บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 213.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา

 

1. การก่อตั้งและปัจจัยที่ส่งเสริมความเจริญของอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรอยุธยาเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างแคว้นสุพรรณภูมิ กับแคว้นละโว้ – อโยธยา พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาขึ้นเป็นราชธานี แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์
ปัจจัยที่ส่งเสริมความเจริญของอาณาจักรอยุธยา
1. มีแม่น้ำ 3 สายจึงมีลักษณะเป็นเกาะ ทำให้ข้าศึกเข้าตียาก

 

กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบ

 

2. เป็นที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์
3. ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอ่าวไทย และมีรายได้จากการค้ากับต่างประเทศ และได้ภาษีอากรของค่าผ่านทางในการส่งสินค้า จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง
4. ได้กำลังทหารจากแคว้นสุพรรณภูมิ อีกทั้งยังได้รับวัฒนธรรมจากแคว้นละโว้ ทำให้มีความมั่นคงและได้รับการยอมรับจากรัฐอื่น ๆ
5. มีการปกครองอย่างเป็นระเบียงแบบแผน

 

2. พระมหากษัตริย์อยุธยา
     1. ราชวงศ์อู่ทอง
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (หรือพระเจ้าอู่ทอง เป็นต้นราชวงศ์) สมเด็จพระราเมศวร (ทรงครองราชย์ 2 ครั้ง โดยหลังจากครองราชย์ในครั้งแรก มีราชวงศ์สุพรรณภูมิมาคั่น 2 องค์ ) สมเด็จพระรามราชาธิราช
     2. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (หรือขุนหลวงพ่องั่ว เป็นต้นราชวงศ์) สมเด็จพระเจ้าทองลัน (จากนั้นสมเด็จพระราเมศวรแห่งราชวงศ์อู่ทอง กลับมาครองราชย์เป็นครั้งที่ 2) สมเด็จพระอินทราชา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ( เจ้าสามพระยา) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระรัษฎาธิราช สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระยอดฟ้า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระมหินทราธิราช
     3. ราชวงศ์สุโขทัย
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ต้นราชวงศ์) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเชษฐาธิราช และพระอาทิตยวงศ์
     4. ราชวงศ์ปราสาททอง
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ต้นราชวงศ์) สมเด็จเจ้าฟ้าไชย สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
     5. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) และสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)

 

3. การปกครองสมัยอยุธยา
ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
     3.1 อยุธยาตอนต้น
     1. การปกครองส่วนกลาง เป็นแบบจตุสดมภ์ ได้แก่
     – กรมเวียง มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของราษฎร
     – กรมวัง มีหน้าที่ดูแลพระราชวัง, จัดงานพระราชพิธี และพิจารณาคดี
     – กรมคลัง มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงินและการต่างประเทศ
     – กรมนา มีหน้าที่ดูแลนาไร่ และเตรียมเสบียงไว้ในยามสงคราม
     2. การปกครองหัวเมือง
     – เมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน ผู้ปกครองคือพระราชวงศ์หรือเจ้านายชั้นสูง
     – หัวเมืองชั้นใน ผู้ปกครองเป็นผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเดิม
     – หัวเมืองชั้นนอก แต่งตั้งผู้ปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองชั้นใน
     – ประเทศราช ผู้ปกครองคือคนท้องถิ่น
     3.2 อยุธยาตอนกลาง
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ ปรับปรุงการปกครอง โดยรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แยกกิจการทางทหารกับพลเรือนออกจากกัน
     1. การปกครองส่วนกลาง
          1.)กรมกลาโหม หัวหน้าคือ สมุหพระกลาโหม ดูแลฝ่ายทหารทั้งหมด
          2) กรมมหาดไทย หัวหน้าคือ สมุหนายก ดูแลฝ่ายพลเรือน และควบคุมจตุสดมภ์
     2. การปกครองหัวเมือง ยกเลิกเมืองหน้าด่าน แบ่งเขตการปกครอง ดังนี้
          1) หัวเมืองชั้นใน (เมืองจัตวา) ผู้ปกครอง เป็นขุนนาง
          2) หัวเมืองชั้นนอก ซึ่งแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก
          3) ประเทศราช
     3.3 อยุธยาตอนปลาย
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชาจนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีการจัดรูปแบบการปกครองโดยแยกอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองออกเป็น 3 ฝ่าย และยกเลิกการแยกความรับผิดชอบระหว่างงานด้านพลเรือนและทหาร ดังนี้
          1) สมุหนายก ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งด้านทหารและพลเรือน
          2) สมุหพระกลาโหม ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ ตั้งแต่เพชรบุรีลงไปทั้งด้านทหารและพลเรือน
          3) โกษาธิบดี (พระคลัง) ดูแลหัวเมืองชายทะเลและหัวเมืองตะวันออก

 

4. เศรษฐกิจสมัยอยุธยา
งานที่มีผลต่อเศรษฐกิจสมัยอยุธยา ได้แก่ การเกษตร หัตถกรรมและการค้า
รายได้ของอาณาจักร ได้แก่ – จังกอบ – อากร – ฤชา – ส่วยแรงงาน – รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ – รายได้จากประเทศราช
รายจ่ายของอาณาจักร ได้แก่ – การจ่ายเบี้ยหวัดและสิ่งของแก่เจ้านายและขุนนาง – รายจ่ายด้านทหารเพื่อการป้องกันอาณาจักร – รายจ่ายเพื่อบำรุงพระศาสนา – รายจ่ายในพระราชพิธีต่าง ๆ ตลอดทั้งปี – รายจ่ายด้านการสงเคราะห์ผู้ยากไร้และคนพิการ และรายจ่ายอื่น ๆ

 

5. การสิ้นสุดสมัยอยุธยา
การเสียเอกราชแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ทำให้อยุธยาหมดอำนาจและสิ้นสุดลง
ปัจจัยสำคัญคือการแย่งชิงอำนาจในบรรดาเจ้านายและขุนนาง การที่อาณาจักรพม่าเข้ามารุกรานอย่างต่อเนื่องทำให้อยุธยาอ่อนแอลง

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th