บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พัฒนาการของยุโรปสมัยใหม่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 57.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

พัฒนาการของยุโรปสมัยใหม่

 

1. การขยายอิทธิพลของชาติตะวันตก
     1.1 การสำรวจเส้นทางเดินเรือ
ระหว่าง ค.ศ. 1450–1750 ยุโรปเข้าสู่ยุคการสำรวจเส้นทางเดินเรือและการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
     1.2 สาเหตุของการสำรวจเส้นทางเดินเรือ
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (ค.ศ. 1350–1650) ชาวยุโรปหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว การติดต่อกับโลกตะวันออกในสงครามครูเสด (ค.ศ. 1096–1291) ความรู้ในการใช้เข็มทิศ ทำให้เรือสามารถแล่นในมหาสมุทรได้ดีขึ้น
     1.3 การค้นพบเส้นทางเดินเรือสู่ดินแดนทางตะวันออกและการค้นพบโลกใหม่ของชาติตะวันตก
          1.3.1 โปรตุเกสและสเปน
          1.3.2 ฮอลันดา
          1.3.3 อังกฤษ

 

การสำรวจเส้นทางเดินเรือ


     1.4 ผลของการค้นพบดินแดนของชาติตะวันตก
          1.4.1 การเผยแผ่ศาสนา
ประเทศผู้บุกเบิกก็ถือโอกาสนำคริสต์ศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในประเทศที่ติดต่อทำการค้าหรือดินแดนที่เข้ายึดครองและจัดตั้งเป็นอาณานิคม การเผยแผ่ใช้ทั้งสันติวิธีโดยคณะนักบวชที่เรียกว่า บาทหลวง
          1.4.2 การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและระบบการค้า
เกิดการปฏิวัติทางการค้า (commercial revolution) การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวยุโรปที่ทำกันในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคได้ขยายขอบเขตกว้างขวางไปทั่วโลกมีการใช้เงินตราและเกิดระบบพาณิชยนิยม (mercantile system)
          1.4.3 การเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ
การสำรวจทางทะเลและการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมด้วย
2. การฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)
     2.1 สาเหตุของการฟื้นฟูศิลปวิทยา
การขยายตัวทางการค้าทำให้ฐานะทางการเงินของชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีมั่งคั่งขึ้นเป็นลำดับ จึงหันมาสนับสนุนงานด้านศิลปะและวิทยาการ
     2.2 แนวคิดใหม่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
แนวคิดทางโลกของชาวตะวันตกเปลี่ยนแปลงไป และเริ่มเห็นว่าโดยแท้จริงมนุษย์นั้นสามารถพัฒนาชีวิตตนเองให้ดีและมีคุณค่าได้ แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของลัทธิมนุษยนิยม (humanism)
3. การปฏิรูปศาสนา
สาเหตุของการปฏิรูปศาสนา
     1. เนื่องจากความเป็นอยู่ของสันตะปาปาและพระชั้นสูงบางองค์มีความฟุ่มเฟือย
     2. เนื่องจากสันตะปาปาทรงมีฐานะเป็นเจ้าผู้ปกครองฝ่ายศาสนจักร มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม
     3. การที่ศาสนาจักรมุ่งเน้นพิธีกรรมมากจนเกินไป
     4. สันตะปาปาจูเลียสที่ 2 (Julius II ค.ศ. 1506–1514) และสันตะปาปาลีโอที่ 10 (Leo X ค.ศ. 1514–1521) ต้องการงบประมาณในการก่อสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม
4. กำเนิดรัฐชาติ
     4.1 ปัจจัยที่ทำให้เกิดรัฐชาติ
          4.1.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า
          4.1.2 ความเสื่อมของขุนนาง
          4.1.3 ความสำนึกในความเป็นชาติ
     4.2 กำเนิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เติบโตขึ้นมาได้มาจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ความเสื่อมของระบบฟิวดัล รวมทั้งผลของสงครามครูเสดและสงครามร้อยปี
5. การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม
     5.1 การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution)
สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ชาวเยอรมัน สามารถประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ใน ค.ศ. 1454 ประดิษฐกรรมดังกล่าวนำการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาสู่สังคมตะวันตก
     สภาพภูมิหลังของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์
การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมระยะเวลาหลายศตวรรษ งานทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่สนใจของชาวตะวันตกมาช้านานตั้งแต่สมัยกลางแล้ว
     5.2 การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)
ศตวรรษที่ 18 เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการและระบบผลิตดั้งเดิมจากการใช้แรงงานของคน สัตว์ และพลังงานธรรมชาติ มาเป็นการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรกลในระบบโรงงานแทน การผลิตแบบโรงงานดังกล่าวทำให้เกิดระบบอุตสาหกรรมนิยม (Industrialism)
     สาเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเป็นประเทศแรก
          1. การปฏิวัติเกษตรกรรม อังกฤษเป็นประเทศที่เจริญมั่งคั่งที่สุด และประชากรโดยทั่วไปต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่อื่น
          2. คุณสมบัติเฉพาะตัวของชาวอังกฤษ คุณสมบัติเฉพาะตัวของชาวอังกฤษที่กล้าได้กล้าเสีย
          3. การขยายตัวของตลาดการค้า นโยบายการค้าแบบเสรีและการยกเลิกการเก็บภาษีการขนถ่ายสินค้าผ่านด่านก่อนประเทศอื่นในยุโรปได้กระตุ้นให้มีการขยายตัวของตลาดการค้าอย่างกว้างขวาง
6. ยุคภูมิธรรมและแนวคิดประชาธิปไตย
การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคนิค และนำไปสู่การปฏิวัติทางภูมิปัญญา (Intellectual Revolution) ดังนั้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงได้รับสมญาว่าเป็น ยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment)
     6.1 การปฏิวัติทางการเมืองการปกครองของอังกฤษ
หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 (Elizabeth I ค.ศ. 1533–1603) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ทิวดอร์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1603 กษัตริย์อังกฤษองค์ต่อ ๆ มักจะมีความขัดแย้งกับรัฐสภาอยู่เสมอ เนื่องจากการใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขต
     6.2 การปฏิวัติของชาวอเมริกัน ค.ศ. 1776
การปฏิวัติของชาวอเมริกัน ค.ศ. 1776 มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ให้สิทธิประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น และไม่ให้ศาสนาเข้ามามีบทบาททางการเมือง
     6.3 การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789
การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ได้ส่งผลกระทบให้แนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
7. ศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่
     7.1 ศิลปะบารอก (Baroque)
ลักษณะของศิลปะบารอกเปลี่ยนแปลงจากศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งแสดงอารมณ์สงบนิ่งแฝงปรัชญามาเป็นอารมณ์พลุ่งพล่าน แสดงความดิ้นรน เคลื่อนไหว หรือสร้างให้มีรูปทรงบิดผันจนเกินงามหรือประณีตบรรจงเกินไป
     7.2 ลัทธิคลาสสิกใหม่ (Neoclassicism)
เนื่องมาจากความสำเร็จในการปฏิวัติและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้มนุษย์มีความเชื่อมั่นในเหตุผล มีความสามารถ เฉลียวฉลาด รู้คุณค่าทางความเป็นมนุษย์ เรียกว่า เป็นสมัยแห่งภูมิปัญญา
     7.3 ลัทธิจินตนิยม (Romanticism)
ศิลปะของโลกตะวันตกมีลักษณะเป็นแบบจินตนิยมซึ่งเน้นอารมณ์และความรู้สึกภายใน
     7.4 ลัทธิสัจนิยม (Realisticism)
ลักษณะเด่นของสัจนิยม คือ การแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นจริงของสังคม เปิดโปงความชั่วร้ายของพวกนายทุน และความไม่ยุติธรรมที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับ

 

คำสำคัญ
การฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)
ลัทธิมนุษยนิยม (humanism)
ยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment)
การปฏิวัติ
ระบบอุตสาหกรรมนิยม (Industrialism)
ศิลปะบารอก (Baroque)
ลัทธิคลาสสิกใหม่ (Neoclassicism)
ลัทธิจินตนิยม (Romanticism)
ลัทธิสัจนิยม (Realisticism)

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th