16 มิถุนายน วันเต่าทะเลโลก 'World SeaTurtle Day' : สงสารเต่าทะเล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.5K views




ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock

ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     เต่าทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่กว่าเราจะศึกษาและเข้าใจในการใช้ชีวิตและวงจรชีวิตของมัน มันก็เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากแล้ว เต่าทะเลเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่อยู่คู่โลกมาตั้งแต่ปลายยุคจูราสสิคที่สัตว์เลื้อยคลานเริ่มมีบทบาทบนโลกมากขึ้น ได้รับการปรับตัวปรับขนาดและการใช้ชีวิตมาตั้งแต่ 150 ล้านปีก่อน แม้ว่ามันจะสามารถรอดพ้นและวิวัฒนาการมาจนสามารถอยู่รอดและใช้ชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันได้ ในขณะที่อีกหลายสายพันธุ์ซึ่งเกิดในยุคเดียวกันกลับล้มหายตายจากไปจนหมดแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์และผลกระทบอื่น ๆ ไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อมซึ่งเกิดจากคนเรากำลังทำให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายร้อยสายพันธุ์ตกอยู่ในอันตราย และเต่าทะเลก็เป็นหนึ่งในนั้น



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     เต่าทะเลเป็นสัตว์เลื้อยคลาน เช่นเดียวกับเต่าชนิดอื่น ๆ ที่อยู่บนบกหรือในน้ำจืด เหมือนกับจระเข้ และกิ่งก่าอีกหลายสายพันธุ์ และแม้ว่ามันจะใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่ในน้ำ แต่มันไม่สามารถหายใจใต้น้ำได้ มันยังคงมีปอดและใช้ปอดในการหายใจ แปลว่าแม้มันจะสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วและดำน้ำกินอาหารหรือนอนหลับก็ยังต้องขึ้นมาสู่ผิวน้ำเป็นครั้งคราวเพื่อสูดอากาศหายใจ ความพิเศษของเต่าทะเลอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวให้สามารถอาศัยอยู่ในทะเลได้ตลอดชั่วชีวิตของมัน และที่เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ อีกสิ่งหนึ่งคือเกล็ดหรือเกราะที่จะปกคลุมร่างกายเพื่อป้องกันอันตราย โดยในเต่านั้นได้รับการวิวัฒนาการไปเป็นกระดอง และเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอยู่ในทะเลมากขึ้นไปอีก กระดองของเต่าทะเลจะมีทรงรี หรือรูปหัวใจ ซึ่งทำให้เคลื่อนที่ในน้ำได้รวดเร็ว ส่วนขาทั้ง 4 ก็รับการวิวัฒนาการให้มีลักษณะเหมือนครีบหรือใบพายเพื่อใช้ในการว่ายน้ำได้คล่องตัวมากขึ้น แม้ว่ามันจะไม่สามารถหดหัวหรือขาเข้าไปในกระดองได้เหมือนเต่าบก หรือเต่าน้ำจืดชนิดอื่น ๆ



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     แม้ว่าไข่ของเต่าทะเลจะถูกวางและฝังกลบไว้โดยแม่เต่าบนชายหาด แต่เมื่อฟักออกมาแล้วเต่าน้อยทุกตัวจะมุ่งหน้าลงทะเลอย่างรวดเร็วและอยู่ในทะเลตลอดชีวิตของมัน ยกเว้นแค่ตอนขึ้นมาวางไข่เท่านั้น โดย่านน้ำที่เต่าทะเลอาศัยอยู่คือทะเลและมหาสมุทรที่อยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ที่ซึ่งแหล่งอาหารทางธรรมชาติของมันเช่นพืชและสัตว์ทะเลมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันพบว่ามีเต่าทะเลอยู่ในมหาสมุทรทุกแห่งยกเว้นแค่มหาสมุทรใต้เท่านั้น เต่าทะเลแต่ละชนิดจะวิวัฒนาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ ทั้งลักษณะกระดอง ปาก หรือแม้แต่อาหารการกินให้แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์และถิ่นที่อยู่ รวมไปถึงช่วงเวลาและสถานที่ในการวางไข่ เพื่อไม่ให้แข่งขันกันเองด้วย แต่เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ทางทะเลซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่และอาหารหลักของเต่าทะเล นั้นไม่ได้ดึงดูดเพียงแค่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอย่างเดียว มันยังดึงดูดให้มนุษย์เรามาตั้งถิ่นฐานพร้อมกับเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับชีวิตของสัตว์ทะเลทั้งหมดอีกด้วย



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     แม้ว่าเต่าทะเลจะมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาช้านาน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากการปรากฏอยู่ของเต่าทะเลในนิทานปรัมปราของแต่ละชนชาติซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น นิทานอึราชิมาทาโร่ของญี่ปุ่น ตำนานการสร้างโลกของเง็กเซียนที่ใช้ขาเต่าทะเลในการยกฟ้าของจีน ในวรรณกรรมเรื่อง The Lathe of Heaven ของ Ursula K. Le Guin ก็มีการพูดถึงเต่าทะเลเช่นกัน หรือภาพวาดในผนังถ้ำหลาย ๆ แห่ง หรือแม้แต่จิตรกรรมฝาผนังก็มีการพาดพิงถึงเต่าทะเล แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ของเต่าทะเลกับคนเราถูกทำลายลงไปมาก เนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นข้อใหญ่ เช่น การวางอวนเพื่อดักปลา ซึ่งเต่าทะเลอาจจะเข้ามาติดด้วยและไม่สามารถหนีรอดออกมา หรือไม่สามารถขึ้นไปหายใจบนผิวน้ำจนจมน้ำตาย การลักลอบขุดไข่เต่าทะเลไปเป็นอาหารหรือเพื่อการค้า มลพิษที่เกิดขึ้นจากมนุษย์เช่นขยะจำพวกพลาสติกซึ่งเต่าทะเลอาจจะกัดกินเนื่องจากคิดว่าเป็นแมงกระพรุนหรือพืชน้ำและทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้จนเสียชีวิต หรือการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ทะเลและน้ำเสียทำให้เป็นพิษต่อการอาศัยและกระทบต่อแหล่งอาหาร แม้ว่าปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและพยายามที่จะเพาะเลี้ยงเต่าทะเล เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแต่มันก็ยังเป็นหนทางอีกยาวไกลกว่าเต่าทะเลจะกลับมีจำนวนเหมือนที่เคยมีมาในอดีต

เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา 
 

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=t-KmQ6pGxg4
          https://en.wikipedia.org/wiki/Cultural_depictions_of_turtles
          https://www.declineoftheempire.com/2014/02/the-human-relationship-to-other-species.html

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด