บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง รัฐไทยในดินแดนไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 80.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

รัฐไทยในดินแดนไทย

 

1. แคว้นโยนกเชียงแสน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16)
แคว้นโยนกเชียงแสนอาจเป็นรัฐไทยที่เก่าแก่ที่สุด พระเจ้าสิงหนวัติสร้างเมืองนาคพันธ์สิงหนวัตินครบนฝั่งแม่น้ำกก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโยกนครธานีช้างแส่น ภายหลังเรียกว่า เชียงแสน โดยมีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมา 45 องค์
2. แคว้นนครหิรัญนครเงินยาง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-พ.ศ. 1893)
แคว้นนครหิรัญนครเงินยาง หรือแคว้นเงินยาง หรือแคว้นเงินยางเชียงแสน เกิดเมื่อปู่เจ้าลาวจงหรือปู่เจ้าลาวจก นำบริวารมาสร้างเมือง ประชาชนแคว้นนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ราชวงศ์ลวจังกราชขยายอำนาจโดยการส่งโอรสไปสร้างเมืองใหม่
3. แคว้นพะเยา (พ.ศ. 1640-1881)
แค้วนพะเยาอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่อิง ผู้สร้างเมืองได้แก่ ขุนจอมธรรม ตำนานเมืองพะเยาเล่าว่า
ขุนจอมธรรมเป็นโอรสองค์ที่ 2 ของพระยาลาวเงิน กษัตริย์แคว้นหิรัญนครเงินยางผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าปู่ลาวจง

4. อาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 1839-2442)
พระยามังรายกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งแคว้นหิรัญนครเงินยาง ได้ผนวกแคว้นหิรัญนครเงินยาง เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา และได้สร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ. 1983 พระองค์เป็นสหายร่วมสำนักเรียนกับพระยางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา และพ่อขุนรามคำแห่งมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย ความสัมพันธ์ระหว่างสามแคว้นนี้ทำให้คนไทยรอดพ้นจากการรุกรานของจีน ซึ่งพระยามังรายได้สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 1854

 

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์

 

5. อาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1792-2006)
     5.1 การสถาปนาราชวงศ์พระร่วง
ตามหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 สรุปได้ว่า เมืองสุโขทัยศรีสัชนาลัยมีพ่อขุนศรีนาวนำถุม
ปกครอง เมื่อพระองค์สวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพงเป็นเขมรได้ยึดสุโขทัยไว้ เจ้าขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ได้ร่วมมือกับพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว โจมตีและยึดเมืองทั้งหมดกลับมาและทรงอภิเษกพ่อขุน
บางกลางหาวขึ้นครองกรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง อาณาจักรสุโขทัย
     5.2 การเมืองสมัยสุโขทัย
ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ สมัยที่สุโขทัยเป็นอาณาจักรอิสระ และสมัยที่สุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยแผ่ขยายอาณาเขตครั้งสำคัญ 2 สมัย ได้แก่ ครั้งแรกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครั้งที่ 2 สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) จะเห็นได้ว่าอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กลับพระปรีชาสามารถของกษัตริย์แต่ล่ะพระองค์

 

แผนที่แสดงอาณาเขตอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

     5.3 เศรษฐกิจสมัยสุโขทัย
1. การเกษตร เป็นพื้นฐานหลักของอาณาจักร แต่เนื่องด้วยสุโขทัยตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขา การเกษตรจึงต้องใช้ระบบชลประทานมาช่วยควบคุมน้ำที่ไหลบ่ามาจากภูเขา
2. การค้า สามารถแบ่งกว้าง ๆ เป็นการค้าระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ กับการค้าต่างประเทศ ในสมัยสุโขทัยไม่มีการเก็บภาษีผ่านด่าน หรือที่เรียกว่า จกอบ เป็นภาษาเขมร หมายถึงภาษีผ่านด่าน นอกจากนี้ยังมีการค้าขายกับจีน โดยผ่านเส้นทาง เมืองเมาะตะมะ อ่าวไทยและนครศรีธรรมราช

