บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 121.4K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

 

1. สถานการณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
กลุ่มก้าวหน้า ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นครั้งแรกโดยคณะทูตไทย มีประเด็นสำคัญ คือ เสนอให้มีการปกครองเป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่พร้อมที่จะปกครองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ควรปฏิรูปการบริหารราชการ ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

กบฏ ร.ศ.130

 

ใน พ.ศ. 2468 รัชกาลที่ 7 ขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงพยายามปรับปรุงการปกครองและการเมืองหลายประการ และได้ออกร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับแรกขึ้นมาแต่ยังไม่ทันได้ประกาศใช้ก็เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
2. สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สรุปได้ดังนี้
     1. ความเสื่อมศรัทธาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้ และให้อำนาจแก่ราชวงศ์และขุนนางระดับสูง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในระบอบการปกครองนี้
     2. ประชาชนชาวไทยบางส่วนได้รับการศึกษาแบบตะวันตก นักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาในแถบยุโรปนั้นได้ชื่นชอบและหวังให้ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
     3. อิทธิพลของสื่อมวลชน ในขณะนั้นก่อนการปฏิวัติ มีหนังสือพิมพ์ลงข่าววิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่บกพร่องของรัฐบาลเป็นประจำ ทั้งยกย่องระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนเริ่มคิดคล้อยตามระบอบประชาธิปไตย
     4. เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดสงครามโลกในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีผลกระทบมาถึงไทย เศรษฐกิจโลกได้ตกต่ำอย่างร้ายแรง รัชกาลที่ 7 ทรงดำเนินนโยบาย เช่น ทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ลง แต่ราษฎรยังได้รับความเดือดร้อน พวกที่นิยมระบอบประชาธิปไตยจึงกล่าวหาว่า เพราะความบกพร่องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้คณะราษฎรได้อ้างเหตุผลนี้ในการยึดอำนาจการปกครอง

 

คณะราษฎร ฝ่ายทหารบก


3. การเปลี่ยนแปลงการปกครองและผลที่ตามมา
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือเป็นวันสำเร็จของคณะราษฎร จำนวน 99 คน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้
ส่วนประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติ ขอเชิญให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ได้ยินยอมตามข้อเสนอนั้น
ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึงปี ได้เกิดความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เกิดความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับรัฐบาลชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เดินทางกลับไทยและได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่

 

นายปรีดี พนมยงค์


หลังจากวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สรุปได้ดังนี้
     1. กบฏบวรเดช เนื่องจากเกิดความขัดแย้งเรื่องพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ทำให้พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กับพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ไม่พอใจ จึงได้ก่อกบฏขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2476
     2. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ การกบฏครั้งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อพระราชฐานะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะคณะราษฎรเข้าใจว่าพระองค์ทรงสนับสนุนการกบฏ พระองค์จึงทรงประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 จากนั้นรัฐบาลและคณะราษฎรได้ทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 8

 

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา


     3. การเมืองในสมัยรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา สมัยนี้เป็นสมัยที่ระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภาได้รับการวางรากฐานในระบอบการเมืองการปกครอง โดยรัฐสภาพยายามควบคุมฝ่ายบริหาร ในสมัยนี้ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทหารได้เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

     4. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลนี้อยู่ในช่วง พ.ศ. 2481 จนถึง พ.ศ. 2487 โดยเน้นหลักการหลายประการคือ
          1) อุดมการณ์เน้นความสำคัญของเชื้อชาติไทยเป็นพิเศษ เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศ สยาม มาเป็น ประเทศไทย
          2) อุดมการณ์ชาตินิยมต่อต้านคนจีน เช่น ควบคุมและปิดโรงเรียนจีน ควบคุมหนังสือพิมพ์ภาษาจีน และจำกัดถิ่นที่อยู่ของคนจีน
          3) ความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ช่วง พ.ศ. 2482–2485 รัฐบาลไทยได้ประกาศรัฐนิยมทั้งหมด 12 ฉบับ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการแต่งกาย การกิน และรณรงค์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เช่น ให้ใช้สินค้าของคนไทย

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

     5. รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พ.ศ. 2488 หลังจากการลาออกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กลับมาจากอเมริกาเพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้สถานการณ์บ้านเมืองที่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เพราะเป็นหัวหน้าคณะเสรีไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจของฝ่ายพันธมิตรในเวลานั้น ซึ่ง ก็แก้ไขสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จนประเทศไทยไม่มีสภาพเป็นผู้แพ้สงคราม
     6. เหตุการณ์รัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์–รัฐประหาร พ.ศ. 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตประเทศไทยพร้อมพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช และก่อนที่จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตด้วยอาวุธปืน ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลจึงได้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อมา เป็นรัชกาลที่ 9

 

คำสำคัญ
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ความเสื่อมศรัทธาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อิทธิพลของสื่อมวลชน
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศอย่างรุนแรง
กบฏบวรเดช
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
ความเสื่อมศรัทธาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
รัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์–รัฐประหาร

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th