การปรับตัวของสัตว์ต่อการเปลี่ยนแปลงอากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 27.4K views





ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นสองปัจจัยหลักสำคัญที่เป็นภัยคุกคามต่อพืชและสัตว์ทุก ๆ สปีชีส์บนโลก ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่า การทำการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง การรุกล้ำพื้นที่ทำให้สูญเสียถิ่นอาศัยของสัตว์และทำลายระบบนิเวศน์โดยรวม ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปก็เช่นกัน สาเหตุหลักที่เห็นได้ชัดคืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี การละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกก็มากขึ้น บางพื้นที่ก็แห้งแล้งหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยัน การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันชนิดที่มนุษย์ซึ่งเป็นต้นเหตุเอง ยังต้องปรับตัวอย่างหนัก สำหรับสัตว์และพืชแล้ว นี่คือความท้าทายต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยที่พวกมันไม่ได้เป็นผู้ก่อ



ภาพประกอบ : pixabay


     การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ สำหรับมนุษย์แล้วมันหมายถึงการใช้เทคโนโลยีและความรู้ที่เราสั่งสมมาตั้งแต่อดีตมาเป็นตัวช่วยให้สามารถดำรงชีวิตและฝ่าฟันกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่นระบบไฟฟ้าและพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำระบบสาธารณูปโภคที่แข็งแรงและบริหารจัดการได้ดีขึ้น แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แล้วสิ่งที่มันพึ่งพาได้คือ พื้นฐานของชีวิต นั่นคือ กระบวนการวิวัฒนาการ ซึ่งโดยปกติใช้เวลา 1,000 – 100,000 ปี แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การวิวัฒนาการนี้อาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า อย่างเช่นกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว



ภาพประกอบ : pixabay


     ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เราได้พบเห็นและศึกษาพืช สัตว์ รวมถึงแมลงที่มีการย้ายถิ่นฐาน มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระทางกายภาพของมันไม่ว่าจะเป็นขนาดโดยรวมหรือรูปร่างเฉพาะส่วน หรือแม้แต่ระยะเวลาเติบโตออกดอกของพืช หรือผสมพันธุ์ของสัตว์ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยและไม่สามารถส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานได้ ซึ่งเรียกว่า Plastic changes หรือ non heritable changes และมันก็มีข้อจำกัดเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้มากมายนักเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เต่าคงไม่สามารถมีปีกงอกออกมาเพื่อบินได้ นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไป ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นกับสัตว์หรือพืชที่มีการส่งต่อไปยังลูกหลานผ่านทางพันธุกรรม



ภาพประกอบ : pixabay


     ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีของนกฮูก Tawny Owl ที่อาศัยอยู่ในป่า ก่อนหน้านี้มีหิมะตกหนักและหนา เราไม่สามารถมองเห็นมันได้โดยง่ายเนื่องจากความสามารถของมันในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้วยขนสีขาวของมัน ในปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปทำให้หิมะตกเบาบางลงมาก สภาพป่าโดยรอบไม่ขาวโพลนอีกต่อไป แต่เราก็ยังไม่สามารถหาพวกมันเจอได้ง่าย ๆ อยู่ดี เพราะตอนนี้นกฮูกสายพันธุ์นี้มีขนสีน้ำตาล เมื่อศึกษาแล้วพบว่าลักษณะสีขนเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยสีขาวเป็นยีนด้อย แต่ว่าก่อนหน้านี้พบได้มากเพราะนกตัวสีขาวมีความสามารถในการพรางตัวซึ่งเป็นประโยชน์ในการล่าอาหารและดำรงชีวิตมากกว่า ในขณะที่ปัจจุบันขนสีน้ำตาลมีโอกาสในการล่าและดำรงชีวิตมากกว่า เนื่องจากเมื่อสภาพอากาศค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป กฎการคัดสรรของธรรมชาติทำให้นกฮูกที่มีขนสีน้ำตาลสามารถเอาชนะการแข่งขันทางพันธุกรรมเหนือนกที่มีขนสีขาวได้



ภาพประกอบ : pixabay


     นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางชีววิทยาได้ทำการศึกษาและพบว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายสปีชีส์ก็มีการคัดสรรและปรับเปลี่ยนที่คล้ายคลึงกับกรณีของนกฮูก Tawny Owl ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งกรณีที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ แมลงเต่าทอง ซึ่งก่อนหน้านี้สัดส่วนของแมลงเต่าทาองที่มีสีพื้นเป็นสีดำและสีแดงสดพอ ๆ กัน แต่ในปัจจุบันพบแมลงเต่าทองที่มีสีพื้นเป็นสีแดงในสัดส่วนสูงกว่ามาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเกิดจากสีแดงดูดกลืนแสงน้อยกว่าและมีชีวิตรอดได้มากกว่าแมลงเต่าทองสีดำที่ร้อนง่ายกว่า หรือต้นไม้ป่ามีการปล่อยสารเคมีออกมามากขึ้นเมื่ออากาศอบอุ่นเพื่อป้องกันสัตว์กินพืชเข้ามาแทะกิน ซึ่งมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต อีกหนึ่งตัวอย่างคือการศึกษาการอพยพย้ายถิ่นของนก Purple Martin และนก Painted Bunting พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการอพยพย้ายถิ่นและช่วงเวลาที่อพยพไปจากเดิมเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนไป



ภาพประกอบ : pixabay


     หรือ ปลา Tiny Killifish ปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ในน้ำกร่อยหรือน้ำที่มีความเค็มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสายพันธุ์ต่าง ๆ เท่าที่เราได้ค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หรือการขยับย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่สูงขึ้นหรืออุณหภูมิเหมาะสมมากขึ้น



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะค้นพบสายพันธุ์ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นจากจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดกว่า 8 พันล้านสปีชีส์ เพราะจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยให้มั่นใจว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เหล่านั้นจะยังไม่สูญพันธุ์ไปด้วยน้ำมือมนุษย์ในเร็ววัน แม้ในที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงมันอาจจะรวดเร็วเกินไปและเป็นหน้าที่ของมนุษย์เราที่ต้องช่วยเหลือพวกมันให้รอดพ้นจากผลกระทบต่อโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ไม่อย่างนั้นท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนหลงเหลืออยู่บนโลก มีโครงการมากมายที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาและคงสภาพระบบนิเวศน์ สภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตไม่ให้ล่มสลาย หายหรือสูญพันธุ์ไป

เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=ZCKRjP_DMII
         https://www.skepticalscience.com/Can-animals-and-plants-adapt-to-global-warming.htm
         https://news.nationalgeographic.com/news/2014/05/140506-climate-change-adaptation-evolution-coral-science-butterflies/
         https://www.livescience.com/3863-animals-plants-adapting-climate-change.html
         https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-2622454/Nature-CAN-cope-climate-change-Unusual-behaviour-plants-animals-suggests-weve-underestimated-ability-adapt-claim-studies.html
         https://www.natureworldnews.com/articles/15142/20150615/climate-change-and-habitat-loss-how-animals-adapt.htm

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด