บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 19.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



ตอนที่ 1 ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ คือ
1. การเพิ่มจำนวนของประชากร ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น และการขาดการวางแผนการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ
2. การขยายตัวของเมืองหรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เพื่อทำการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยขาดการวางแผนและการวางผังเมืองไว้ล่วงหน้า ทำให้ระบบนิเวศธรรมชาติเสื่อมลง
3. การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นทำให้ดินเสื่อมสภาพระยะยาว เกิดน้ำเสีย และมีสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
4. การขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองทำให้ตื้นเขิน การใช้ยาปราบศัตรูพืชเกินความจำเป็น เกิดสารพิษสะสมในดินและน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังระบบของโซ่อาหาร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติระดับท้องถิ่น
ปัญหามลพิษทางน้ำ

ปัญหามลพิษทางน้ำมีสาเหตุจากการปล่อยสารพิษจากแหล่งชุมชน แหล่งเกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ออกมาปะปนกับน้ำทิ้ง โดยสารพิษหรือสารปนเปื้อนที่ทำให้แหล่งน้ำเสื่อมคุณภาพลง ได้แก่
1. สารอนินทรีย์ ทำให้น้ำมีคุณสมบัติเสื่อมลงทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และทางเคมี
2. สารอินทรีย์ เช่น สารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำมัน เนื่องจากจุลินทรีย์ในน้ำใช้ออกซิเจนจากน้ำเพื่อสลายสารเหล่านี้ให้ได้พลังงาน ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงทำให้น้ำเน่าเสีย
3. ธาตุอาหารพืช เมื่อปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ผงซักฟอก และซากพืชซากสัตว์ ในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นทำให้พืชน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำจะขาดออกซิเจนและส่งกลิ่นเน่าเหม็น
4. เชื้อโรค ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส และรา ที่ปะปนอยู่ในน้ำทิ้งก่อให้เกิดโรค เช่น อหิวาตกโรค โรคบิด
5. สารกัมมันตรังสี เป็นสารที่อาจเกิดตามธรรมชาติหรือจากการผลิตของมนุษย์ ซึ่งสามารถทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม หรือทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
6. ความร้อน เกิดจากน้ำที่ใช้ระบายความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมสะสมจนมีอุณหภูมิในธรรมชาติสูงขึ้นทำให้ปริมาณแก๊สออกซิเจนลดลง
7. ตะกอน ตะกอนจะกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องทะลุผ่าน ทำให้การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชน้ำลดน้อย

    การตรวจสอบคุณภาพของน้ำทำได้โดยการตรวจสมบัติทางกายภาพ เช่น สี อุณหภูมิ และการนำไฟฟ้า หรือตรวจสอบสมบัติทางเคมีของน้ำ เช่น การหาปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (Dissolved Oxygen: DO) น้ำเสียจะมีค่า DO ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร และการหาความต้องการออกซิเจนในน้ำ ซึ่งหาได้ 2 แบบ คือ การหาปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ (Biochemical Oxygen Demand: BOD) ซึ่งน้ำเสียจะมีค่า BOD สูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร และการหาปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำ (Chemical Oxygen Demand: COD) โดยใช้สารเคมี เช่น โพแทสเซียมไดโครเมตเป็นตัวออกซิไดส์กับสารอินทรีย์ในซึ่งค่า COD ไม่ควรเกิน 120-400 มิลลิกรัมต่อลิตรของคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงาน

แนวทางป้องกันและแก้ไขมลพิษทางน้ำ
ทำได้โดยออกกฎหมายควบคุมมลพิษทางน้ำ กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ หากเกิดปัญหามลพิษขึ้นแล้ว สามารถแก้ปัญหาได้โดยการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมี 4 กระบวนการ ดังนี้
– กระบวนการทางกายภาพ เป็นการกำจัดของแข็งขนาดใหญ่ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำออก
– กระบวนการทางชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เจือปนอยู่ในน้ำหรือใช้พืชน้ำดูด
ซับสารพิษ
– กระบวนการทางเคมี เป็นการกำจัดสารประกอบพวกอนินทรีย์ที่ย่อยสลายยากหรือสภาพความเป็นกรด-เบสสูง
– กระบวนการทางกายภาพ–เคมี เป็นการกำจัดสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำทิ้ง โดยใช้วิธีการ เช่น การดูดซับด้วยถ่าน และการแลกเปลี่ยนประจุ

ปัญหามลพิษทางดิน
ปัญหามลพิษทางดินที่เกิดขึ้นเป็นภาวะที่ดินได้รับสารปนเปื้อนในปริมาณที่มากกว่าอัตราการสลายตัวจนทำให้เกิดการสะสมของสารพิษหรือเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในระบบ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์ใช้ทรัพยากรดินอย่างผิดวิธี รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ก็ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางดิน เช่น
1. การทิ้งขยะมูลฝอย สารเคมี และสิ่งปฏิกูลจากแหล่งชุมชน ซึ่งจะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ทำให้กลายเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อโรคที่ก่อปัญหาสุขภาพ ส่วนสารเคมีที่ทิ้งจากอาคารบ้านเรือนลงบนดิน น้ำส่วนใหญ่จะระเหยไปเหลือแต่สารเคมีตกค้างอยู่ในดินทำให้ดินเสื่อมสภาพ
2. การทิ้งสารเคมีที่มีโลหะหนักเจือปนจากโรงงานอุตสาหกรรมลงดิน ทำให้ดินเกิดการปนเปื้อนและมีกากค้างของโลหะหนัก เมื่อพืชดูดแร่ธาตุในดินไปใช้จะเกิดการสะสมของโลหะหนักในพืชและถูกถ่ายทอดมายังคนและสัตว์ต่อไป
3. การใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชในปริมาณที่มากเกินไป เกิดการสะสมอยู่ในดิน และทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่พืชตายลง เนื้อดินจึงแน่น แข็งกระด้าง ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก

แนวทางป้องกันและแก้ไขมลพิษทางดิน
1. กำหนดบริเวณที่ทิ้งขยะอย่างชัดเจน แล้วเก็บรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
2. ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช
3. ออกกฎหมายควบคุมให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องติดตั้งเครื่องกำจัดของเสียเพื่อลดความเป็นพิษของสารจนอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
4. ใช้ดินให้ถูกหลักการอนุรักษ์ดิน เช่น ไถพรวนด้วยวิธีที่ถูกต้อง ปลูกพืชคลุมดินในพื้นที่ว่างเปล่า และควบคุมการทำนาเกลือสินเธาว์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเกลือสู่พื้นที่ใกล้เคียง

ปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอย
ขยะมูลฝอย
หมายถึง เศษของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและการใช้สอยของมนุษย์ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ขยะมูลฝอยทั่วไป แยกเป็น ขยะมูลฝอยเปียก ได้แก่ อินทรียวัตถุที่สามารถย่อยสลายเน่าเปื่อยได้ง่าย และขยะมูลฝอยแห้ง ซึ่งมีทั้งที่เผาไหม้ได้และเผาไหม้ไม่ได้ แม้เผาไหม้ได้ก็ก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สพิษอื่น ๆ ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
2. ขยะมูลฝอยอันตราย ได้แก่ ของเสียที่เป็นพิษ ระเบิดได้ง่าย ต้องใช้กรรมวิธีในการทำลายเป็นพิเศษ
ขยะมูลฝอยสามารถแบ่งประเภทตามแหล่งกำเนิดได้ ดังนี้



1. ของเสียจากอุตสาหกรรม เป็นของเสียอันตรายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 73 ของของเสียทั่วประเทศไทย
2. ของเสียจากโรงพยาบาล สถานศึกษาและวิจัย ซึ่งเป็นขยะที่สามารถแพร่เชื้อและสารอันตรายสู่มนุษย์
3. ของเสียจากภาคเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย มูลสัตว์ และน้ำทิ้งจากการทำปศุสัตว์
4. ของเสียจากบ้านเรือนและแหล่งชุมชน เช่น หลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย เศษอาหาร พลาสติก และไม้

แนวทางป้องกันและแก้ไขมลพิษจากขยะมูลฝอย
1. จัดให้มีการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
2. จัดทำแผนการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่เก็บรวบรวม ขนส่ง การบำบัด และการกำจัดขั้นสุดท้าย
3. มีถังขยะประจำบ้าน แยกประเภทขยะก่อนทิ้ง ส่งเสริมให้นำขยะที่ย่อยสลายได้กลับมาใช้ประโยชน์

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติระดับประเทศ
ปัญหามลพิษทางอากาศ

