บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง เทคโนโลยีสะอาด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 15.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาด
เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) คือ การพัฒนา เปลี่ยนแปลง และปรับปรุงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อให้การใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
หลักการของเทคโนโลยีสะอาด
เทคโนโลยีสะอาดมีหลักการสำคัญประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดเพื่อขจัดปัญหา ป้องกัน หรือลดการเกิดมลพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยบริเวณใดมีของเสียมากต้องมีการบำบัดหรือกำจัดทิ้งเพื่อให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรนั้น ๆ ลง และพยายามนำของเสียกลับมาใช้ซ้ำเพื่อประหยัดและอนุรักษ์ทรัพยากร

ประโยชน์ของเทคโนโลยีสะอาด
1. ประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป ทำให้เราปลอดภัยจากสารพิษต่าง ๆ มีสุขภาพแข็งแรง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นำพลังงานธรรมชาติมาใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้า ทำให้เราได้ใช้สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. ประโยชน์ต่อชุมชน การรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างบ้าน ชุมชน และโรงงาน เนื่องจากเข้าใจและร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา ทำให้สังคมน่าอยู่ เนื่องจากมีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประสิทธิภาพสูง
3. ประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต และการปรับปรุงการดำเนินงานช่วยลดการเกิดมลพิษ ประหยัดวัตถุดิบและพลังงานช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้โรงงานมีของเสียน้อยลง ลดต้นทุนในการบำบัดของเสีย และยังทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นสถานประกอบการสะอาดและเกิดภาพพจน์ที่ดีต่อสังคม
4. ประโยชน์ต่อภาครัฐ ช่วยแบ่งเบาภาระในการติดตามตรวจสอบของภาครัฐ ทำให้บรรลุตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วิธีการของเทคโนโลยีสะอาด
ขั้นตอนการทำเทคโนโลยีสะอาด
ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนและจัดองค์กร
เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสะอาด โดยประกาศแนวทางในการปฏิบัติและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ จัดตั้งคณะตรวจประเมิน เพื่อกำหนดปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นพร้อมค้นหาแนวทางแก้ไข
ขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมินผลเบื้องต้น เป็นการประเมินโดยภาพรวมและบริเวณที่มีการทำเทคโนโลยีสะอาด กำหนดบริเวณที่จะประเมินผลโดยละเอียด และสำรวจหาจุดที่มีความสูญเสีย
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจประเมินผลโดยละเอียด เป็นการประเมินเพื่อหาสาเหตุการสูญเสียและหาวิธีการลดความสูญเสีย โดยการเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยการผลิตในองค์กร วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ เสนอวิธีการแก้ปัญหาหรือวิธีการลดการสูญเสีย และคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหาเพื่อนำไปประเมินความเป็นไปได้
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินความเป็นไปได้ เป็นการประเมินผลเพื่อให้ได้ทางเลือกการทำเทคโนโลยีสะอาดที่เหมาะสมกับองค์กร การประเมินความเป็นไปได้ต้องประเมิน 2 ด้าน คือ
1) การประเมินด้านเทคนิค เป็นการประเมินผลว่าสามารถปฏิบัติได้จริงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่
2) การประเมินด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการประเมินผลความคุ้มทุนของผลตอบแทนทางการเงิน ความเสี่ยงในการลงทุน
ขั้นตอนที่ 5 การลงมือปฏิบัติและติดตามประเมินผล เป็นการลงมือทำตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยกำหนดประเภทและความถี่ในการตรวจสอบผล รวบรวมข้อมูล และตรวจวัดตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยประเมินผลทั้งก่อนและหลังการทำเทคโนโลยีสะอาด ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน

การตรวจประเมินผลเบื้องต้น
การตรวจประเมินผลเบื้องต้นเป็นการตรวจประเมินเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. การสร้างแผนภาพกระบวนการผลิต แบ่งงานเป็น 3 ส่วน คือ
1) การรวบรวมเอกสารข้อมูล ได้แก่
(1) ข้อมูลทั่วไปขององค์กรและผลิตภัณฑ์
(2) แผนผังกระบวนการผลิต ข้อมูลวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ
(3) ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดในกระบวนการผลิต
(4) ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนงาน
(5) ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(6) ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร
2) การเก็บข้อมูลจากการเดินสำรวจ เป็นการสำรวจในแต่ละกระบวนการ วิเคราะห์ปัญหาและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ซึ่งสามารถเห็นสภาพการทำงานตามความเป็นจริง นอกจากนี้อาจจะพบปัญหาที่ไม่สามารถหาได้จากแผนภาพกระบวนการผลิต เช่น มลพิษทางเสียง ซึ่งมีวิธรการเก็บข้อมูลดังนี้
(1) คณะทำงานเดินสำรวจควรประกอบด้วยบุคคลที่มีความคุ้นเคยกับกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี และบุคคลภายนอกที่อาจพบปัญหาที่ถูกละเลยเนื่องจากความคุ้นเคยของบุคคลภายในองค์กร
(2) จัดตารางเวลาการสำรวจให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถมองเห็นกระบวนการผลิต
(3) เริ่มต้นการสำรวจด้วยการทบทวนวิธีการทำงานของกระบวนการผลิต
(4) เดินสำรวจกระบวนการผลิต โดยพิจารณาถึงข้อเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด การใช้วัตถุดิบ
และประสิทธิภาพของการดำเนินงานในทุก ๆ จุด
(5) บันทึกปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา
3) การจัดทำแผนภาพกระบวนการผลิต โดยระบุหน่วยผลิตทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง มีวิธีการดังนี้
(1) เขียนขั้นตอนกระบวนการผลิตทั้งหมด
(2) จัดลำดับเชื่อมโยงขั้นตอนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
2. การประเมินสารขาเข้าและสารขาออกทั้งหมดในแต่ละหน่วยผลิต โดยระบุชื่อสารและปัจจัยการผลิต ระบุถึงปริมาณและลักษณะเฉพาะตัว
3. การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่น่าสนใจ เป็นการให้น้ำหนักในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ของการทำประเมินเบื้องต้น สรุปได้ดังนี้
1) กระบวนการผลิตได้รับการทบทวนโดยภาพรวม
2) มีการระบุจุดเน้นสำหรับการประเมินรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน
3) มีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเป็นที่เรียบร้อย
4) สามารถดำเนินการทางเทคโนโลยีสะอาดที่มีความชัดเจนและมีมูลค่าการลงทุนต่ำหรือไม่มีเลย

การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม
การใช้พลังงานหมุนเวียน
พลังงานหมุนเวียน
หมายถึง พลังงานที่ได้มาจากกระแสพลังงานที่ต่อเนื่องและเกิดขึ้นช้า ๆ ในสิ่งแวดล้อม แหล่งของพลังงานหมุนเวียน คือ แหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนได้พัฒนาและเปลี่ยนรูปพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานไฟฟ้า มีหลายประเภทดังนี้

1. แสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่หมดสิ้น และปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์นำแสงอาทิตย์มาใช้ทั้งโดยตรงในรูปของความร้อน เช่น ในการตากอาหาร การกลั่นน้ำ เป็นต้น ส่วนการนำมาใช้ทางอ้อมเป็นการนำแสงอาทิตย์ มาแปรรูปเป็นพลังงานแบบอื่น ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์



2. น้ำ เป็นแหล่งพลังงานตามธรรมชาติที่ใช้ได้อย่างไม่หมดสิ้น จัดเป็นแหล่งพลังงานตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด การที่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่าง ๆ เช่น น้ำตก น้ำขึ้น น้ำลง คลื่น ทำให้เกิดพลังงานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า



3. ลม เป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติที่สะอาด การนำพลังงานลมมาใช้ประโยชน์มีเครื่องมือที่สำคัญคือ กังหันลม ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจลน์มาเป็นพลังงานกลโดยตรง



4. ชีวมวล เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย มูลสัตว์ รวมถึงขยะและน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นพลังงานความร้อน ไอน้ำ ก๊าซ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม



5. ก๊าซชีวภาพ เป็นก๊าซที่เกิดจากมูลสัตว์หรือสารอินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งถูกย่อยสลายโดยเชื้อจุลินทรีย์ในสภาพไม่มีก๊าซออกซิเจน ทำให้เกิดก๊าซชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจน และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก๊าซเหล่านี้เมื่อนำมาเผาจนเกิดความร้อนจะเกิดเชื้อเพลิงที่สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้หุงต้มอาหาร เป็นเครื่องทำน้ำอุ่น หรือเตาอบผลผลิตทางการเกษตร

ประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียน มีดังนี้
1. ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
2. ลดมลพิษในการผลิตกระแสไฟฟ้า
3. ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศ
4. เพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
การลดการใช้ทรัพยากร
ทรัพยากรแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น
2. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
3. ทรัพยากรทดแทนได้

การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นการใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องเก็บรักษาไว้ใช้ในอนาคตด้วย หลักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีดังนี้
1. การให้คุณค่ากับทรัพยากร เพื่อใช้อย่างระมัดระวังและให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. การอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและเหลือไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้ใช้ต่อไป
3. การใช้ทรัพยากรอย่างยุติธรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

แนวทางการลดการใช้ทรัพยากร ควรปฏิบัติดังนี้
1. การลดการใช้น้ำ
มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำบริเวณท่อส่งน้ำ
2) ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะอาบน้ำ แปรงฟัน หรือล้างหน้า
3) เลือกใช้หัวฉีดน้ำแบบพ่นหรือฝักบัวรดน้ำต้นไม้แทนการฉีดน้ำด้วยสายยาง
4) เลือกใช้อุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำ
5) ล้างจานในภาชนะที่เก็บน้ำไว้จะช่วยลดการใช้น้ำได้



2. การลดการใช้น้ำมัน มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ตรวจเช็กเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการใช้น้ำมันลง 10%
2) ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อต้องจอดรถนาน ๆ
3) ไม่ควรบรรทุกของที่มีน้ำหนักเกินพิกัดบนรถยนต์
4) ควรขับรถด้วยความเร็วคงที่ประมาณ 70–80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5) ศึกษาเส้นทางการเดินทางล่วงหน้าเพื่อลดปัญหาการจราจร และช่วยประหยัดเวลา
6) ใช้ระบบการใช้รถร่วมหรือคาร์พูล (Car pool) โดยไปที่หมายเดียวกัน ใช้รถคันเดียวกัน



3. การลดการใช้ไฟฟ้า มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ปิดสวิตช์ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
2) เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มีฉลากแสดงประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้า
3) เลือกใช้หลอดไฟแบบประหยัดไฟฟ้า
4) เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี
5) ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ
4. การลดปริมาณขยะ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด
2) จำกัดการบริโภคหรือบริโภคน้อยลง
3) ใช้วัตถุดิบในการผลิตที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด
4) เลือกบริโภคสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และนำมาซ่อมแซมหรือแปรรูปใหม่ได้
5) ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
6) ออกแบบการผลิตที่ผสมผสานวัตถุดิบใหม่และนำวัสดุเก่ามาแปรรูปใช้ใหม่ได้
7) รณรงค์การใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้และการนำขยะกลับมาแปรรูป
8) แยกประเภทขยะก่อนทิ้ง โดยแยกเป็น 3 ชนิด ดังนี้ ขยะเศษอาหาร ขยะที่ยังใช้ได้ ขยะมีพิษ



การนำหลักการเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในการลดปริมาณขยะ มีวิธีดังต่อไปนี้
1. การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
2. การใช้ซ้ำ (Reuse)
5. การลดการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) เลือกใช้กระดาษอย่างประหยัดและคุ้มค่า
2) ลดการใช้ลิฟต์เมื่อต้องการขึ้นลงอาคารชั้นเดียวหรือสองชั้น
3) ลดการใช้หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเลย
4) ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำลายยาก เช่น โฟม พลาสติก


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th