นางสงกรานต์ ประจำปี 2559
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.2K views



ประกาศสงกรานต์ จุลศักราช 1378
พุทธศักราช 2559
ปีวอก อัฐศก จันทรคติเป็น ปกติมาส อธิกวาร สุริยคติเป็น อธิกสุรทิน

 


วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ วันพุธที่ 13 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 36 นาที 36 วินาที
จันทรคติ ตรงกับ วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนห้า (๕) ปีวอก

นางสงกรานต์นามว่า มัณฑาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย
หัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร (นอนลืมตา) มาเหนือหลังคัสพะ(ลา) เป็นพาหนะ

เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ จันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า
ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า

เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ วาโย(ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด

เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีวอก นาคราชให้น้ำ 2 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม แต่ปลายปีมากแล ฯ

เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในนา จะได้ 10 ส่วน เสียเพียงส่วนเดียว ธัญญาหาร มังสาหารบริบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข ฯ

วันเถลิงศก ตรงกับ วันเสาร์ที่ 16 เมษายน เวลา 0 นาฬิกา 34 นาที 12 วินาที
จันทรคติ ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีวอก


ประวัตินางสงกรานต์


 

     นางสงกรานต์เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ เป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) มีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั่นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ ซึ่งนางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ตามวัน ได้แก่


1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
 


     ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ


2. นางสงกรานต์โคราดเทวี

 


     โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีบ มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)


3. นางสงกรานต์รากษสเทวี

 


     รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)


4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี
 

     
    มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)


5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี

 


     กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา(ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)


6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
 


     กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)


7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
 


     มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

ที่มา : myhora.com
ภาพประกอบ : กระทรวงวัฒนธรรม, daojarat