมดสิ้นปัญหา การที่จะแก้ปัญหาได้นั้นต้องหาสาเหตุให้พบ
 


          ๔. มรรค คือ กระบวนการแก้ปัญหา ในกระบวนการแก้ปัญหาจะต้องใช้ปัญญา (ความรู้) จากนั้นจึงใช้วิริยะ (ความเพียร) ในการแก้ปัญหานั้น

     ๑.๒ พระพุทธศาสนามีข้อปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง
         ทางสายกลาง หมายถึง ทางที่ยึดความพอดีหรือความสมดุล ข้อปฏิบัติที่ยึดทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีข้อปฏิบัติดังนี้
          ๑. สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นชอบ
          ๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ
          ๓. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
          ๔. สัมมากัมมันตะ คือ ทำงานชอบ
          ๕. สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ
          ๖. สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ
          ๗. สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ
          ๘. สัมมาสมาธิ คือ ตั้งจิตมั่นชอบ

     ๑.๓ พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง
          พระพุทธศาสนามีหลักศรัทธาที่แตกต่างจากศาสนาอื่น เนื่องจากมิได้มุ่งเน้นที่ความเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้ให้มีปัญญาหรือเหตุผลคอยกำกับด้วยเสมอ
 

 


          ตัวอย่างหลักธรรมที่มีศรัทธาและปัญญาประกอบกัน เช่น พละ ๕ (ธรรมอันเป็นกำลัง) หรือในอริยทรัพย์ ๗ (ทรัพย์ภายในอันประเสริฐ) เป็นต้น

          ศรัทธาในกระบวนการพัฒนาตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ความเชื่อมั่น ความซาบซึ้งด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนสามารถพิจารณาเห็นได้ ศรัทธาในพระพุทธศาสนามี ๔ ประการ คือ
          ๑. ความเชื่อมั่นในกฎการกระทำ
          ๒. ความเชื่อมั่นในผลของการกระทำ
          ๓. ความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและผลของการกระทำนั้น
          ๔. ความเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริง

          ปัญญา หมายถึง ความรู้หรือความรอบรู้ มีลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้
          ๑. ความฉลาดรอบรู้ในความเจริญและเหตุของความเจริญ
          ๒. ความฉลาดรอบรู้ในความเสื่อมและเหตุของความเสื่อม
          ๓. ความฉลาดรอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ

     ๑.๔ พระพุทธศาสนาเน้นการศึกษาที่สมบูรณ์
          การศึกษาตามหลักของพระพุทธศาสนาเน้นให้มนุษย์สร้างความดีก่อนแล้วจึงค่อยสร้างความเก่ง กล่าวคือ สอนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมก่อนแล้วจึงสอนให้เป็นคนเก่งมีสติปัญญาในภายหลัง โดยใช้ขั้นตอนของไตรสิกขา ดังนี้
 


          ๑. อธิสีลสิกขา หมายถึง การศึกษาในเรื่องศีลเพื่อพัฒนากายและวาจาให้เรียบร้อย ศีลแบ่งออกเป็นหลายระดับ ระดับที่ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขคือ ศีล ๕ เรียกรวมว่า เบญศีล และธรรม ๕ ประการ เรียกว่า เบญจธรรม
 


          ๒. อธิจิตตสิกขา หมายถึง การศึกษาในเรื่องจิตเพื่อปลูกฝังคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพ หรือพัฒนาจิตให้มีสมรรถภาพ หลักสำคัญในการพัฒนาจิต คือ การฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจ ซึ่งการฝึกสมาธินี้ต้องทำศีลของตนให้บริสุทธิ์ก่อน ขณะเดียวกันปัญญาจะเกิดก็ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานเช่นกัน
          ๓. อธิปัญญาสิกขา หมายถึง การศึกษาในเรื่องปัญญา เป็นการศึกษาขั้นสูงสุดที่มุ่งพัฒนาให้รู้เท่าทันธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ การพัฒนาปัญญามี ๓ กระบวนการ คือ
               ๑) การพัฒนาด้วยการอ่าน การฟัง และการเห็น
               ๒) การพัฒนาด้วยการคิด การพิจารณาไตร่ตรอง แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่
               ๓) การพัฒนาด้วยการลงมือปฏิบัติหรือลงมือกระทำ
 


          ในการพัฒนาปัญญาทั้ง ๓ กระบวนการต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐาน ๔ ประการ ได้แก่ ศรัทธา (ความเชื่อมั่น) วิริยะ (ความเพียร) สติ (การระลึกรู้) และสมาธิ (ความสงบ)