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นภาวะของอากาศที่มีสารพิษหรือแก๊สพิษเจือปนอยู่มากจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น
ฝนกรด เกิดจากไอน้ำรวมตัวกับออกไซด์ของซัลเฟอร์และออกไซด์ของไนโตรเจนที่ได้จากควันพิษกลายเป็นกรดซัลฟิวริก (H2SO4) และกรดไนทริก (HNO3) ซึ่งเป็นอันตรายต่อบ้านเรือนและสิ่งมีชีวิตทุกชนิด



หมอกพิษ เป็นสภาวะที่อากาศบริเวณใกล้พื้นดินไม่สามารถลอยตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำหรือมีอุณหภูมิเท่ากับอากาศด้านบน ทำให้สารมลพิษต่างๆ ฟุ้งกระจายและสะสมในอากาศระดับพื้นดิน จึงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
แนวทางป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศ
1. เลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีควันน้อยหรือไม่มีเลย เพื่อป้องกันการเกิดแก๊สที่เป็นอันตราย
2. ลดปริมาณฝุ่นละออง กำจัด ควบคุมควันและกลิ่นที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม
3. ใช้มาตรการทางกฎหมาย และควบคุมการทำกิจกรรมที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ 

ปัญหาการทำลายป่าไม้
ทรัพยากรป่าไม้ คือ พื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้นานาชนิดปกคลุมอยู่ โดยมีจำนวนต้นไม้ขนาดต่าง ๆ และมีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอที่จะสามารถผลิตไม้หรือของป่า โดยประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากป่าไม้แยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ประโยชน์ทางตรง ได้แก่ การนำพืช ต้นไม้ สัตว์ป่า และผลผลิตจากป่ามาผลิตเป็นปัจจัย 4
2. ประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ และเป็นแหล่งหมุนเวียนของสารต่าง ๆ ในระบบนิเวศ เพราะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุคาร์บอน ไนโตรเจน และแร่ธาตุอื่น ๆ
นอกจากนี้ป่าไม้ยังมีหน้าที่รักษาสมดุลของธรรมชาติ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ แต่ปัจจุบันป่าไม้ของประเทศไทยมีอัตราการลดลง โดยเกิดขึ้นจากสาเหตุ ดังนี้
1. การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่า
2. การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และเส้นทางคมนาคม ซึ่งจำเป็นต้องตัดไม้ในพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก
3. การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เกิดมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น
4. การเกิดไฟไหม้ป่าทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ ทำให้ต้นไม้ถูกทำลาย ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง 

ผลกระทบที่เกิดจากการทำลายป่าไม้
1. เกิดการชะล้างพังทลายของดิน ในบริเวณที่ป่าไม้ถูกทำลายเมื่อฝนตกจะทำให้กระแสน้ำพัดพาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปโดยง่าย
2. เกิดน้ำท่วมในฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาในบริเวณพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย น้ำจะไหลบ่าอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลันทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย
3. เกิดความแห้งแล้งในฤดูแล้ง การทำลายป่าทำให้ดินดูดซับและเก็บน้ำไว้ได้น้อยลงก่อให้เกิดความแห้งแล้ง
4. เกิดปัญหาโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่าทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในบรรยากาศ ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ได้
5. คุณภาพน้ำเสื่อมลง เมื่อฝนตกในบริเวณป่าที่ถูกทำลาย น้ำฝนจะพัดพาดินตะกอนลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินและขุ่นข้น คุณภาพของน้ำด้อยลงจนนำมาใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้
6. พืชและสัตว์ป่ามีจำนวนและชนิดลดลงถึงขั้นสูญพันธุ์ การตัดไม้ทำลายป่าทำให้พืชและสัตว์ป่าหลายชนิดลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไป

แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
1. กำหนดนโยบายป่าแห่งชาติ โดยกำหนดแนวทางการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรป่าให้มีพื้นที่ป่าอย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด
2. เพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกการยึดครองพื้นที่และการตัดไม้ทำลายป่า
3. ส่งเสริมการศึกษาให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญป่าไม้ และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้



ปัญหาจากการใช้พลังงาน
แหล่งกำเนิดพลังงานมาจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป พลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป ซึ่งนอกจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานแล้ว การใช้พลังงานประเภทต่างๆยังก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะต่าง ๆ ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้



– ผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม การเผาไหม้ปิโตรเลียมก่อให้เกิดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ฝุ่นละออง และเขม่าต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ
– ผลกระทบจากการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือในอุตสาหกรรมทำให้เกิดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) สารประกอบไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจนและกำมะถัน ที่ทำให้เกิดภาวะเป็นกรดต่อสิ่งแวดล้อม
– ผลกระทบจากการใช้พลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องมีการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ จึงเกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นจำนวนมาก
– ผลกระทบจากการใช้พลังงานลม การสร้างกังหันลมที่มีใบพัดขนาดใหญ่เพื่อเปลี่ยนพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าก่อเกิดมลพิษทางเสียง
– ผลกระทบจากการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ ทำให้เกิดการระเหยของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ซึ่งอันตรายต่อระบบหายใจ และทำให้เกิดไอน้ำร้อนตกค้างในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณใกล้เคียงได้

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติระดับโลก
การทำลายชั้นโอโซนของบรรยากาศ
โอโซน (ozone)
ทำหน้าที่ดูดซับและกรองพลังงานจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ผ่านลงมาสู่พื้นผิวโลกมากจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะUVB (ความยาวคลื่น 280–315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 200–280 นาโนเมตร)
ในปัจจุบันโอโซนในชั้นบรรยากาศลดปริมาณลง เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่ปริมาณชั้นโอโซนของบรรยากาศลดลง
สาเหตุของการทำลายชั้นโอโซนเกิดจากสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon: CFC) ซึ่งเป็นสารที่สามารถกระจายขึ้นไปยังบรรยากาศชั้นโอโซน เมื่อถูกแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์จะสลายตัวได้อะตอมของคลอรีนที่สามารถเปลี่ยนโอโซนให้เป็นคลอรีนออกไซด์ (ClO) และแก๊สออกซิเจน ซึ่งไม่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตไว้ได้
ผลกระทบจากการทำลายชั้นโอโซนของบรรยากาศ
การทำลายชั้นโอโซนของบรรยากาศทำให้ UVB เข้ามาสู่โลกได้มากขึ้น เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ผลกระทบต่อมนุษย์ ทำให้ตาพร่า ภูมิคุ้มกันโรคลดลง และเป็นโรคมะเร็งที่ผิวหนัง
2. ทำให้บรรยากาศที่ผิวโลกร้อนขึ้น น้ำในมหาสมุทรจะขยายตัว ทำให้เกิดน้ำท่วม
3. ผลกระทบที่เกิดกับพืชและสัตว์ ทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ลดลง
4. รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถทำปฏิกิริยากับสารเคมีทำให้เกิดแก๊สพิษขึ้นในระดับใกล้พื้นโลก

ปรากฏการณ์เรือนกระจก
ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) เกิดจากการที่รังสีหรือความร้อนถูกกักเก็บไว้ในบรรยากาศโดยแก๊สเรือนกระจก ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดภาวะโลกร้อน (global warming)
ในภาวะปกติ เมื่อรังสีจากดวงอาทิตย์ส่องลงมายังโลก รังสีอัลตราไวโอเลตบางส่วนจะถูกดูดกลืนไว้ในชั้นโอโซน และบางส่วนสะท้อนไปในบรรยากาศ ส่วนรังสีที่ส่องลงมาที่ผิวโลกจะถูกใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ บนโลก เช่น การระเหยของน้ำ และการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช บางส่วนที่ส่องลงมายังพื้นผิวโลกซึ่งฝุ่นละออง ไอน้ำ และแก๊สชนิดต่าง ๆ จะดูดกลืนไว้ ทำให้โลกอุ่นขึ้น แล้วจะสะท้อนกลับออกไปในรูปของรังสีอินฟราเรดหรือความร้อน
ปัจจุบันชั้นบรรยากาศโลกมีปริมาณแก๊สบางชนิดมากเกินสมดุลของธรรมชาติ เมื่อพื้นผิวโลกคายรังสีอินฟราเรดขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แก๊สเหล่านี้จะดูดกลืนรังสีอินฟราเรดเอาไว้แล้วคายความร้อน ทำให้พื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น เราเรียกแก๊สที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเหล่านี้ว่า แก๊สเรือนกระจก (greenhouse gases)



