บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 80K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

พัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย

 

1. การสถาปนาราชวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัย
แต่เดิมเมืองสุโขทัยมีพ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นกษัตริย์ปกครอง ใน พ.ศ. 1792 พระองค์เสด็จสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพงซึ่งเป็นเขมรได้เข้ายึดเมืองสุโขทัย พระโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุม คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพระสหาย คือ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ได้ช่วยกันขับไล่เขมร หลังจากนั้น พ่อขุนผาเมืองจึงได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย มีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ถือเป็นต้นราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย

 

ศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

 

2. พระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัย
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยและช่วงเวลาในการครองราชย์

 

พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยและช่วงเวลาในการครองราชย์

 

สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นช่วงที่เจริญที่สุด มีการขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง แต่หลังจากนั้นสุโขทัยก็เสื่อมอำนาจลง และกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)

 

อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

3. การปกครองสมัยสุโขทัย
แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ
1) การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น ปกครองแบบพ่อปกครองลูก กษัตริย์มีความใกล้ชิดกับราษฎร
2) การปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย ปกครองแบบธรรมราชา คือ การที่พระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนา
     การปกครองราชธานี เมืองลูกหลวง และเมืองหน้าด่าน
     1) ราชธานีหรือเมืองหลวง พระมหากษัตริย์ทรงปกครองเอง ราชธานีของสุโขทัยมี 2 แห่ง ได้แก่ เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก
     2) เมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน เมืองลูกหลวง ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) และเมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก) เมืองหน้าด่าน ได้แก่ เมืองนครชุม (อยู่ในกำแพงเพชร) พระมหากษัตริย์จะส่งพระราชโอรสหรือเจ้านายที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงไปปกครองเมืองเหล่านี้
4. เศรษฐกิจสมัยสุโขทัย
มีลักษณะแบบพอยังชีพ อาชีพของชาวสุโขทัย ได้แก่
– การเกษตร พืชหลักที่เพาะปลูก ได้แก่ ข้าว มะม่วง มะพร้าว ขนุน และพลู พื้นที่ทางการเกษตรมีเนื้อที่จำกัดจึงต้องใช้ระบบชลประทานเข้าช่วย พระมหากษัตริย์ทรงอนุญาตให้ผู้ที่หักร้างถางพงเพื่อการเพาะปลูกมีสิทธิในการครอบครองที่ดินผืนนั้น
– การค้า มีลักษณะการค้าแบบเสรี โดยมีตลาดปสานเป็นศูนย์กลางการค้า และในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ยกเว้นภาษีผ่านด่านที่เรียกว่า จกอบ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพ่อค้า นอกจากนี้ยังมีการค้ากับต่างประเทศ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องสังคโลก และของป่า ส่วนสินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ ผ้าแพร ผ้าไหม เครื่องเหล็ก และอาวุธ 

 

การค้าเสรีในสมัยสุโขทัย

 

– การทำเครื่องสังคโลก เครื่องสังคโลกเป็นสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพดีและมีความสวยงาม ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังมลายู ชวา หมู่เกาะฟิลิปปิน และญี่ปุ่น

 

จานสังคโลกสมัยสุโขทัย

 

5. การสิ้นสุดสมัยสุโขทัย
สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 มีการตั้งอาณาจักรอยุธยา ได้แผ่ขยายจนมีอิทธิพลเหนือสุโขทัย สิ้นสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 อยุธยาก็มิได้แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่มาปกครองสุโขทัย เพียงแต่แต่งตั้งผู้มีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงให้ปกครองเมืองพิษณุโลก และในปีเดียวกันนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยาได้เสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลก จึงถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอยุธยาตั้งแต่นั้นมา

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th