บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง สร้างสรรค์งานสวยด้วยเอกลักษณ์ไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 63.3K views




ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



รู้จักงานเอกลักษณ์ไทย
คุณค่าของงานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
มีประโยชน์ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตดังนี้



ประเภทของงานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
1. งานดอกไม้สด แบ่งเป็น 4 ประเภท
1) ดอกไม้พุ่ม คือ การจัดดอกไม้ลงในภาชนะ โดยมีแกนเป็นโครงหุ่น ปั้นหรือเหลาให้เป็นท่อนกลม ใช้ไม้กลัดเสียบดอกไม้ปักติดกับแกน มีใบไม้แซมเพื่อความสวยงาม แล้วจัดให้ได้ทรงพุ่มตามต้องการ
2) มาลัย คือ การร้อยดอกไม้เป็นพวง ด้วยการใช้ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ
3) เครื่องแขวน คือ เครื่องดอกไม้ที่ใช้แขวนประดับประตู หน้าต่าง หรือกลางห้องในพิธีต่าง ๆ



2. งานใบตอง เป็นงานประดิษฐ์ที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยคนไทยในสมัยก่อนนิยมนำใบตองมาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร จนถึงปัจจุบันก็ยังคงใช้สำหรับห่อขนม หรือใช้ในพิธีแบบประเพณีไทยในงานต่าง ๆ



3. งานแกะสลัก เป็นการแกะหรือสลักลายให้เกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ลงบนพื้นผิววัสดุ ได้แก่
1) งานแกะสลักของอ่อน ผักสด และผลไม้ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่มีความประณีต ละเอียด มักพบในงาน พิธีกรรม งานแสดงศิลปะ และงานจัดเลี้ยงต่าง ๆ ส่วนใหญ่นิยมทำเพื่อนำไปประดับตกแต่งอาหาร จานผักสด เครื่องจิ้ม หรือจัดพาน

 

 

2) งานแกะสลักไม้เนื้ออ่อน เป็นการใช้เครื่องมือต่างๆ สลักลายลงบนเนื้อไม้เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายที่ต้องการ ส่วนใหญ่ทำในสถานที่สำคัญ
4. งานเครื่องปั้นดินเผา ในระยะแรกการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาจะมีรูปแบบที่เรียบง่าย ต่อมาได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิก และประดิษฐ์เป็นชิ้นงานที่มีความหลากหลาย

 


5. งานจักสาน เป็นงานที่ใช้วัสดุซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ มาสาน ทอ หรือถักให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม และนำมาใช้ประโยชน์แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและสวยงามมากขึ้น

 


ข้อควรคำนึงในการทำงานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
1. ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานประดิษฐ์ที่สนใจ จากแหล่งต่าง ๆ หรือศึกษาจากสถานที่ที่เปิดสอน เช่น ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร วิทยาลัยในวัง ศูนย์แสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น
2. การนำชิ้นงานไปใช้ให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานที่ เช่น เครื่องแขวนดอกไม้สดนิยมใช้แขวนตามเพดาน ช่องประตู หน้าต่าง และม่านแหวก เป็นการอนุรักษ์งานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทยให้เยาวชนไทยได้ทราบว่างานประดิษฐ์ดังกล่าวใช้เนื่องในโอกาสใด สถานที่ใด และใช้เพื่อประโยชน์อะไร 
3. การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ แต่ละชนิดจะใช้วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่แตกต่างกัน การเตรียมจะช่วยให้ชิ้นงานมีคุณภาพและสวยงามตามต้องการ 
4. ความปลอดภัยในการทำงาน เครื่องมือบางอย่างอาจทำให้บาดเจ็บได้

หลักการออกแบบงานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
หากประดิษฐ์ชิ้นงานเพื่อการค้าต้องมีหลักในการออกแบบดังต่อไปนี้
1. ความต้องการของผู้บริโภค ต้องคิดออกแบบให้มีความสวยงาม แปลกตาและน่าสนใจ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
2. หน้าที่ใช้สอยของผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
3. คุณภาพของผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ ต้องคำนึงถึงความคงทนแข็งแรง และอายุการใช้งาน
4. วัสดุและกระบวนการผลิต ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต ควรพิจารณาเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต เพื่อเป็นการประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการผลิต
5. คุณค่าทางความงามของงานประดิษฐ์ ควรคำนึงถึงความงามเด่นชัด ร่วมสมัย ประณีตบรรจงและมีความคิดสร้างสรรค์