3. หัตถกรรม การทำเครื่องสังคโลก เป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงและรายได้แก่อาณาจักร เตาเผาเครื่องสังคโลกเรียกว่า เตาทุเรียง การค้าเครื่องสังคโลกอาจเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสุโขทัย การค้นพบเครื่องสังคโลกพร้อมกับเหรียญเงินของจีน ในสมัยอยุธยาแสดงให้เห็นว่า เมื่อสุโขทัยผนวกกับอยุธยาแล้ว เครื่องสังคโลกยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

 

เตาทุเรียง

 

     5.4 สังคมสมัยสุโขทัย
เป็นสังคมที่มีรากฐานมาจากสังคมบ้าน สู่สังคมเมืองและระดับอาณาจักร เป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนา ประชากรมีไม่มาก ผู้ปกครองสามารถปกครองได้ทั่วถึง สังคมสมัยสุโขทัยประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง เป็นชนชั้นปกครอง ไพร่ และ ทาสเป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง และพระสงฆ์เป็นชนชั้นที่เป็นที่เคารพของชนชั้นอื่นๆ
     5.5 การสิ้นสุดของอาณาจักรสุโขทัย
ใน พ.ศ. 1981 หลังการสวรรคตของพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) อยุธยาไม่ตั้งผู้ใดเป็น
พระมหาธรรมราชาอีก แต่ให้ผู้ที่มีเชื้อสายราชวงค์พระร่วงปกครองเมืองพิษณุโลกในฐานะประเทศราชของอยุธยา จนถึง พ.ศ. 2006 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง เสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลก ถือว่าอาณาจักรสุโขทัยรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่นั้น

 

ภาพแสดงการค้าเสรีสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช


6. แคว้นสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ 18–พ.ศ. 1893)
แคว้นสุพรรณภูมิมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีทำให้ติดต่อกับอ่าวไทยได้สะดวก
แคว้นสุพรรณภูมิเป็นแคว้นขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 19 พระเจ้าอู่ทองได้สร้างความสัมพันธ์กับแคว้นสุพรรณภูมิและละโว้ นำไปสู่การรวมแคว้นและสถาปนาอาณาจักรอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. 1893 ต่อมาแคว้นสุพรรณภูมิ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สุพรรณบุรี
7. อาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310)
     7.1 การสถาปนาอาณาจักรอยุธยา
พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 1893 อยุธยาเป็นราชธานีที่มีความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง มั่นคง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานถึง 417 ปี ด้วยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

     7.2 การเมืองสมัยอยุธยา
การเมืองสมัยอยุธยาตอนต้น มีการปล่อยให้เจ้าเมืองมีอิสระ จึงเป็นช่องทางในการสะสมกำลังคน ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้พยายามควบคุมอำนาจและบทบาททางการเมือง ขณะที่กลุ่มเจ้านายถูกลดอำนาจลง กลุ่มขุนนางกลับมีความเข้มแข็งมากขึ้น จนสามารถชิงอำนาจจากพระมหากษัตริย์ได้ สมัยอยุธยาตอนปลายมีการแย่งสมบัติทุกรัชกาลผู้ชนะได้เป็นพระมหากษัตริย์และกำจัดฝ่ายพ่ายแพ้ วนเวียนอยู่จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยอยุธยาใน พ.ศ. 2310

 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี

 

     7.3 เศรษฐกิจสมัยอยุธยา
รายได้หลักของอาณาจักรอยุธยาขึ้นอยู่กับการเกษตร การค้า และการเก็บภาษีอากร
1. การเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนา ข้าวเป็นพืชที่สำคัญที่สุด
2. การค้า การค้าภายในและการค้าต่างประเทศ เป็นกิจกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้รัฐ
3. การเก็บภาษีอากร ราษฎรหรือไพร่มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีอากรให้แก่พระมหากษัตริย์
     7.4 สังคมสมัยอยุธยา
โครงสร้างทางสังคมสมัยอยุธยาเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย มีการแบ่งชนชั้นในระบบสังคมเป็น 2 ระบบ คือ ระบบไพร่และระบบศักดินา
ระบบไพร่ เป็นวิธีควบคุมแรงงานของประชาชนตามระดับชั้น ไพร่ตามหัวเมืองต้องขึ้นสังกัดกรมกองในราชธานี ไพร่ที่สังกัดกรมต่าง ๆ เรียกว่า ไพร่หลวง ส่วนไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ขุนนางเรียกว่า ไพร่สม
ระบบศักดินา เป็นการจัดระเบียงทางสังคมด้วยการจำแนกฐานะทางสังคม โดยกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ อภิสิทธิ์ และสิทธิต่าง ๆ โดยมีจำนวนนาหรือศักดินามากน้อยเป็นเครื่องแสดงบ่งชี้ฐานะ