๒. พุทธประวัติ
     ๒.๑ สังคมชมพูทวีปสมัยก่อนพุทธกาล
     ชมพูทวีปเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา เดิมดินแดนแถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวก ดราวิเดียน ต่อมาเมื่อประมาณ ๘๐๐ ปีก่อนพุทธกาล พวกอารยันอพยพเข้ามาและขับไล่ให้ถอยร่นไปทางทิศใต้และทิศตะวันออกแถบลุ่มน้ำคงคา ส่วนพวกอารยันครอบครองพื้นที่บริเวณภาคเหนือของอินเดียในปัจจุบัน พวกอารยันและพวกดราวิเดียนได้อยู่ร่วมกันมาโดยลำดับจนเกิดการผสมผสานวิถีชีวิต ลัทธิความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์ลักษณะสังคมชมพูทวีปสมัยก่อนพุทธกาลจึงต้องพิจารณาในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
          ๑. ด้านการเมืองการปกครอง สมัยก่อนพุทธกาล ชาวชมพูทวีปมักจะปกครองโดยระบอบสามัคคีธรรม คือ พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และประชาชนมีสิทธิปกครองร่วมกัน กษัตริย์มีฐานะเป็นหัวหน้าผู้ปกครองชนกลุ่มน้อย ส่วนแคว้นแต่ละแคว้นเรียกว่า ชนบท แคว้นที่มีอาณาเขตกว้างขวางเรียกว่า มหาชนบท ชนบทเหล่านี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกลางเรียกว่า มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ ส่วนหัวเมืองชั้นนอกเรียกว่า ปัจจันตชนบท
               บรรดาแคว้นต่าง ๆ ในข้างต้น แคว้นที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่มีอยู่ ๕ แคว้น คือ
               ๑) แคว้นมคธ เมืองหลวงชื่อราชคฤห์ มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
               ๒) แคว้นโกศล เมืองหลวงชื่อสาวัตถี มีพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระเจ้ามหาโกศล ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
               ๓) แคว้นวังสะ เมืองหลวงชื่อโกสัมพี มีพระเจ้าอุเทนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้า
               ๔) แคว้นอวันตี เมืองหลวงชื่ออุชเชนี พระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
               ๕) แคว้นวัชชี เมืองหลวงชื่อเวสาลี มีการปกครองแบบสามัคคีธรรม
               สำหรับแคว้นเล็ก ๆ จะแยกปกครองตนเองต่างหาก แต่ก็ขึ้นกับเมืองใหญ่คล้ายกับเมืองประเทศราช เช่น แคว้นสักกะและแคว้นโกลิยะอยู่ภายใต้อำนาจของแคว้นโกศล

               สรุปได้ว่ารูปแบบการปกครองในสมัยก่อนและสมัยพุทธกาลมี ๒ ระบอบ คือ
               ๑) ราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนมากใช้ในแคว้นใหญ่ ๆ เช่น แคว้นมคธ แคว้นโกศล ในระบอบนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีอำนาจสูงสุดและมีรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์
               ๒) สามัคคีธรรม ส่วนมากใช้ในแคว้นเล็ก ๆ เช่น แคว้นสักกะ และแคว้นวัชชี การปกครองระบอบนี้จะมีกษัตริย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ การบริหารจะเป็นไปในแบบรัฐสภาในปัจจุบัน

          ๒. ด้านสังคม แต่เดิมชาวดราวิเดียนมีวัฒนธรรมที่มีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพวกอารยันเข้ามายึดครองจึงนำความเจริญดังกล่าวมาผสมผสานเพื่อประโยชน์ของตนและปรับใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองชนพื้นเมือง ดังเช่นความเชื่อเรื่องพรหมลิขิต ของชาวดราวิเดียน ที่พวกอารยันใช้อ้างว่าพระพรหมได้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ไว้ ๔ วรรณะ คือ
               ๑) วรรณะพราหมณ์ เช่น พราหมณ์หรือนักบวช ครู ซึ่งเชื่อกันว่าคนในวรรณะนี้เกิดจากพระโอษฐ์ (ปาก) ของพระพรหม
 


               ๒) วรรณะกษัตริย์ เช่น ผู้ปกครองบ้านเมืองหรือนักรบ ซึ่งเชื่อกันว่าคนในวรรณะนี้เกิดจากพระพาหา (แขน) ของพระพรหม
               ๓) วรรณะแพศย์ เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ สถาปนิก วิศวกร และแพทย์ ซึ่งเชื่อกันว่าคนในวรรณะแพศย์เกิดมาจากพระอูรุ (โคนขาหรือตะโพก) ของพระพรหม
               ๔) วรรณะศูทร เช่น กรรมกร ลูกจ้าง เป็นกลุ่มที่มีหน้าที่รับใช้คนในวรรณะอื่น เชื่อกันว่าคนกลุ่มนี้เกิดจากพระบาท (เท้า) ของพระพรหม
          ในระยะแรกการแบ่งชนชั้นยังไม่เคร่งครัดมากนัก แต่สมัยหลังในช่วงที่พราหมณ์มีอำนาจได้อ้างว่าการแบ่งวรรณะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า จึงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผู้ที่เกิดในวรรณะใดก็ต้องอยู่ในวรรณะนั้นตลอดไป ระบบวรรณะนี้ได้แพร่หลายไปทั่วชมพูทวีป ผู้ที่อยู่ในวรรณะสูงกว่าจะใช้อำนาจบังคับผู้ที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่า จวบจนสมัยพุทธกาล พระสิทธัตถะได้ทรงปฏิวัติความเชื่อดังกล่าวดังที่ทรงประกาศสัจธรรมแก่คนทุกวรรณะให้รับหลักความเชื่อใหม่เรื่อง หลักกรรมลิขิต โดยทรงสอนว่า ชีวิตของคนเราจะดีหรือชั่วนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรหมลิขิต หากขึ้นอยู่กับการกระทำของเรานั่นเอง พระองค์เปิดโอกาสให้คนทุกวรรณะเข้ามาอุปสมบท โดยต้องปฏิบัติตามพระวินัยเหมือนกันหมด ซึ่งผลปรากฏว่าทุกวรรณะที่เข้ามาสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้อย่างเท่าเทียมกัน

          ๓. ด้านศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ ลัทธิความเชื่อในสมัยก่อนพุทธกาลแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
 


               ๑) กลุ่มที่มีความเชื่อแบบดั้งเดิม แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ
                    (๑) กลุ่มที่นับถือธรรมชาติเบื้องต่ำ ได้แก่ พวกดราวิเดียนหรือมิลักขะที่มีการนับถือแผ่นดิน ภูเขา และไฟ เป็นต้น
                    (๒) กลุ่มที่นับถือธรรมชาติเบื้องบน ได้แก่ พวกอารยันบางกลุ่ม ที่มีการนับถือพระอาทิตย์ พระจันทร์ ฟ้า ฝน ลม เฉพาะพระอาทิตย์มีการนับถือกันอยู่ ๓ ประเภท คือ พระอาทิตย์ วิชชุ (สายฟ้า) และอัคนี (ไฟที่ใช้หุงต้ม)
                    ต่อมาความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติเบื้องบนและเบื้องต่ำได้เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิต มีตำนานความเป็นมาเรียกว่า เทวกำเนิด
                    (๓) กลุ่มที่นับถือภูตผีปีศาจ โดยเฉพาะวิญญาณบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเชื่อว่าดวงวิญญาณสามารถดลบันดาลทุกข์สุขให้แก่ตนได้ จึงมีการเซ่นสรวงเพื่อให้ดวงวิญญาณพอใจ
                    (๔) กลุ่มที่นับถือเทพเจ้า ความเชื่อนี้มีวิวัฒนาการมาจากความเชื่อในสามข้อข้างต้น โดยแบ่งเทพเจ้าออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ เทพเจ้าผู้สถิตที่ภาคพื้นดิน เทพเจ้าผู้สถิตบนอากาศ และเทพเจ้าผู้สถิต ณ สรวงสวรรค์
               ๒) กลุ่มที่ยอมรับนับถือคัมภีร์พระเวท ได้แก่ พวกพราหมณ์ ถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุด มีความเชื่อคล้ายกับกลุ่มที่นับถือเทพเจ้า แต่ได้พัฒนาความคิดให้ซับซ้อนมากขึ้น โดยพรรณนาอำนาจของเทพเจ้าไว้ในคัมภีร์พระเวท หรือไตรเพท
               กลุ่มที่นับถือคัมภีร์พระเวทนี้จัดเป็นพวกพหุเทวนิยม แต่ในบรรดาเทพเจ้าเหล่านั้นมีเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่อยู่ ๓ องค์ คือ พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ
 

 


               ชาวชมพูทวีปเคารพนับถือเทพเจ้าทั้ง ๓ องค์นี้เป็นอย่างยิ่ง มีการสวดอ้อนวอนบูชายัญด้วยสัตว์ บางครั้งก็ด้วยชีวิตคน
               ๓) กลุ่มที่ไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวท เป็นกลุ่มที่มีความคิดความเชื่อเรื่องโลกและชีวิตต่างจากพวกพราหมณ์ มี ๖ ลัทธิ ได้แก่
                    (๑) อกิริยทิฏฐิ ลัทธิที่มีความเห็นว่าไม่มีกรรม การกระทำต่าง ๆ ไม่มีผลบุญหรือบาป
                    (๒) อเหตุกทิฏฐิ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังสารสุทธิกวาท เป็นลัทธิที่เห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนไม่มีเหตุปัจจัยใด ๆ
                    (๓) นัตถิกทิฏฐิ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุจเฉททิฏฐิ เป็นลัทธิที่มีความเห็นว่าไม่มีโลกหน้า ร่างกายของคนหรือสัตว์ทั้งหลายเป็นเพียงธาตุ ดังนั้นจึงตายแล้วจึงสูญ
                    (๔) สัสสตทิฏฐิ เป็นลัทธิที่มีความเห็นว่าสภาวะ ๗ อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวะ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองและมีความยั่งยืน บาปกรรมจากการฆ่าจึงไม่มี
                    (๕) อมราวิกเขปิกทิฏฐิ เป็นลัทธิที่มีความเห็นไม่แน่นอน คัดค้านหรือปฏิเสธทุกอย่าง เช่น โลกนี้ก็ไม่ใช่ โลกหน้าก็ไม่ใช่
                    (๖) อัตตกิลมถานุโยคและอเนกานตวาท ถือว่าการทรมานกายคือทางสู่การหลุดพ้น ลัทธินี้ยังมีคำสอนแบบอเนกานตวาท คือ เห็นว่าความจริงมีหลายแง่ เช่น เหตุการณ์หนึ่งมีพิจารณาในแง่หนึ่งอาจถูกแต่ในอีกแง่หนึ่งอาจผิด ลัทธินี้เป็นเพียงลัทธิเดียวที่ยังสืบต่อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งรู้จักกันในนาม ศาสนาเชนของศาสดามหาวีระ
          พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่อต้านลัทธิความเชื่อที่มีอยู่ในสมัยนั้นตลอดพระชนม์ชีพ โดยทรงเน้นให้พึ่งตนเอง ละเว้นความชั่ว ทำความดี ช่วยเหลือชีวิตแทนการบูชายัญ อีกทั้งยังทรงแสดงให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ สิ่งที่เกิดแต่เหตุก็ย่อมดับไป สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นปฏิจจสมุปบาทซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ส่วนในด้านจริยธรรม ทรงสอนให้มนุษย์เว้นจากการเบียดเบียน ให้ช่วยเหลือและบำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน


     ๒.๒ พุทธประวัติ
     เจ้าชายสิทธัตถะทรงเกิดในวรรณะกษัตริย์ พระราชบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชมารดา คือ พระนางสิริมหามายา เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นองค์รัชทายาทที่จะต้องสืบราชสมบัติ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงยึดติดกับสถานภาพดังกล่าว ทรงสละราชสมบัติและออกผนวชเพื่อหาความเชื่อใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมอันได้แก่ การกดขี่ของระบบวรรณะ
     ๑. การตรัสรู้ หลังจากเสด็จออกผนวช ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา พระสิทธัตถะได้มุ่งสู่แคว้นมคธ ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารผู้ปกครองแคว้นทรงทราบดังนั้นก็เสด็จออกมาต้อนรับและทรงเชื้อเชิญให้ครองเมืองร่วมกัน แต่พระสิทธัตถะทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าต้องการเป็นนักบวชเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงอนุโมทนาและขอให้พระเจ้าเสด็จกลับมาโปรดด้วย จากนั้นพระสิทธัตถะได้เสด็จไปยัง สำนักอาฬารดาบสและสำนักอุททกดาบส เพื่อศึกษาค้นคว้าจนสำเร็จฌานขั้นสูงสุด แต่ก็ยังทรงเห็นว่าจิตใจยังมีรัก โกรธ หลง จึงอำลาอาจารย์แล้วเสด็จสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ณ สถานที่นั้นมีนักบวชจำนวนมากนิยมกระทำ ทุกกรกิริยา คือ การทรมานตนให้ลำบากอย่างยิ่งยวด หากใครทำได้จะได้รับการยกย่องเป็นศาสดาหรือพระอรหันต์ พระสิทธัตถะทรงทดลองตามวิธีดังกล่าวแต่สุดท้ายก็ทรงเห็นว่าการทรมานตนไม่ใช่หนทางแห่งการดับทุกข์
     พระสิทธัตถะทรงเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ ทรงใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งจากธรรมชาติ โดยตระหนักว่าปัญหาชีวิตต้องดำเนินทางสายกลาง จึงเลิกทรมานพระองค์เอง ฝ่ายปัญจวัคคีย์ผู้ตามเสด็จพระสิทธัตถะเห็นดังนั้นก็หมดความเชื่อถือ ทั้งหมดชวนกันแยกไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะพระสิทธัตถะทรงอยู่ตามลำพังก็ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตตามหลักฌานหรือสมาธิตามที่มีพื้นฐานมาจากสำนักอาจารย์ทั้งสอง เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ ๖ แห่งการเสด็จออกผนวช ในเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตอนเย็นเสด็จไปยังต้นมหาโพธิ แล้วประทับนั่งขัดสมาธิหันพระพักตร์ไปยังทิศตะวันออก ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่สำเร็จทางพ้นทุกข์จะไม่ลุกขึ้นไปที่ใด จากนั้นก็ทรงทำสมาธิ ทรงสำเร็จญาณขั้นต่าง ๆ และเห็นแจ้งธรรม ๔ หมวดที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค หลังจากตรัสรู้แล้วทรงเรียกพระองค์เองว่า พุทธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้ หรือ สัมมาสัมพุทธะ แปลว่าผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ

     ๒. การประกาศและก่อตั้งพระพุทธศาสนา หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าได้เสด็จแปรพระราชฐานสำหรับทรงพักผ่อนเรียกว่า เสวยวิมุติสุข ณ สถานที่ ๗ แห่งซึ่งใกล้กับสถานที่ตรัสรู้ แห่งละ ๗ วัน สถานที่ทั้ง ๗ แห่งนั้นเรียกว่า สัตตมหาสถาน ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาประทับอยู่ที่โคนต้นนิโครธก็ทรงนึกถึงผู้ที่จะฟังธรรมจากการตรัสรู้ และบุคคลกลุ่มแรกที่ทรงนึกถึงคือ อาฬารดาบสและอุททกดาบส แต่ทว่าอาจารย์ทั้งสองได้เสียชีวิตลงก่อนแล้ว
     กลุ่มต่อมาที่ทรงนึกถึงคือ ปัญจวัคคีย์ ผู้เคยอุปัฏฐากพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ ซึ่งนับเป็นการแสดงธรรมครั้งแรก หรือ ปฐมเทศนา หลังจากฟังธรรมจบ โกณฑัญญะได้เกิดดวงตาเห็นธรรม จึงกราบทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระภิกษุรูปแรกของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ที่เหลือ จนเกิดบุคคลเหล่านั้นเกิดความรู้ความเข้าใจและขอบวชเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมชื่อ อนัตตลักขณสูตร อบรมพระปัญจวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
 