งานประดิษฐ์ของใช้ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย
งานดอกไม้สด
ประเภทของมาลัย แบ่งตามหน้าที่ใช้สอยได้ 3 ประเภท ดังนี้
1) มาลัยชำร่วย คือ มาลัยขนาดเล็ก มีลักษณะชายเดียวผูกโบ และอุบะ 2 ขา ใช้สำหรับเป็นของชำร่วย เพื่อขอบคุณแขกที่มาร่วมในงานพิธีมงคลสมรสและงานพิธีอื่น ๆ

 


2) มาลัยชายเดียว คือ มาลัยที่มีลักษณะกลม มีอุบะห้อยอยู่ชายเดียวบางทีเรียกว่า มาลัยข้อมือ มาลัยมือ มาลัยคล้องแขน ใช้สำหรับการบูชาพระหรือตกแต่งสถานที่

 


3) มาลัยสองชาย คือมาลัย 2 เส้น ผูกต่อกันด้วยโบ ส่วนชายผูกอุบะแขกข้างละเท่า ๆ กันทัง 2 ข้าง มาลัยชนิดนี้ถ้าใช้ในการมงคลสมรส เรียกว่า มาลัยบ่าวสาว ถ้าผูกโบสีดำใช้สำหรับแขวนประดับรูปผู้ตายในงานฌาปนกิจ

 


ส่วนประกอบของมาลัย โดยทั่วไปมาลัยมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

 


1) ตัวมาลัย คือ ส่วนที่อยู่ตรงกลางมาลัย
2) อุบะ คือ ส่วนที่ตกแต่งตัวมาลัยเพื่อเพิ่มความสวยงาม
3) มาลัยซีก คือ มาลัยชนิดหนึ่ง มีลักษณะรูปทรงตามขวางเพียงเสี้ยวหนึ่งถึงครึ่งวงกลมสำหรับนำไปผูกรัดเป็นมาลัยลูกโซ่ หรือสำหรับผูกปิดรอยต่อของตัวมาลัยกับอุบะเพื่อให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น
4) ริบบิ้นหรือโบ คือ ส่วนที่ผูกติดกับมาลัยสำหรับคล้องคอ หรือแทนหูหิ้ว มักใช้กับมาลัยสองชาย

วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ มีดังนี้
1) ดอกไม้
2) ใบไม้
3) เข็มมาลัยและด้าย มี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กและใหญ่ ใช้กับด้ายขนาดเดียวกัน
4) วาสลีน ใช้สำหรับทาเข็มมาลัยก่อนร้อย และก่อนจะรูดมาลัยออกจากเข็ม
5) กรรไกร ขนาดเล็กปลายแหลมใช้ตัดกลีบดอกไม้และใบไม้ ส่วนขนาดกลางใช้ตัดใบตองและด้าย
6) คีม ใช้สำหรับจับเข็มมาลัยขณะที่รูดมาลัยออกจากเข็ม
7) ฉีดน้ำ ใช้สำหรับพรมดอกไม้และใบไม้เพื่อไม่ให้เหี่ยว
8) ผ้าขาวบาง ใช้สำหรับคลุมดอกไม้เพื่อให้สดอยู่ได้นาน

การร้อยมาลัยกลม
มีขั้นตอนการร้อยตามกระบวนการทำงานดังนี้

1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะของงาน เป็นการร้อยดอกไม้ทีละดอกหรือทีละกลีบจนรอบเข็ม
มาลัย ทุกแถวมีจำนวนดอกหรือกลีบเท่ากัน นิยมใช้จำนวนดอกหรือกลีบเป็นเลขคู่ โดยเริ่มจากแถวละ 6 กลีบ 8 กลีบ 10 กลีบ จนถึง 12 กลีบ ดอกไม้ที่นิยมนำมาร้อย ได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกพุด ดอกมะลิ รายละเอียดที่จะต้องศึกษาได้แก่ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ วิธีการร้อยและการนำไปใช้ประโยชน์
คุณสมบัติของผู้ร้อยมาลัย ควรเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการร้อยมาลัยประเภทต่าง ๆ ชนิดของดอกไม้ที่เหมาะจะนำมาร้อยมาลัย มีความประณีต ละเอียด และใจเย็น
2. การวางแผนในการทำงาน ขั้นตอนนี้อาจนำแผนที่ความคิดมาช่วยประกอกการวางแผนดังนี้

