บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง สร้างงานด้วยเทคโนโลยี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 25K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



กระบวนการเทคโนโลยี
กระบวนการเทคโนโลยี หมายถึง ขั้นตอนการทำงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างชิ้นงานที่สนองความต้องการของมนุษย์ โดยเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคิดแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบเพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งของเครื่องใช้
ขั้นตอนกระบวนการเทคโนโลยี
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ เป็นการกำหนดขอบเขต โดยทำความเข้าใจและระบุปัญหาหรือความต้องการให้ชัดเจน แล้วกำหนดขอบเขตปัญหาหรือความต้องการ เพื่อนำมาตั้งเป็นวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย เช่น ต้องการชั้นวางเพื่อใช้วางรองเท้า เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูลเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาหรือความต้องการ เป็นการแสวงหาความรู้ แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลและความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือความต้องการนำมาสร้างทางเลือกหลาย ๆ ทางเลือก เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น รวบรวมข้อมูลจากหนังสือต่าง ๆ ระดมสมองคิดหาวิธีการ เป็นต้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก
ขั้นตอนที่ 3 การเลือกวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ เป็นการเลือกแนวคิดที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหา โดยนำข้อมูลและความรู้ที่ได้มารวบรวมพิจารณา วิเคราะห์จนได้ข้อสรุปว่าจะเลือกวิธีแบบใด ซึ่งควรยึดหลักแนวคิดว่า ถ้าเลือกแล้วจะทำให้สิ่งนั้นมีคุณภาพดีขึ้น สะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัด และสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่
ขั้นตอนที่ 4 การออกแบบและปฏิบัติ เป็นการนำทางเลือกที่เลือกไว้มาลำดับความคิดให้เป็นขั้นตอน เพื่อสร้างแนวทางการแก้ปัญหา แล้วถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพที่มีรายละเอียด โดยใช้ความรู้ด้านการออกแบบและเขียนแบบ และลงมือปฏิบัติตามกระบวนการออกแบบจนสำเร็จเป็นชิ้นงาน
กระบวนการออกแบบ มีวิธีการดังนี้
1) การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ เป็นการกำหนดเพื่อใช้ในการออกแบบ
2) การวิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการ เป็นการระบุปัญหาหรือความต้องการที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงสาเหตุหรือความต้องการทั้งหมด
3) การกำหนดความต้องการของการออกแบบ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของสิ่งที่ออกแบบว่าต้องตอบสนองต่อสิ่งใด
4) การสร้างทางเลือกหรือออกแบบชิ้นงาน ใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์เป็นแนวคิดหรือจินตนาการส่งของที่จะออกแบบ แล้วเขียนเป็นภาพร่างหลาย ๆ แบบ
5) การตัดสินใจเลือกแบบที่ดีที่สุด เป็นการนำทางเลือกมาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย แล้วนำมาคิดพัฒนาอีกครั้งให้ได้แบบที่ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด แล้วใส่รายละเอียดให้ครบถ้วน
6) การปรับปรุงข้อบกพร่องของชิ้นงาน เป็นการพิจารณาชิ้นงานที่ได้จากการปฏิบัติในด้านการใช้งาน ถ้ายังไม่ได้ตามที่ต้องการหรือพบข้อบกพร่อง ควรปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์
ขั้นตอนที่ 5 การทดสอบ เป็นการนำชิ้นงานที่สร้างขึ้นมาทดลองใช้งาน เพื่อทดสอบว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ มีประสิทธิภาพเพียงใด และมีข้อบกพร่องอะไรที่ควรแก้ไข
ขั้นตอนที่ 6 การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา เป็นการนำข้อบกพร่องของชิ้นงานมาปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือนำผลงานที่ดีแล้วมาพัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 7 การประเมินผล เป็นการประเมินผลภาพรวมของวิธีการแก้ปัญหาหรือชิ้นงานที่สร้างเสร็จแล้ว โดยนำไปทดลองใช้และประเมินผลการใช้งานว่าเป็นอย่างไร
ความคิดสร้างสรรค์กับกระบวนการเทคโนโลยี
ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความคิดที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือสร้างขึ้นใหม่ต่างไปจากเดิมที่เป็นอยู่ และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นต้องเป็นไปในทางที่ดีงาม
ความคิดสร้างสรรค์สัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีในขั้นตอนการสร้างทางเลือก เพื่อให้เกิดความคิดที่ขยายขอบเขตออกไปนอกกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ไปสู่ความคิดใหม่ หรือออกแบบชิ้นงานเพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดและเหมาะสมให้กับปัญหาหรือความต้องการ
กระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ มีดังนี้
1. การระบุปัญหาที่ต้องการแก้หรือความต้องการสร้างสิ่งของเครื่องใช้
2. การแสวงหาวิธีการแก้ปัญหา โดยการสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดแนวทางใหม่ที่แตกต่างออกไปก่อน โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา
3. การคัดเลือกแนวทางในการแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และคัดเลือกแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
ลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 4 ลักษณะ ดังนี้
1. ความคิดริเริ่ม
2. ความคิดคล่องแคล่ว
3. ความคิดยืดหยุ่น
4. ความคิดละเอียดลออ
เทคนิคการสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้วยการระดมสมอง
การระดมสมอง คือ การแสดงความคิดเห็นร่วมกันระหว่างสมาชิกในกลุ่มหรือในห้องเรียน เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ ซึ่งเป็นการคิดแบบไร้แบบแผน ซึ่งวิธีการระดมสมองมีดังนี้
1. เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้ความคิดอย่างอิสระ
2. รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
3. นำเสนอความคิดหลากหลายโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงและเหตุผล
4. ไม่ควรวิจารณ์ในระหว่างที่มีการแสดงความคิดเห็น เพราะจะทำให้ความคิดหยุดชะงัก
5. หลีกเลี่ยงการโต้แย้ง
6. กำหนดเวลาในการแสดงความคิดเห็นประมาณ 15–20 นาที
7. จดบันทึกรายละเอียดทุกความคิดเห็น
เมื่อระดมสมองแล้ว ควรคัดเลือกแนวคิดที่น่าสนใจ สอดคล้องกับปัญหาหรือความต้องการที่กำหนดไว้ หรืออาจผสมผสานเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาหรือสนองความต้องการนั้น ๆ ได้จากนั้น จึงนำไปสู่กระบวนการออกแบบและปฏิบัติตามกระบวนการเทคโนโลยีต่อไป
การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ตามกระบวนการเทคโนโลยี
การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางเทคโนโลยีมาช่วย โดยทำการออกแบบ สร้าง ดัดแปลง แก้ไข และปรับปรุงเพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์และสนองความต้องการของผู้ใช้งาน