 


     จากการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาและมีผู้ขอบวช ทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงกำหนดให้วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีการประกอบพิธีบูชาเรียกว่า อาสาฬหบูชา

     ๓. การส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชาวเมืองพาราณสีจนสำเร็จอรหันต์และขอบวชเป็นพระภิกษุอีก ๕๕ องค์ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกาศตนเป็นอุบาสกและอุบาสิกาคนแรกของพระพุทธศาสนา คือ บิดา มารดา และอดีตภรรยาของยสกุลบุตร เมื่อออกพรรษา พระพุทธเจ้าทรงประชุมสาวกพร้อมมอบหลักการและนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยมีใจความสำคัญว่าให้พระสาวกแยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ชาวโลก โดยให้แยกย้ายกันไปแห่งละ ๑ องค์ ส่วนพระพุทธองค์จะเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
 


     ระหว่างทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมทรงแสดงธรรมแก่ภัททวัคคีย์ ๓๐ คน จนทั้งหมดสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้นพระองค์จึงจะเสด็จไปโปรดชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวาร จนบุคคลเหล่านั้นหันมานับถือพระพุทธศาสนาได้ ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมือง ส่งผลให้ทั้งหมดเกิดความเลื่อมใส และพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงบรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน และพระองค์ยังทรงมอบอุทยานสวนป่าไผ่ (เวฬุวัน) ให้เป็นอารามที่ประทับของพระพุทธเจ้าและเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ วัดเวฬุวันจึงถือว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

     ๔. การประชุมใหญ่พระสาวก พระสงฆ์ที่ออกไปประกาศศาสนา ณ ที่ต่าง ๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวันในเวลาต่อมา พระพุทธเจ้าจึงทรงจัดให้มีการประชุมพระสาวกขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ พร้อมแสดงธรรมที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีลักษณะเด่น ๔ ประการ คือ
          ๑) วันที่ประชุมตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
          ๒) มีพระสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
          ๓) พระสาวกทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์
          ๔) พระสาวกทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา
     หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปโปรดพระราชบิดาและพระประยุรญาติที่แคว้นสักกะจนทั้งหมดเกิดความเลื่อมใสและบรรลุธรรม ดังที่มีพระประยุรญาติจำนวนมากออกผนวชเป็นภิกษุและภิกษุณี

     หลังจากพระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาออกไปไม่นาน พระพุทธศาสนาก็เริ่มเป็นปึกแผ่น และมีบุคคลผู้เป็นกำลังของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธบริษัท ประกอบด้วย
          ๑) ภิกษุบริษัท คือ ผู้ชายบวชเป็นภิกษุ
          ๒) ภิกษุณีบริษัท คือ ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี
          ๓) อุบาสกบริษัท คือ ผู้ชายชาวบ้าน
          ๔) อุบาสิกาบริษัท คือ ผู้หญิงชาวบ้าน

     เมื่อพระพุทธศาสนามีความมั่นคง พระพุทธเจ้าทรงมอบอธิปไตยคือความเป็นใหญ่แก่พระสงฆ์ในการทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น
          ๑) ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
          ๒) ช่วยกันรับภาระเป็นพระอุปัชฌาจารย์ทำหน้าที่บวชบุคคลที่ประสงค์จะบวช
          ๓) ช่วยปกครองดูแลคณะสงฆ์ตามลำดับชั้นและหน้าที่

     พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี จากนั้นเสด็จปรินิพพานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๑ ปี ที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ รวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา


๓. ชาดก
     ชาดก คือ เรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติก่อนที่พระองค์จะมาประสูติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