 


3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน มีวิธีดังนี้
การร้อยตัวมาลัย มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

 





 

(1) เตรียมดอกพุดที่มีขนาดเท่ากัน ทาเข็มมาลัยด้วยวาสลีน
(2) แถวที่ 1 นำดอกพุด 2 ดอก ร้อยเรียงกันในลักษณะที่ไม่เกินครึ่งวงกลม
(3) แถวที่ 2 นำดอกพุด 1 ดอก ร้อยสับหว่างดอกพุดดอกที่ 1 และ 2 ของแถวที่ 1 แล้ว แถวต่อๆไปร้อยเหมือนแถวที่ 1 สลับกับแถวที่ 2 จนได้ความยาวตามต้องการ และเวลาจบควรจบด้วยดอกพุด 1 ดอกเสมอ เพื่อเวลาผูกต่อกันจะได้ลงลายพอดี

2) มาลัยซีกเจ็ดหลัก (4-3)
(1) เตรียมดอกพุดที่มีขนาดเท่ากัน ทาเข็มมาลัยด้วยวาสลีน
(2) แถวที่ 1 นำดอกพุด 4 ดอก ร้อยเรียงกันในลักษณะที่ไม่เกินครึ่งวงกลม
(3) แถวที่ 2 นำดอกพุด 3 ดอก ร้อยสับหว่ากับแถวที่ 1 แถวต่อ ๆ ไปร้อยเหมือนแถวที่ 1 สลับกับแถวที่ 2 จนได้ความยาวตามต้องการ และเวลาจบควรจบด้วยดอกพุด 3 ดอกเสมอ เพื่อเวลาผูกต่อกันจะได้ลงลายพอดี
การร้อยอุบะ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้


 

1) เลือกดอกรักให้มีขนาดใหญ่และเล็ก ลดหลั่นกันตามลำดับ 7 ขนาด
2) ร้อยดอกกุหลาบเป็นตุ้ม ตามด้วยดอกรัก 7 ดอก ขนาดใหญ่และเล็กตามลำดับ จะได้อุบะ 1 ขา
3) ร้อยอุบะให้ได้ 7 ขา แล้วนำมาผูกรวมกันเป็นพวงโดยให้ตุ้มดอกกุหลาบของอุบะแต่ละพวกอยู่ในระดับเดียวกัน

การประกอบพวงมาลัยกลม มีวิธีการปฏิบัติดังนี้




4. การประเมินผลการทำงาน หากพบว่ามาลัยที่ร้อยไม่สวยงาม เช่น ระยะห่างของแต่ละดอกไม่เท่ากัน ให้ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยจัดกระยะห่างของแต่ละดอกให้เท่ากันจนกระทั่งเป็นที่พอใจ
การเก็บรักษามาลัย เพื่อให้ดูสวยสดอยู่ได้นานสามารถเก็บรักษาด้วยวิธีการดังนี้
1. เก็บโดยวางมาลัยในถาดที่รองด้วยใบตอง แล้วคลุมด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาด เก็บไว้ในที่เย็นแต่ลมไม่โกรก วิธีนี้เก็บมาลัยได้ในระยะเวลาไม่นานมากนัก
2. เก็บโดยใส่มาลัยไว้ในถุงพลาสติก วิธีนี้เก็บมาลัยได้นานกว่าวิธีแรก
3. เก็บโดยใส่มาลัยในถุงพลาสติก แล้วเก็บไว้ในช่องผักสดของตู้เย็น วิธีนี้เก็บได้นานหลายชั่วโมง