 

ขุนนางกับไพร่สมัยอยุธยา

 

     7.5 ความเสื่อมของอาณาจักรอยุธยา
สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ครองราชย์นานถึง 9 ปี กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อาณาจักรอยุธยาเสื่อมสลาย ได้แก่
8. อาณาจักรธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325)
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เอกราชได้สำเร็จ ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายเสียหายจนบูรณะไม่ไหว จึงย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองธนบุรี สมัยธนบุรีเป็นระยะของการกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากสภาพความแตกแยกทางการเมืองภายในและมีศึกสงครามเกิดขึ้นเกือบตลอด โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพยายามเน้นพระองค์เป็นธรรมราชาเพื่อสร้างความเป็นผู้นำของพระองค์ และทรงส่งคณะทูตไปจีนหลายครั้งเพื่อให้จีนยอมรับฐานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์ จนถึงปีสุดท้ายในรัชสมัยจึงทรงประสบความสำเร็จ

 

อาณาจักรธนบุรี

 

9.อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-ปัจจุบัน)
     9.1 การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีมาตั้งที่ตำบลบางกอก
     9.2 การเมืองสมัยรัตนโกสินทร์
ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเมือง อันเกิดจากความร่วมมือ การประนีประนอม และการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่ม ทำให้ไทยฟื้นฟูสู่ความมั่งคั่งและรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว
     9.3 เศรษฐกิจสมัยรัตนโกสินทร์
เศรษฐกิจกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ ราษฎรมีอาชีพหลักคือการเกษตร พืชสำคัญคือ ข้าว นอกจากนั้นก็มีฝ้าย ยาสูบ อ้อย ผักผลไม้ มีหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้านแบบเก่าที่ทำด้วยมือ เช่นทอผ้า ทำเครื่องปั้นดินเผา ทำน้ำตาล กระเบื้อง อิฐ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน
รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐได้มาจากภาษีอากร เงินค่าราชการจากไพร่ เงินค่าผูกปี้ชาวจีน รวมทั้งผลกำไรจากการค้ากับต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงต้องเพิ่มภาษีอากรอีกหลายอย่าง

 

เรือสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยรัชกาลที่ 5

 

สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบและวิธีการติดต่อการค้าขายระหว่างไทยกับอังกฤษ เนื้อหาสำคัญคือ การยกเลิกระบบการค้าผูกขาดของพระคลังสินค้า และการอนุญาตให้ส่งออก ข้าว ปลา เกลือได้ ไทยเก็บภาษีได้ไม่เกินร้อยละสาม และไทยต้องอำนวยความสะดวกให้คนในบังคับของอังกฤษให้สามารถเดินทางค้าขายได้ทั่วราชอาณาจักร สนธิสัญญาเบาว์ริง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ

     9.4 สังคมสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังมีโครงสร้างสังคมแบบอยุธยา เมื่อสภาพเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวขึ้นทำให้มีความต้องการผลผลิตเพื่อการค้าเพิ่มขึ้น ชาวจีนจึงหลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงาน ความต้องการใช้แรงงานเกณฑ์จากไพร่จึงลดลง

 

คำสำคัญ
แคว้นโยนกเชียงแสน
แคว้นนครหิรัญนครเงินยาง
แคว้นพะเยา
อาณาจักรล้านนา
อาณาจักรสุโขทัย
แคว้นสุพรรณภูมิ
อาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรธนบุรี
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
สนธิสัญญาเบาว์ริง

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th