บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 67.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 


ตอนที่ 1 ระบบนิเวศ

ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เรียกว่า ระบบนิเวศ (ecosystem) การรวมกันขนาดใหญ่ของระบบนิเวศหลากหลายระบบเรียกว่า ชีวภาคหรือโลกของสิ่งมีชีวิต (biosphere) ระบบนิเวศแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น

ระบบนิเวศธรรมชาติ
ระบบนิเวศธรรมชาติ คือระบบที่ธรรมชาติมีบทบาทในกระบวนการต่าง ๆ และอาศัยพลังงานจากดวงอาทิตย์ในกระบวนการทำงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ระบบนิเวศบนดิน
ระบบนิเวศบนดิน (terrestrial ecosystem) เป็นระบบนิเวศที่มีส่วนประกอบและกระบวนการต่าง ๆ เกิดขึ้นบนพื้นดิน มีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
– ระบบนิเวศทุนดรา พบบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น ฝนตกเล็กน้อย มีชั้นน้ำแข็งปกคลุมผิวดินเกือบตลอดปี
– ระบบนิเวศป่าผลัดใบเขตอบอุ่น พบบริเวณที่มีฤดูร้อนและฤดูหนาวสลับกัน มีดินอุดมสมบูรณ์ พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี
– ระบบนิเวศทุ่งหญ้า พบบริเวณคาบเกี่ยวระหว่างทะเลทรายกับป่าเขตอบอุ่น เป็นทุ่งหญ้าในที่ราบ มีเนินได้เล็กน้อย
– ระบบนิเวศป่าดิบชื้น พบบริเวณที่มีฝนตกหนัก ความชื้นสูง และมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาศัยอยู่ด้วยกัน
– ระบบนิเวศทะเลทราย พบบริเวณที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 0–50 องศาเซลเซียส มีฝนตกเล็กน้อย มีสภาพแห้งแล้งและอากาศร้อน พืชที่อาศัยอยู่ต้องปรับตัวเพื่อดำรงชีวิต


    


ระบบนิเวศแหล่งน้ำ
ระบบนิเวศแหล่งน้ำ (aquatic ecosystem)
เป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยกระบวนการทำงานและส่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดชนิดของระบบนิเวศ
– ระบบนิเวศน้ำจืด เป็นระบบนิเวศที่ไม่มีความเค็ม เมื่อใช้ความเร็วของกระแสน้ำเป็นเกณฑ์จะแบ่งได้เป็นแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำไหล
– ระบบนิเวศน้ำเค็ม พบในส่วนที่เป็นทะเลและมหาสมุทรต่าง
– ระบบนิเวศน้ำกร่อย เป็นระบบนิเวศที่มีความเค็มของเกลือประมาณ 1–35 ส่วน ใน 1,000 ส่วนของน้ำ เป็นบริเวณที่มีแร่ธาตุและสารอาหารอุดมสมบูรณ์ มีแสงแดดส่องถึง เหมาะต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต พบตามป่าชายเลนและปากแม่น้ำของประเทศในเขตร้อนแถบศูนย์สูตร


    


ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น
ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นระบบนิเวศที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมหรือทดแทนธรรมชาติในกระบวนการต่าง ๆ จำแนกออกเป็น 2 ระบบ คือ
1. ระบบนิเวศกึ่งธรรมชาติหรือระบบนิเวศชนบท–เกษตรกรรม เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต การหมุนเวียนของพลังงานและสารอาหาร
2. ระบบนิเวศเมืองและอุตสาหกรรม เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์มีส่วนร่วมหรือแทนที่โดยนำวัตถุดิบจากระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศกึ่งธรรมชาติมาแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อใช้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์