งานใบตอง
การเลือกใบตองมาใช้ในงานประดิษฐ์มีหลักปฏิบัติ ดังนี้
1. เลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานประดิษฐ์ เช่น ถ้าจะห่อขนม นิยมให้ใบตองกล้วยน้ำว้า เพราะสีไม่ตก ไม่ทำให้รสชาติหรือสีของอาหารเปลี่ยนไป และหาได้ง่าย ถ้าจะประดิษฐ์เป็นภาชนะใส่อาหาร นิยมใช้ใบตองกล้วยตานีเพราะมีช่วงใบยาว มีความเหนียวและไม่แตกง่าย
2. การเลือกใบตองควรเลือกใบที่ไม่ด่าง ไม่มีรอยฉีกขาด เนื้อใบนุ่ม สดกรอบมีสีเขียวเข้มตลอด และใบไม่อ่อนหรือแก่เกินไป (ถ้าใบอ่อนเกินไปจะเหี่ยวง่ายและถ้าใบแก่เกินไปจะแข็ง กรอบ และแตกง่าย)

การประดิษฐ์บายศรีปากชาม
บายศรีปากชาม คือ เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในชามบายศรี และมีไข่ขวัญ เสียบอยู่บนยอด มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในพิธีต่าง ๆ

การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ได้แก่
1. ใบตองตานี                 7. ไข่ต้ม 1 ฟอง
2. เข็ม                          8. แตงกวา 1 ผล
3. ไม้กลัด                      9. กล้วยน้ำว้า 1 ผล
4. มีด                           10. ข้าวสุกปากหม้อ 3-4 ถ้วยตวง
5. กรรไกร                      11. ชามปากกว้างประมาณ 5 นิ้ว
6. ด้ายสีเขียว                 12. มาลัยตุ้ม
                                  13. ดอกพุดตูมประมาณ 30 ดอก และดอกรักประมาณ 7 ดอก

ลงมือประดิษฐ์บางศรีปากชาม มีวิธีการดังนี้
การเตรียมใบตอง
1) การตัดใบตอง วัดเส้นรอบวงของปากภาชนะที่จะใช้ หาร 3 ผลลัพธ์คือความกว้างฐานบายศรี
2) การฉีกใบตอง เช็ดใบตองให้สะอาดแล้วฉีกเป็นชิ้นส่วน ดังนี้
(1) ตัวแม่ กว้างประมาณ 9 เซนติเมตร และยาวตลอดใบตอง แล้วตัดปลายทั้ง 2 ข้างออกให้เรียบร้อย จะได้ใบตองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3 แผ่น
(2) ตัวลูก จำนวนตามต้องการ โดยกว้างประมาณ 6-7 เซนติเมตร แล้วตัดปลายสองข้างให้เรียบร้อยเช่นเดียวกับตัวแม่
(3) ผ้านุ่ง เท่าจำนวนตัวแม่และลูกรวมกัน โดยกว้างประมาณ 9 เซนติเมตร
(4) กรวย ใช้ใบตองซึ่งมีช่วงใบยาวและกว้างประมาณ 15–20 เซนติเมตร จำนวน 2 แผ่น
(5) ตัวแมงดา กว้างประมาณ 9 เซนติเมตร จำนวน 1 แผ่น

การประดิษฐ์ตัวแม่ ตัวลูก ตัวแมงดา และกรวย
1) การประดิษฐ์ตัวแม่ จับใบตองทางอ่อนด้วยมือซ้าย และจับใบตองทางแข็งด้วยมือขวาม้วนมาทางซ้ายมือให้เป็นรูปกรวย แน่น เป็นยอดแหลม แล้วให้มือรีดข้างใบตองเพียงครั้งเดียวอย่าให้ถึงยอดแหลม จากนั้นใช้ไม่กลัดกลัดไว้ ทำเช่นนี้จนครบ 3 ตัว

 

 

2) การประดิษฐ์ตัวลูก จับใบตองทางแข็งด้วยมือซ้าย พับไพล่มาทางขวามาก ๆ ให้เกินครึ่ง
แล้วใช้มือขวาพับริมอ่อนทางขวามาทางซ้าย 2 ครั้ง ให้รอยพับอยู่ตรงกลางพอดี รีดข้างใบตองเพียงครั้งเดียว จากนั้นใช้ไม้กลัดกลัดไว้ ทำเช่นนี้จนครบ 18 ตัว