การวางแผนสร้างสิ่งของเครื่องใช้
การวางแผน คือ
กระบวนการพิจารณาตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะทำอะไร อย่างไร การเลือกวัตถุประสงค์ และวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
ประโยชน์ของการวางแผน มีดังนี้
1. ทำให้ทราบบทบาท หน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ขอบข่ายงานที่ต้องรับผิดชอบสามารถเตรียมตัว เตรียมวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงาน
2. ทำให้รู้จักวิธีการทำอย่างมีระบบ มีขั้นตอน เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีในการทำงาน
3. สามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้ง่าย
4. ช่วยแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาล่วงหน้า
5. ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน
6. ได้รับประสบการณ์ในการวางแผน การตัดสินใจ การแก้ปัญหา และรู้จักประเมินแผนการทำงาน
7. ทำงานสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการวางแผน ได้แก่
1. งานที่ปฏิบัติ ให้ระบุว่างานที่ทำคืออะไร ขอบข่ายของงานมีมากน้อยเพียงใด
2. วัตถุประสงค์ ให้ระบุความต้องการในการปฏิบัติงานแต่ละอย่างว่าต้องการทำเพื่ออะไร
3. เครื่องมือ วัสดุ และอุปกรณ์ ให้ระบุเครื่องมือ วัสดุ และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงานให้ครบ เพื่อจะได้สำรวจและจัดเตรียมให้พร้อม
4. ระยะเวลา ให้ระบุว่าจะปฏิบัติงานเมื่อไร วันไหน เวลาใด และใช้เวลาเท่าใด
5. ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้ระบุเป็นขั้นตอนตามลำดับก่อนหลังเพื่อให้สะดวกในการทำงาน ลดความซับซ้อน และประหยัดเวลา
6. ผู้รับผิดชอบ ให้ระบุว่าใครเป็นคนทำ เป็นงานที่ทำคนเดียว หรือทำร่วมกับผู้อื่น

การสร้างสิ่งของเครื่องใช้แบบประหยัดทรัพยากร
การประหยัดทรัพยากรเป็นการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงเพื่ออนุรักษ์ให้มีใช้อย่างพอเพียงในอนาคต การสร้างสิ่งของเครื่องใช้แบบประหยัดทรัพยากรเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างชิ้นงานให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากวัสดุเหลือใช้
วัสดุเหลือใช้ ได้แก่ วัสดุธรรมชาติ เช่น ส่วนประกอบของพืช ก้อนหิน ทราย และเศษวัสดุสังเคราะห์ เช่น กระดาษ กล่อง ลัง ขวดพลาสติก สิ่งของเครื่องใช้ที่ชำรุด เช่น ถังน้ำมีรูรั่วนำมาดัดแปลงเป็นกระถางต้นไม้

การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ตามกระบวนการเทคโนโลยี
ที่ตักผง ใช้อำนวยความสะดวกในการทำงานบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บเศษผงหรือเศษขยะที่กวาดพื้นแล้วนำมากองรวมก่อนนำไปทิ้ง ที่ตักผงจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานและลดพลังงานในการกำจัดวัสดุเหลือใช้ การทำที่ตักผง มีวิธีการดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ ต้องการที่ตักผงจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำความสะอาดบ้าน เช่น กวาดพื้น
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูลเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาหรือความต้องการ
วัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำมาทำได้มีดังนี้
1) ที่ตักผงทำจากปีบโลหะ ข้อดี มีความแข็งแรง ทนทาน ข้อเสีย ถ้าเปียกน้ำอาจเกิดสนิม
2) ที่ตักผลทำจากกล่องกระดาษแข็ง ข้อดี มีน้ำหนักเบา ข้อเสีย ถ้าเปียกน้ำอาจขาดได้ง่าย
3) ที่ตักผงทำจากแกลลอนน้ำมัน ข้อดี รูปทรงสวยงาม มีน้ำหนักเบา ข้อเสีย เกิดรอยง่าย
ขั้นตอนที่ 3 การเลือกวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ
เลือกทำที่ตักผงจากปีบโลหะ เพราะเป็นวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย มีความแข็งแรง และทนทาน
ขั้นตอนที่ 4 การออกแบบและปฏิบัติ มีวิธีการดังนี้
1) ปัญหาหรือความต้องการ ต้องการทำที่ตักผงจากวัสดุเหลือใช้ คือ ปีบ โลหะ
2) วิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการ ดังนี้
(1) ที่ตักผงควรออกแบบให้มีด้ามจับถนัดมือ มีพื้นเรียบและขนานกับพื้น
(2) ที่ตักผงควรออกแบบให้บรรจุเศษผงหรือเศษขยะได้โดยไม่หกเลอะเทอะ
3) กำหนดความต้องการของการออกแบบ ต้องการออกแบบที่ตักผงจากปีบโลหะ
4) สร้างทางเลือกหรือออกแบบชิ้นงาน โดยออกแบบที่ตักผง 3 แบบ ดังนี้


 

5) ตัดสินใจเลือกแบบที่ดีที่สุด เลือกทำที่ตักผงแบบที่ 2 เพราะมีด้ามจับถนัดมือ ออกแบบและประกอบชิ้นงานได้ง่าย
6) พัฒนาปรับปรุงข้อบกพร่องของชิ้นงาน ที่ตักผงที่ทำจากปีบโลหะมีข้อเสียคือ ถ้าเปียกน้ำอาจทำให้เกิดสนิม ดังนั้นต้องแก้ไขโดยทาน้ำมันหรือแลกเกอร์

การทำที่ตักผง มีวิธีปฏิบัติดังนี้
การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ได้แก่ ปีบโลหะ ไม้อัด ค้อน ตะปู กรรไกรตัดโลหะ ตะไบ ปากกา ตลับเมตร แปรง น้ำมันหรือแลกเกอร์
การประกอบชิ้นงาน มีวิธีการดังนี้
1) นำปีบโลหะมาเช็ดทำความสะอาด แล้ววัดขนาดความสูงของที่ตักผงตามความต้องการ สำหรับความกว้างและความยาวอาจกำหนดตามขนาดของปีบโลหะ

 

 

2) ตัดปีบโลหะตามที่วัดขนาดไว้ โดยตัดเผื่อเม้มเป็นตะเข็บเข้าด้านใน แล้วใช้ค้อนทุบ แต่ด้วยตะไบให้เรียบเพื่อไม่ให้มีส่วนที่เป็นคม

 

 

3) นำไม้อัดมาตัดทำเป็นด้ามไม้ ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร และสูง 60 เซนติเมตร

 

 

4) นำด้ามไม้มาประกอบกับที่ตักผง โดยยึดด้วยตะปูแล้วทาที่ตักผงด้วยน้ำมันหรือแลกเกอร์เพื่อป้องกันสนิม

 

 