ผลกระทบจากปรากฏการณ์เรือนกระจก
1. ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
2. ทำให้ธารน้ำแข็งละลายจนระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น
3. ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศและพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม
4. ระบบนิเวศของโลกถูกทำลาย เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สัตว์และพืชปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจก
1. ใช้สารเคมีในบ้านเรือนและสารเคมีในการเกษตรด้วยความระมัดระวัง และใช้เท่าที่จำเป็น
2. หมั่นตรวจดูเครื่องยนต์ของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพดี ไม่เกิดควันดำและแก๊สพิษ
3. ควบคุมให้โรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งระบบกำจัดสารที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ
4. ควบคุมการก่อสร้าง การโม่หิน โดยมีวิธีการป้องกันและกำจัดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น
5. กำจัดขยะและของเสียจากแหล่งชุมชนอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการเผาขยะและสารพิษต่าง ๆ



ตอนที่ 2 การพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตของอุตสาหกรรม การส่งเสริมการบริโภคของประชากรให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการเร่งให้นำทรัพยากรมาใช้อย่างรวดเร็วจนเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงให้ความสนใจกระบวนการ ที่เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินขีดจำกัด ทำให้ประเทศต่าง ๆ จัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อไม่ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและมีการพัฒนาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development)
หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ความสามารถในการพัฒนาของคนรุ่นต่อไปในอนาคตเสียหาย เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโดยเน้นความสมดุลใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 
มิติด้านเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างมีคุณภาพ โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ไม่สร้างมลพิษ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
มิติด้านสังคม เป็นการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ มีจิตสำนึก และมีวิธีการดำรงชีวิตที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ มีสิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง
มิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขอบเขตที่คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และสามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้มากที่สุด
ดังนั้นการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม จะต้องมีการวางแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสม และคำนึงถึงสภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ 

หลักการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถสรุปได้ 3 ประการ ดังนี้
1. รักษาและกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยไม่ผูกขาดเฉพาะรูปแบบที่ถูกต้องหรือสมบูรณ์ที่สุดของวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม เพียงแนวทางใดแนวทางหนึ่งเท่านั้น
2. ดำเนินการพัฒนาหรือสร้างระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาสิ่งแวดล้อมและอนาคตของชุมชนและประเทศเข้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจ
3. ต้องแสวงหาแนวทางที่มีความเห็นร่วมกันบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม
แนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 
1. การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินการดังนี้

1) อนุรักษ์สสารและวงจรการหมุนเวียน (conservation of matter and circulation) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของธรรมชาติ
2) จำกัดการปล่อยของเสีย เพื่อรักษาสมดุลความสามารถของธรรมชาติ ให้สามารถจัดการกับของเสียได้เอง
3) รักษาความหลากหลายของระบบนิเวศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน เพื่อควบคุมความสามารถในการสร้างผลผลิตของธรรมชาติไว้ 
2. การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควรดำเนินการดังนี้
1) ทำให้เกิดความยุติธรรม โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ใครทำคนนั้นต้องรับผิดชอบ และใครทำคนนั้นต้องจ่าย” และให้การชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหา
2) มีมาตรการชดเชยให้แก่การผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ที่สร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจมีผลกำไรน้อยในระบบธุรกิจ
3) กระจายสิทธิและรับรองสิทธิในการใช้ทรัพยากรให้แก่กลุ่มคนในสังคมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองทรัพยากรไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
4) ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมและกระตุ้นการหมุนเวียนการใช้ผลผลิตที่เลิกใช้แล้ว และหาวิธียืดอายุผลิตภัณฑ์ 
3. การหลีกเลี่ยงความล้มเหลวของกลไกรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยการปฏิบัติดังนี้
1) ใช้กลไกการตลาดตามระบบปกติ และรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเมือง
2) ส่งเสริมเจตคติที่ดีของสังคมต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
3) ยึดหลักความยุติธรรมในสังคม เช่น ใครต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องจ่ายเงินตามมูลค่าที่เป็นจริงของทรัพยากรนั้น ๆ และป้องกันไม่ให้มีระบบผูกขาด 