     เวสสันดรชาดก
     เวสสันดรชาดกมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หมวดขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เหตุของการแสดงชาดกเรื่องนี้คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระสาวกเพื่อแสดงธรรมโปรดพระประยุรญาติ ในพิธีถวายการต้อนรับนั้น พระประยุรญาติชั้นผู้ใหญ่ที่เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับพระโอรสและพระธิดาของตนจึงก็ไม่ถวายความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระบารมี เข้าสู่ฌานแล้วลอยขึ้นเหนือพระประยุรญาติ พระเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างรอบพระองค์ พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายความเคารพ และตรัสสรรเสริญ เมื่อพระประยุรญาติเห็นดังนั้น ทุกพระองค์จึงถวายความเคารพ ขณะนั้นก็บังเกิดฝน โบกขรพรรษซึ่งมีน้ำฝนสีแดงใสบริสุทธิ์ตกลงมา หากผู้ใดไม่ต้องการให้น้ำฝนสีแดงถูกต้องกายก็จะเป็นไปตามปรารถนา พระประยุรญาติต่างตรัสว่าเป็นด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า จากนั้นจึงกราบลาพระพุทธเจ้ากลับเข้าพระราชวัง ฝ่ายพระสงฆ์ได้ประชุมสนทนาถึงความอัศจรรย์ดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงเสด็จไปยังที่ประชุม แล้วตรัสว่า ฝนโบกขรพรรษนี้ได้เคยมีมาแล้วในอดีต จากนั้นจึงตรัสเล่าเรื่องพระเวสสันดร ความว่า
     ในอดีตกาล พระเจ้าสีวีราช ผู้ครองเมืองเชตุดรแห่งแคว้นสีพี มีพระราชโอรสพระนามว่า สญชัย เมื่อพระราชโอรสทรงเจริญวัย พระเจ้าสีวีราชทรงให้อภิเษกกับพระราชกัญญาพระนามว่า ผุสดี พระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช และทรงมอบราชสมบัติให้ทั้งสองสืบแทน หลังจากอภิเษกสมรสไม่นาน พระเจ้าสญชัยกับพระนางผุสดีก็ได้มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง คือ พระเวสสันดร
 


     ในวันที่พระเวสสันดรประสูติ มีช้างพังเชือกหนึ่งนำลูกช้างมงคลเชือกหนึ่งมาไว้ในโรงช้างต้น ชาวเมืองตั้งชื่อให้ว่า ปัจจัยนาเคนทร์
     เมื่อพระเวสสันดรทรงศึกษาศิลปะต่าง ๆ สำเร็จเมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาจึงทรงให้อภิเษกสมรสกับพระนางมัทรี ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรสธิดา ๒ พระองค์ คือ ชาลีและกัณหา กิตติศัพท์ของพระองค์ในเรื่องที่ทรงบริจาคทานเป็นประจำได้เป็นที่กล่าวขานไปยังเมืองต่าง ๆ ครั้งหนึ่ง เมืองกาลิงครัฐประสบปัญหาฝนแล้ง มีผู้แนะนำพระราชาของเมืองนั้นให้ไปทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดรมาไว้ในเมืองกาลิงรัฐ เพื่อฝนจะได้ตก พระราชาจึงตรัสสั่งพราหมณ์ทั้ง ๘ คนให้ไปทูลขอช้างขณะที่พระเวสสันดรประทับอยู่บนคอช้างนั้น พระเวสสันดรจึงเสด็จลงจากคอช้างและมอบช้างนั้นให้พราหมณ์ ฝ่ายชาวเมืองเชตุดรต่างพากันไม่พอใจ จึงกล่าวโทษพระเวสสันดรต่อพระเจ้าสญชัย ให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง พระเจ้าสญชัยทรงจำต้องทำตาม ส่วนพระเวสสันดรทรงทราบความดังนั้นก็ทรงขอเวลา ๒ วันเพื่อบริจาคทานก่อนจะเสด็จออกจากพระนคร พระองค์จึงให้เสนาอำมาตย์มาเฝ้าแล้วตรัสให้เตรียมสัตตสดกมหาทานให้เรียบร้อยในวันรุ่งขึ้น เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยพระองค์จึงเสด็จอำลาพระนางมัทรี แต่พระนางมัทรีขอตามเสด็จไปด้วย ฝ่ายพระนางผุสดีทรงทราบข่าวว่าพระราชโอรสถูกเนรเทศจึงทูลขอพระเจ้าสญชัยแต่ก็ไม่เป็นผล
 

 


     รุ่งเช้า พระเวสสันดรเสด็จมายังโรงทาน ทรงบริจาคสัตตสดกมหาทานอยู่จนถึงเวลาเย็น จากนั้นจึงถวายบังคมลาพระราชบิดาและพระราชมารดา พระเจ้าสญชัยและพระนางผุสดีทรงขอให้พระนางมัทรีและพระราชโอรส พระราชธิดาอยู่ในพระนคร แต่พระนางมัทรีไม่ทรงยินยอม ครั้นรุ่งสาง พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรีและพระราชโอรส พระราชธิดา ก็ทรงอำลาข้าราชบริพารและประชาชนแล้วเสด็จไปยังเขาวงกต ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขอม้าและรถพระที่นั่ง พระองค์ก็พระราชทานสิ่งเหล่านั้นแก่พราหมณ์ แล้วก็เสด็จดำเนินไปสู่เขาวงกต พอตกเย็นก็เข้าเขตเมืองเจตรัฐ พระยาเจตราชเสด็จมาทูลถามความ และทูลเชิญให้ประทับอยู่ที่เมืองเจตราช พร้อมทรงอาสาไปทูลขออภัยต่อพระเจ้าสญชัย แต่พระเวสสันดรไม่ทรงยินยอม พอรุ่งเช้าก็เสด็จพระราชดำเนินไปสู่เขาวงกต ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จเข้าประทับในอาศรมใกล้สระโบกขรณี ซึ่งท้าวสักกเทวราช ทรงบัญชาให้พระวิสสุกรรมสร้างไว้โดยเฉพาะ ทั้ง ๔ พระองค์ทรงอธิษฐานบวชเป็นดาบส ดาบสินี และดาบสน้อยบำเพ็ญเมตตาธรรมอยู่ในป่านั้น
 