องค์ประกอบของระบบนิเวศ
องค์ประกอบทางชีวภาพ (biological components) หรือองค์ประกอบที่มีชีวิต จำแนกตามหน้าที่ในระบบนิเวศดังนี้
1. ผู้ผลิต (producer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้เองโดยการสังเคราะห์แสง
2. ผู้บริโภค (consumer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ ต้องบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่น เพื่อรับสารอาหารและพลังงาน ได้แก่
– ผู้บริโภคพืช (herbivore) คือ สิ่งมีชีวิตที่กินพืชเป็นอาหาร จัดเป็นผู้บริโภคอันดับ 1 เพราะได้รับถ่ายทอดพลังงานจากพืชโดยตรง
– ผู้บริโภคสัตว์ (carnivore) คือ สิ่งมีชีวิตที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร
– ผู้บริโภคทั้งพืชและสัตว์ (omnivore) คือ สิ่งมีชีวิตที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร
– ผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์ (scavenger) คือ สิ่งมีชีวิตที่กินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร
3. ผู้ย่อยสลายอินทรียสาร (decomposer) คือ สิ่งมีชีวิตที่ย่อยสลายซากให้กลายเป็นแร่ธาตุกลับลงสู่ดินและน้ำ 

องค์ประกอบทางกายภาพ (physical components) หรือองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ อินทรียสาร อนินทรียสาร สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต
สภาพแวดล้อมที่มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตนั้นๆภายในระบบนิเวศ เรียกว่า ปัจจัยจำกัด (limiting factor) เช่น
1. แสงสว่าง พืชใช้แสงในการสังเคราะห์แสง และแสงสว่างเป็นตัวกระตุ้นให้สัตว์กลางวันออกหากิน
2. อุณหภูมิ นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกว่า
3. แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สออกซิเจน พืชใช้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง และสัตว์ใช้แก๊สออกซิเจนในการหายใจ
4. แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจน โพแทสเซียม จำเป็นการเจริญเติบโต และกระบวนการเมแทบอลิซึมของพืช
5. น้ำหรือความชื้น น้ำเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์แสง และใช้เป็นตัวทำละลายสารบางชนิดทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ในร่างกาย
6. ความเป็นกรด–เบส พืชแต่ละชนิดเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความเป็นกรด-เบสต่างกัน 
7. สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศ เช่น ความสูงของพื้นที่ที่แตกต่างกันทำให้องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตแต่ละพื้นที่ต่างกัน 

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยร่วมกันในระบบนิเวศ
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีผลดี คือ ช่วยลดอัตราการล่าจากศัตรู เพิ่มโอกาสในการแพร่ขยายพันธุ์ ส่วนผลเสีย คือ อาจเกิดการแย่งอาหารกันได้

ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกัน 
  1. ภาวะพึ่งพากัน (mutualism)
เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิต 2 ชนิดได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยต้องอาศัยอยู่ร่วมกันจึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น รากับสาหร่าย (ไลเคน) และแบคทีเรียไรโซเบียมในปมรากถั่ว 

  2. ภาวะการได้รับประโยชน์ร่วมกัน (protocooperation) เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตต่างได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เช่น ดอกไม้กับแมลง และปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล

  3. ภาวะเกื้อกูลหรือภาวะอิงอาศัย (commensalism) เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งได้ประโยชน์ ส่วนสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งไม่เสียประโยชน์ เช่น กล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ และปลาฉลามกับเหาฉลาม

  4. ภาวะปรสิต (parasitism) เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตชนิดที่เสียประโยชน์ เรียกว่า ผู้ถูกอาศัย (host) และสิ่งมีชีวิตที่ได้ประโยชน์ เรียกว่า ปรสิต (parasite) เช่น การฝากบนต้นไม้ และพยาธิใบไม้ในตับ

  5. ภาวะการล่าเหยื่อ (predation) เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเสียประโยชน์ เรียกว่า เหยื่อ (prey) และสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งได้ประโยชน์ เรียกว่า ผู้ล่า (predator) เช่น เสือล่ากวาง และนกกินปลา
6. ภาวะเป็นกลาง (neutralism) เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เกิดขึ้นเมื่อคู่สัมพันธ์มีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น เต่ากับกระต่ายหาอาหารในบริเวณเดียวกัน
7. ภาวะมีการแก่งแย่ง (competition) เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันต้องแก่งแย่งปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การแย่งกันครอบครองอาณาเขต การแย่งอาหาร น้ำ และแสงแดด
8. ภาวะย่อยสลายซาก (saprophytism) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับซากของสิ่งมีชีวิต โดยผู้ย่อยสลายย่อยซากอินทรียสาร (decomposer) เป็นสารอนินทรีย์กลับสู่สิ่งแวดล้อม เช่น แบคทีเรีย เห็ด และรา 

กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันจะถ่ายทอดพลังงานจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคโดยการกินกันเป็นทอดๆ ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เรียกว่า โซ่อาหาร (food chain) เช่น

หญ้า ----------> ตั๊กแตน ---------->  กบ ---------->  งู ---------->  เหยี่ยว

ลำดับขั้นการกินอาหารในระบบนิเวศสามารถประกอบด้วยโซ่อาหารที่ซับซ้อน เรียกว่า สายใยอาหาร (food web) ดังรูป 1.4
การถ่ายทอดพลังงานในโซ่อาหารหรือสายใยอาหารแต่ละครั้งจะถูกถ่ายทอดไปยังผู้บริโภคลำดับถัดไปเพียงร้อยละ 10 ส่วนพลังงานอีกร้อยละ 90 จะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน
การถ่ายทอดพลังงานในโซ่อาหารอาจแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า พีระมิดพลังงานของสิ่งมีชีวิต (pyramid of energy) ซึ่งเป็นพีระมิดแสดงปริมาณพลังงานของแต่ละลำดับขั้นของการกิน โดยผู้ผลิตจะอยู่ในลำดับล่างสุด นอกจากนี้ยังสามารถแสดงในรูปของพีระมิดจำนวนของสิ่งมีชีวิต (pyramid of numbers) และพีระมิดมวลของสิ่งมีชีวิต (pyramid of mass) ได้อีกด้วย


    


แม้แต่สารปนเปื้อน เช่น สารกำจัดศัตรูพืชและโลหะหนัก ก็สามารถถ่ายทอดไปตามโซ่อาหารได้ซึ่งสารพิษดังกล่าวสิ่งมีชีวิตไม่มีกลไกที่จะขจัดออกทำให้สะสมอยู่ในโซ่อาหารและตกค้างในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารและแร่ธาตุพร้อมกับการถ่ายทอดพลังงาน ดังเช่นการหมุนเวียนของสารในระบบนิเวศป่าไม้ สารอาหารถูกถ่ายทอดจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคจนถึงผู้ย่อยสลายอิทรีย์สารซึ่งเปลี่ยนสารอินทรีย์เป็นสารอนินทรีย์ให้พืชนำไปใช้ใหม่



ตอนที่ 2 ประชากรและการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ

เมื่อองค์ประกอบทางกายภาพและชีวภาพในระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่อประชากรในระบบนิเวศนั้นได้

ประชากรและการเปลี่ยนแปลงขนาดประชากร
เมื่อสิ่งมีชีวิตประกอบกิจกรรมต่าง ๆ จะปล่อยสารบางอย่างกลับคืนสู่ธรรมชาติ ทำให้องค์ประกอบของระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิต
ประชากร (population) ในระบบนิเวศ หมายถึง สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน อาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่เดียวกัน ภายในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จำแนกได้ 4 ประการ ดังนี้
1. การเกิด (birth or natality) เป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร โดยจำนวนประชากรที่เกิดใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่เดิม เรียกว่า อัตราการเกิด
2. การตาย (death or mortality) เป็นการลดลงของจำนวนประชากร จำนวนประชากรที่ตายลงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่เดิม เรียกว่า อัตราการตาย
3. การอพยพเข้า (immigration) เป็นการเพิ่มจำนวนประชากร จากการย้ายเข้ามาอยู่ในแหล่งที่อยู่ใหม่
4. การอพยพออก (emigration) เป็นการลดจำนวนประชากร จากการย้ายออกจากแหล่งที่อยู่เดิม
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทำให้เกิดการแออัดของประชากรในบางพื้นที่ และเกิดความต้องการอาหารมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันปกป้องดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรใช้ต่อไปในอนาคต

กระบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่
ระบบนิเวศเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยเริ่มจากกลุ่มสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเข้าไปแทนที่อีกกลุ่มสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อยู่ก่อนเป็นลำดับๆ จนกระทั่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงแทนที่ของสิ่งมีชีวิต (succession) ซึ่งมี 2 ชนิด ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นปฐมภูมิ
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นปฐมภูมิ (primary succession) เกิดขึ้นในที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาก่อน โดยเกิดสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่เจริญขึ้น เรียกว่า กลุ่มสิ่งมีชีวิตเบิกนำ (pioneer species) ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เจริญและขยายพันธุ์ได้เร็ว เช่น ไลเคน ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด เมื่อเวลาผ่านไปอินทรียสารจากไลเคนที่ตายลงและแร่ที่เกิดจากการผุพังของก้อนหินก่อให้เกิดเนื้อดินเพิ่มขึ้น อินทรียวัตถุและความชื้นมากขึ้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของพืชชั้นต่ำ พืชพวกหญ้าไม้พุ่มไม้ยืนต้น จำนวนชนิด ของสัตว์เพิ่มขึ้น เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับแหล่งที่อยู่ ทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล เรียกกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่พบในสภาวะสมดุลนี้ว่า สังคมสิ่งมีชีวิตขั้นสุด (climax community)


      


สังคมสิ่งมีชีวิตขั้นสุดอาจเปลี่ยนแปลงได้จากสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมดุลธรรมชาติ แต่ถ้าสิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้นได้ ก็จะกลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้ง หรืออาจเกิดระบบนิเวศใหม่ขึ้น
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นทุติยภูมิ
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นทุติยภูมิ (secondary succession) เป็นพื้นที่ที่เคยมีสิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ แต่ถูกทำลายลง ทำให้มีการเริ่มต้นของกลุ่มสิ่งมีชีวิตใหม่ในลักษณะทุ่งหญ้าหรือวัชพืช แล้วเปลี่ยนแปลงแทนที่ด้วยไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น จนกระทั่งเกิดสิ่งมีชีวิตขั้นสุดอีกครั้งหนึ่ง



ระบบนิเวศในท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของชุมชนเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมิให้เกิดการรบกวนสมดุลในระบบนิเวศ จึงควรวางผังก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

สาระสำคัญประจำหน่วย
ตอนที่ 1 ระบบนิเวศ
1. ระบบนิเวศมีทั้งระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น
2. ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิต และสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อมเรียกว่า ระบบนิเวศ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบทางชีวภาพ องค์ประกอบทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
3. ในระบบนิเวศมีการหมุนเวียนพลังงาน สารอาหาร และแร่ธาตุ โดยสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ผลิตส่งต่อพลังงานให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้บริโภคร้อยละ10 ตามลำดับขั้น พลังงานที่เหลือจะสูญเสียให้กับสิ่งแวดล้อม
ตอนที่ 2 ประชากรและการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ
1. ประชากรคือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่เดียวกัน
2. เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้น มีการรุกล้ำพื้นที่ป่ามากขึ้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบนิเวศเมืองหรือเกษตรกรรม
3. ระบบนิเวศธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของประชากรสิ่งมีชีวิต โดยอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยมี สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยมาก่อน เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นปฐมภูมิ ส่วนการเปลี่ยนแปลงแทนที่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เคยมีสิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่แล้วถูกทำลายลง เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นทุติยภูมิ 

Key word ตอน 1
ระบบนิเวศ : ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่
ชีวภาคหรือโลกของสิ่งมีชีวิต : การรวมกันขนาดใหญ่ของระบบนิเวศหลากหลายระบบ
ผู้ผลิต : เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้เองโดยการสังเคราะห์แสง
ผู้บริโภค : เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ ต้องบริโภคสิ่งมีชีวิต
ผู้ย่อยสลายอินทรียสาร : สิ่งมีชีวิตที่ย่อยสลายซากให้กลายเป็นแร่ธาตุกลับลงสู่ดินและน้ำ
โซ่อาหาร : การถ่ายทอดพลังงานจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคโดยการกินกันเป็นทอดๆ
สายใยอาหาร : การรวมกันของห่วงโซ่อาหารหลายๆห่วงโซ่ที่มีความสัมพันธ์กัน

Key word ตอน 2
ประชากร : สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน อาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่เดียวกัน ภายในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นปฐมภูมิ : การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาก่อน
กลุ่มสิ่งมีชีวิตาเบิกนำ : สิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่เจริญขึ้นในที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาก่อน
สังคมสิ่งมีชีวิตขั้นสุด : กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่พบในระบบนิเวศที่มีสภาวะสมดุล
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ขั้นทุติยภูมิ : เริ่มต้นของกลุ่มสิ่งมีชีวิตใหม่บนพื้นที่ที่เคยมีสิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ แต่ถูกทำลายลงไปแล้ว


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th