 

 

3) การประดิษฐ์ตัวแมงดา พับกลางตามยาวของใบตองแล้วใช้มีดเจียนริมใบตองทางอ่อนให้มนเหมือนตัวแมงดา และทางด้านแข็งเป็นหาง ส่วนที่เป็นตัวเจาะเป็นลวดลายให้สวยงาม

 

 

4) การประดิษฐ์กรวย ใช้ใบตอง 2 ชิ้นซ้อนกัน หันด้านมันออก จับด้านแข็งด้วยมือขวาม้วนไปทางด้านซ้ายมือให้เป็นรูปกรวย ปากกรวยกะให้วางลงในระหว่างตัวบายศรีพอดี ส่วนสูงกะให้พ้นตัวบายศรีเล็กน้อย แล้วเย็บตรึงปากกรวยให้เรียบร้อยด้วยด้ายสีเขียว จากนั้นเจียนใบตองที่ปากกรวยออกบ้างเพื่อให้ตั้งได้

 


การประกอบตัวบายศรี มีวิธีการดังนี้


 

1) จับตัวแม่วางกึ่งกลางผ้านุ่ง โดยให้ปลายแหลมของตัวแม่สูงกว่าผ้านุ่งประมาณ 6 เซนติเมตร
2) ใช้มือซ้ายพับริมใบตองทางซ้ายเข้ามาเล็กน้อยให้เป็นรูปชายธง แล้วพับอีกครั้งหนึ่งให้หุ้มแนบไปกับตัวแม่ ซึ่งเป็นการนุ่งผ้าชั้นแรก เมื่อนุ่งผ้าตัวแม่เสร็จ ให้หยิบตัวลูกที่ 1 วางทับด้านหน้าตัวแม่ให้ต่ำจากปลายตัวแม่ประมาณ 6–7 เซนติเมตร แล้วนุ่งผ้าอีกผืนหนึ่ง
3) ทำจนครบจำนวนตัวลูกและตัวบายศรีทั้งหมด 3 ตัว การนุ่งผ้าแต่ละชั้นควรลดหลั่นจากกันประมาณ 2–1 เซนติเมตร และชายผ้านุ่งตัวลูกทุกตัวควรตัดออกบ้าง เพื่อไม่ให้บายศรีขนาดใหญ่เกินไป
4) การหักและกลัดไม้กลัด เมื่อนุ่งผ้าเสร็จแล้ว หันหน้าบายศรีเข้าหาตัว ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับตัวบายศรีตรงโคนหักลงกับพื้น ให้ชายใบตองพับไปด้านหลัง จากนั้นใช้ไม้แหลมยาวเสียบให้ทะลุติดกันทั้งสองด้านและตั้งได้ แล้วหักไม้ที่ยื่นยาวออกมาจนครบ 3 ตัว

 


การจัดและตกแต่งบายศรี มีวิธีการดังนี้
1) วางตัวบายศรีทั้ง 3 ลงในชาม กะระยะห่างให้เท่า ๆ กัน
2) ตักข้าวสุกปากหม้อใส่ลงในกรวย อัดให้แน่น แล้วคว่ำลงในชาม ระหว่างกลางตัวบายศรี
3) นำไม้ยาวเลียบกลางกรวยให้ปลายไม้ด้านบนสูงกว่ากรวย ประมาณ 6–7 เซนติเมตร เพื่อเสียบไข่และมาลัยตุ้ม ปลายแหลมด้านล่างให้หยั่งถึงตัวบายศรีที่ก้นชาม เมื่อเสียบไข่จะได้ไม่คลอน
4) ไข่ต้ม ปอกแล้วล้างน้ำให้สะอาด เลียบลงปลายไม้เหนือกรวย เหนือไข่ขึ้นไปเสียบด้วยมาลัยตุ้ม แล้วต่อด้วยดอกรักให้เป็นยอดแหลม
5) ใช้ไม่กลัดเสียบด้านดอกไม้เล็กๆ เช่น ดอกพุด ตามยอดบายศรีทุกตัว
6) นำกล้วยน้ำว้า 1 ผล และแตงกวา 1 ผล มาผ่า 3 ชิ้นแล้ววางข้างหลังแมงดา


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th/