ขั้นตอนที่ 5 การทดสอบ นำที่ตักผงไปใช้ตักผงหรือเก็บขยะก่อนนำไปทิ้ง
ขั้นตอนที่ 6 การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา
1. ที่ตักผงมีส่วนที่คมอาจก่อให้เกิดอันตรายขณะใช้งาน ควรใช้ค้อนทุบแล้วตะไบให้เรียบอีกครั้ง
2. ด้ามจับที่ตักผงขยับได้ ควรตอกตะปูยึดให้แน่น
ขั้นตอนที่ 7 การประเมินผล ทำที่ตักผงจากปีบโลหะได้ตรงตามที่ออกแบบและมีความแข็งแรงเหมาะสำหรับการนำไปใช้งาน
การดัดแปลงสิ่งของเครื่องใช้ตามกระบวนการเทคโนโลยี
สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน เมื่อใช้งานไปได้สักระยะหนึ่ง อาจชำรุดเสียหายหรือใช้งานไม่ได้ และสามารถนำมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ ซึ่งช่วยประหยัดทรัพยากรได้
การดัดแปลงเก้าอี้ขาหัก เป็นการนำเก้าอี้ชำรุดมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย มีวิธีการดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ ต้องการดัดแปลงเก้าอี้หัก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ ลดปัญหาขยะที่เกิดจากการทิ้งสิ่งของเครื่องใช้ดังกล่าว และประหยัดค่าใช้จ่าย
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูลเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาหรือความต้องการ
การดัดแปลงเก้าอี้ขาหักทำได้ดังนี้
1) การดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นม้านั่ง
2) การดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นเบาะรองพื้น
3) การดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นโต๊ะวางของ 



ขั้นตอนที่ 3 การเลือกวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ เลือกดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นม้านั่ง เพราะสามารถดัดแปลงได้ง่าย และใช้เครื่องมือ วัสดุ และอุปกรณ์ภายในบ้านได้
ขั้นตอนที่ 4 การออกแบบและปฏิบัติ มีวิธีการดังนี้
1) ปัญหาหรือความต้องการ ต้องการดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นม้านั่ง
2) วิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการ การดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นม้านั่ง ควรออกแบบให้มีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้มาก
3) กำหนดความต้องการของการออกแบบ ต้องการดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นม้านั่ง เพื่อให้เหมาะสำหรับนั่งล้างจาน ซักผ้า หรือทำสวน
4) สร้างทางเลือกหรือออกแบบชิ้นงาน โดยออกแบบม้านั่ง 3 แบบ ดังนี้



5) ตัดสินใจเลือกแบบที่ดีที่สุด เลือกทำม้านั่งแบบที่ 1 เพราะดัดแปลงได้ง่าย และไม่เสียค่าใช้
จ่ายสูง
6) พัฒนาปรับปรุงข้อบกพร่องของชิ้นงาน ม้านั่งที่ทำจากไม้ถ้าเปียกน้ำอาจทำให้สึกกร่อนและหักได้ ดังนั้นต้องแก้ไขโดยทาเคลือบผิวไม้ด้วยแลกเกอร์

การดัดแปลงเก้าอี้หักเป็นม้านั่ง มีวิธีปฏิบัติดังนี้
การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ได้แก่ เก้าอี้ขาหัก เลื่อย กระดาษทราย ปากกา ตลับเมตร แปรง สีทาไม้ แลกเกอร์ แผ่นพลาสติกที่มีลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้ ลายการ์ตูน
การดัดแปลงชิ้นงาน มีวิธีการดังนี้

1) วัดขนาดความยาวของขาเก้าอี้เหนือส่วนที่หัก และวัดขนาดให้เท่ากันทั้ง 4 ขา จากนั้นใช้เลื่อยตัดให้เท่ากัน แล้วขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ



2) นำเลื่อยมาตัดส่วนที่เป็นพนักพิงออกให้เสมอกับพื้นสำหรับรองนั่ง แล้วขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ


 

3) นำแผ่นพลาสติกที่มีลวดลายต่าง ๆ มาปิดทับส่วนที่เป็นพื้นสำหรับรองนั่งและตกแต่งให้สวยงาม แล้วทาด้วยสีทาไม้และเคลือบผิวไม้ด้วยแลกเกอร์


 

ขั้นตอนที่ 5 การทดสอบ นำม้านั่งไปรองนั่งในการซักผ้า ล้างจาน หรือทำสวน
ขั้นตอนที่ 6 การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา ถ้าม้านั่งโยกไปมา ให้ตอกตะปูให้แน่น ถ้าขาม้านั่งยาวไม่เท่ากัน นำกระดาษทรายมาขัดให้เท่ากัน
ขั้นตอนที่ 7 การประเมินผล ดัดแปลงเก้าอี้ขาหักเป็นม้านั่งได้ตรงตามที่ออกแบบ


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th