4. การรักษาทางเลือกสำหรับอนาคต โดยการปฏิบัติดังนี้
1) หลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเทคนิคที่อาจมีผลกระทบ ให้ตัดสินใจอย่างรอบคอบโดยการค้นคว้าหาข้อมูลที่เพียงพอ
2) เพิ่มความหลากหลายทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากความหลากหลายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวให้ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่อาจจะมีขึ้น
3) รักษามาตรการทางการเงินให้สะท้อนความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจ และให้มีเสถียรภาพ 

5. หยุดการเจริญเติบโตของประชากร ด้วยการให้การศึกษา หรือการขยายระบบการศึกษา ตลอดจนแนะนำให้ครอบครัวมีลูกหลานได้ตามความสามารถในการเลี้ยงดูได้อย่างมีคุณภาพ 
6. กระจายความมั่งคั่งและมั่นคงให้แก่กลุ่มคนที่ยากจน เพราะกลุ่มคนยากจนจะสนใจปัญหาเรื่องปากท้องมากกว่าเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นควรดำเนินการกระตุ้นการกระจายความมั่งคั่งแก่คนกลุ่มนี้
7. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีวิธีการดังนี้
1) ประหยัดและลดการใช้พลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และแสวงหาพลังงานทดแทน
2) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติให้แก่คนในชุมชน เพื่อให้เห็นคุณค่าและเกิดจิตสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
3) เปลี่ยนพฤติกรรมในการอุปโภคบริโภค เพื่อลดและนำขยะมูลฝอยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนี้ 


การลดการใช้ (reduce) เป็นการลดปริมาณขยะมูลฝอย ลดปริมาณวัสดุ และลดความเป็นพิษโดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
การใช้ซ้ำ (reuse) เป็นการนำเศษขยะหรือเศษวัสดุมาใช้ใหม่อีก ก่อนที่จะทิ้งหรือเลือกใช้ของใหม่
การซ่อมแซม (repair) เป็นการนำวัสดุอุปกรณ์ที่ชำรุดซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่
การหลีกเลี่ยง (reject) เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่สลายตัวยาก และหลีกเลี่ยงการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การนำถุงพลาสติกชนิดที่ไม่ทนความร้อนมาใช้ใส่อาหารที่ร้อน ก่อเกิดอันตรายต่อสุขภาพ
การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เป็นการแปรรูปขยะตามกระบวนการของแต่ละประเภท เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพจากเดิมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
การใช้สินค้าชนิดเติม (refill) เป็นการเลือกใช้สินค้าชนิดเติมที่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยชิ้นกว่า
การใช้สินค้าชนิดส่งคืน (return) เป็นการเลือกใช้สินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้

สาระสำคัญประจำหน่วย
ตอนที่ 1 ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
1. สาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
คือ การเพิ่มจำนวนประชากร การขยายตัวของเมือง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศธรรมชาติ
2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น เช่น ปัญหามลพิษทางน้ำ ปัญหามลพิษทางดิน และปัญหามลพิษ จากขยะมูลฝอย ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ เช่น ปัญหาการทำลายป่า และปัญหาจากการใช้พลังงาน
3. ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศจะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น การทำลายชั้นโอโซนของบรรยากาศ และปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
4. การแก้ไขสิ่งแวดล้อมในควรเริ่มต้นจากระดับบุคคลไปสู่การสร้างความร่วมมือในระดับที่สูง โดยสร้างความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อนำไปสู่วิธีการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ตอนที่ 2 การพัฒนาที่ยั่งยืน
1. การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ความสามารถในการพัฒนาของคนรุ่นต่อไปเสียหาย และคำนึงถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นสร้างความสมดุลใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2. หลักการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ดำเนินการพัฒนาหรือสร้างระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาสิ่งแวดล้อมและเวลาในอนาคตเข้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจ และแสวงหาแนวทางที่มีความเห็นร่วมกันบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม
3. แนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ให้การศึกษาแก่ประชาชน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคเพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและปริมาณขยะ

Key word ตอน 1
DO ปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ
BOD ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ
COD ปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำ
ชั้นโอโซน ชั้นบรรยากาศที่ช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์
ปรากฏการณ์เรือนกระจก ปรากฏการณ์ที่รังสีหรือความร้อนถูกกักเก็บไว้ในบรรยากาศโดยแก๊สเรือนกระจกทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น
Key word ตอน 2
การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยทำให้ความสามารถในการพัฒนาของคนรุ่นต่อไปเสียหายและคำนึงถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อม


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th