     ณ แคว้นกลิงครัฐ มีพราหมณ์เฒ่าชื่อ ชูชก อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านทุนนวิฏฐ์ มีภรรยาสาวสวยชื่อ อมิตตดา ผู้ปรนนิบัติสามีเป็นอย่างดี ทำให้พวกพราหมณีบ้านใกล้เคียงถูกสามีทุบตีเนื่องจากประพฤติตนได้ไม่ดีอย่างนางอมิตตดา พวกนางต่างกันโกรธแค้นจึงพากันมาต่อว่านางอมิตตดาที่ท่าน้ำ นางอมิตตดากลัวจึงไปบอกพราหมณ์ชูชกว่า นางจะไม่กลับไปที่ท่าน้ำอีก พร้อมทั้งขอให้ไปขอพระชาลีและกัณหาจากพระเวสสันดรมาเป็นทาสช่วยตนทำงาน ชูชกยอมทำตามที่นางขอ เมื่อชูชกเดินทางไปถึงเมืองเชตุดรเพื่อถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร แต่ก็ถูกชาวเมืองขับไล่ ชูชกจึงหลบหนีไปทางเขาวงกต จนพบกับพรานเจตบุตร ชูชกก็อ้างว่าตนเป็นราชทูตของพระเจ้าสญชัยมาเพื่อทูลเชิญพระเวสสันดรกลับเมือง พรานเจตบุตรจึงบอกทางให้ ชูชกเดินไปตามทางนั้น จนได้พบพระอัจจุตฤษีและได้หลอกถามทางโดยอ้างเหตุผลเดียวกับที่บอกพรานเจตบุตร ในที่สุดชูชกก็ไปถึงอาศรมของพระเวสสันดรในเวลาจวนค่ำ
 


นางอมิตตดาภรรยาสาวสวยของชูชก


     ในคืนนั้นเอง พระนางมัทรีมีลางร้ายบอกเหตุก่อนบรรทมและบรรทมฝันว่า ชายรูปร่างใหญ่คนหนึ่งถือดาบเดินเข้ามา แล้วใช้ดาบฟันพระพาหาทั้งสองข้างของพระนางขาด จากนั้นควักเอาดวงพระเนตรทั้งสองไป เมื่อตื่นบรรทมจึงเสด็จไปอาศรมพระเวสสันดรแล้วทรงเล่าพระสุบินนั้นให้ฟัง พระเวสสันดรทรงสดับพระสุบินก็ทรงทราบว่า พรุ่งนี้จะมีคนมาขอสองพระกุมาร แต่หากบอกความจริง พระนางมัทรรีต้องไม่ยินยอม จึงตรัสปลอบแล้วให้พระนางกลับอาศรม
     รุ่งเช้าพระนางมัทรีทรงฝากพระโอรสธิดาให้พระเวสสันดรทรงช่วยดูแล แล้วพระนางก็เสด็จเข้าป่าเพื่อหาผลไม้ ชูชกเห็นโอกาสเหมาะดังนั้นก็เข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรพร้อมทูลขอพระกุมารทั้งสอง พระเวสสันดรทรงมอบพระกุมารแต่ตรัสว่าให้ชูชกนำพระโอรสธิดาไปมอบให้พระเจ้าสญชัย พระเจ้าสญชัยก็จะพระราชทานทรัพย์แก่ชูชก แต่ชูชกไม่ยินยอม เมื่อได้ตัวกุมารทั้งสองแล้วจึงใช้เถาวัลย์ผูกพระหัตถ์ของกุมารทั้งสองพร้อมเฆี่ยนตีไปในระหว่างทาง
 


     ขณะที่พระนางมัทรีที่กำลังหาผลไม้อยู่นั้นก็เกิดลางร้ายขึ้นจึงรีบเสด็จกลับอาศรม แต่เทพยดาแปลงมาเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองขวางทางพระนางไว้ จนกระทั่งเย็นสัตว์ทั้งสามจึงหลีกทางให้ เมื่อพระนางเสด็จกลับมาถึงไม่เห็นพระโอรสธิดาก็ออกตามหาจนกระทั่งสลบไป พระเวสสันดรทรงช่วยแก้ไขจนพระนางฟื้นคืนสติแล้วจึงตรัสบอกความจริง พร้อมขอให้พระนางอนุโมทนาในปิยปุตตทานนี้ พระนางมัทรีที่คลายความเศร้าแล้วจึงอนุโมทนายินดีตาม
 


     ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า พระเวสสันดรทรงสละพระโอรสธิดาเป็นทานได้ ถ้าหากมีผู้มาขอพระนางมัทรีก็คงจะสละพระนางเป็นทานด้วย พระเวสสันดรก็จะทรงลำบาก จึงเนรมิตกายเป็นพราหมณ์ชราเข้าไปทูลขอพระนางมัทรี แล้วถวายคืนให้พระเวสสันดร พร้อมขอคำปฏิญาณไม่ให้พระเวสสันดรสละนางแก่ผู้ใดอีก พระเวสสันดรทรงรับคำ พราหมณ์ชราจึงคืนร่างกลับเป็นท้าวสักกเทวราช พระเวสสันดรจึงทรงขอพร ๘ ประการ ดังนี้
     ๑. ขอให้พระบิดาเชิญพระองค์เสด็จกลับพระราชนิเวศน์และให้ครองราชสมบัติดังเดิม
     ๒. เมื่อกลับถึงเมืองเชตุดร ขอให้มีอำนาจงดโทษแก่ผู้ทำผิดร้ายแรงอันเป็นโทษประหารได้
     ๓. ขอให้ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของปวงชนทั้งที่เป็นคนแก่ คนหนุ่ม และคนกลางคน
     ๔. ขอให้ข้าพระองค์มีความสันโดษ รัก ชื่นชมยินดีเฉพาะพระเทวีพระองค์เดียว ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
     ๕. ขอให้พระโอรสของข้าพระองค์ที่พลัดพรากจงมีพระชนมายุยืนและได้ครองแผ่นดินโดยธรรม
     ๖. เมื่อถึงเมืองเชตุดรขอให้มีฝนแก้วทิพย์ ๗ ประการตกลงมาจากฟ้าเป็นทานบารมีแจกยาจกมิให้ขาดแคลน
     ๗. ขอให้ทรัพย์ที่ข้าพระองค์บริจาคอย่าได้มีวันหมดสิ้น บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนภายหลัง
    ๘. เมื่อข้าพระองค์สิ้นพระชนม์พึงไปอุบัติในดุสิตสวรรค์ จุติจากภพนั้นมาเป็นมนุษย์พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก

     ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า พระบิดาของพระองค์จักเสด็จมาพบพระองค์ในไม่ช้านี้ พระราชทานพรแด่พระเวสสันดรแล้วก็เสด็จกลับดาวดึงส์
     ในคืนนั้น พระเจ้าสญชัยทรงพระสุบินว่า มีชายผิวดำนำดอกบัวทอง ๒ ดอกมาวางไว้ในพระหัตถ์ ทรงรับดอกบัวทองนั้นมาแล้วทรงประดับไว้ที่พระกรรณ ละอองเกสรดอกบัวทองได้ร่วงลงบนพระอุระ ครั้นรุ่งเช้า โหรหลวงก็ทำนายพระสุบินว่า พระประยุรญาติของพระองค์ที่ทรงพลัดพรากจากกันไปนานจักเสด็จกลับมา พระราชาทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อออกสู่ท้องพระโรงก็ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์กับพระกุมารยืนอยู่ที่พระลานหลวง เมื่อทรงตรัสถามจึงได้ความว่าเป็นพระชาลีและพระกัณหาจึงขอไถ่ตัวด้วยทรัพย์จำนวนมาก พร้อมข้าทาสบริวารและอาหารอย่างดี ชูชกรับประทานอาหารมากเกินไปทำให้ย่อยไม่ทันและเสียชีวิต
     ในวันที่ ๗ นับแต่พบพระกุมารทั้งสอง พระเจ้าสญชัยตรัสสั่งเสนาอำมาตย์ ข้าราชบริพารจัดเตรียมทัพ เสด็จไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับมาครองราชสมบัติ เมื่อทั้งหมดได้พบกันก็เกิดฝนโบกขรพรรษ พระเวสสันดรเสด็จกลับมาครองราชสมบัติ ทรงบำเพ็ญทานบารมีต่อมาจนกระทั่งมีพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต แล้วเสด็จขึ้นไปเสวยทิพสมบัติ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ครั้นจุติจากชั้นดุสิตก็มาอุบัติในโลกมนุษย์เป็นพระพุทธเจ้าอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระองค์


บทสรุป
     พระพุทธศาสนามีความสำคัญหลายประการ ได้แก่ มีทฤษฎีและวิธีการที่เป็นสากล มีข้อปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง เน้นการพัฒนาศรัทธาและปัญญาอย่างถูกต้อง และเน้นการศึกษาที่สมบูรณ์

     พุทธประวัติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า การศึกษาและวิเคราะห์พุทธประวัติในสังคมชมพูทวีปสมัยก่อนพุทธกาล ทำให้เราทราบว่าดินแดนที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบันมีการนับถือศาสนาพราหมณ์และเชื่อเรื่องพรหมลิขิต ทำให้สังคมในชมพูทวีปมี ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร ซึ่งมีการดำรงชีวิตแตกต่างกัน ส่วนในเรื่อง การตรัสรู้ การประกาศและก่อตั้งพระพุทธศาสนา การส่งพระสาวกออกไปประกาศศาสนา และการประชุมใหญ่พระสาวก ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องแนวทางในการแสวงหาความรู้และแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

     ชาดกเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ การศึกษาเวสสันดรชาดกทำให้ได้ความรู้และได้ข้อคิดเกี่ยวกับ การให้ทาน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th