บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง จัดการผลผลิตอย่างไรดี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 61.7K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



ความจำเป็นในการจัดการผลผลิต
ผลผลิตทางการเกษตร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ผลผลิตที่ใช้ในการอุปโภค เช่น ฝ้าย ไหม ยางพารา มันสำปะหลัง หนังสัตว์ ขน
2. ผลผลิตที่ใช้ในการบริโภค เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม กุ้งแข็ง

 

 

การจัดการผลผลิตทางการเกษตร มีความจำเป็นดังนี้
1. สะดวกในการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์
2. สร้างความหลากหลายให้แก่ผลผลิต
3. การเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต
4. ทำให้เก็บผลผลิตไว้บริโภคได้นาน
5. สะดวกในการขนส่ง
6. ลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด

การจัดการผลผลิตทางการเกษตร
การจัดการผลผลิตทางการเกษตร หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ที่นำผลผลิตจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จากแหล่งการผลิตไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านความคุ้มค่า ราคา และป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตที่ได้หลังการเก็บเกี่ยว
การทำความสะอาดผลผลิต
การทำความสะอาดผลผลิตเป็นการนำส่วนที่ปนเปื้อนมากับผลผลิตออก เช่น ฝุ่น เชื้อโรค หนอน แมลง หรือสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น มองเห็นได้ชัดเจน ดูสะอาดน่ารับประทาน และไม่ทำให้ผลผลิตเสื่อมคุณภาพเร็ว มีวิธีการปฏิบัติ 2 วิธีดังนี้
1. การทำความสะอาดด้วยน้ำ
2. การทำความสะอาดด้วยแรงลม 

 

 

การคัดขนาดและคุณภาพ
การคัดขนาดและคุณภาพจะทำให้สามารถแบ่งเกรดของผลผลิตได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การคัดขนาดของผลผลิตจึงมีความจำเป็นเนื่องจากจะช่วยเพิ่มคุณค่าของผลผลิตให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. การคัดขนาดคุณภาพด้วยมือหรือการสังเกต
2. การคัดขนาดและคุณภาพด้วยอุปกรณ์
3. การคัดขนาดและคุณภาพโดยการชั่งน้ำหนักผลผลิต

 

 

การบรรจุหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์
การบรรจุหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ หมายถึง การจัดนำผลผลิตที่ผ่านการทำความสะอาด การคัดขนาดและคุณภาพแล้วบรรจุลงในภาชนะที่เตรียมไว้ โดยภาชนะนั้นสามารถป้องกันการกระทบกระแทกและความเสียหายได้ เพื่อนำผลผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค
ความสำคัญของการบรรจุหีบห่อ มีดังนี้
1. เพื่อรวบรวมผลผลิตมาบรรจุรวมกันเป็นหน่วยเดียว ซึ่งทำให้ขนส่งได้รวดเร็วและเก็บรักษาง่าย
2. เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง
3. เพื่อแจ้งรายละเอียดของผลผลิต

วัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ มีหลายชนิด ดังนี้
1) ไม้ เป็นวัสดุที่ใช้บรรจุผลผลิตจำพวกผักและผลไม้ที่นิยมใช้
2) กระดาษ ที่นิยมใช้ คือ กระดาษลูกฟูก นิยมใช้บรรจุผักและผลไม้ เช่น ส้ม แอปเปิล สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ ผลผลิตประเภทสัตว์ที่นิยม เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด
3) พลาสติก นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง ได้แก่

 

 

(1) สามารถผลิตเป็นภาชนะบรรจุได้หลายรูปแบบ
(2) ช่วยป้องกันการกระแทกและนำมาเรียงซ้อนทับกันได้ดี
(3) พลาสติกมีผิวเรียบไม่ทำอันตรายต่อผิวผลผลิตที่บรรจุ
(4) ทำความสะอาดได้ง่ายและทนน้ำทนความชื้นได้ดี
(5) สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง
ข้อเสียของพลาสติก คือ มีราคาค่อนข้างแพงและย่อยสลายยาก การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับผลผลิตแต่ละประเภท

การจัดการด้านการขนส่ง
การขนส่ง หมายถึง การจัดการเคลื่อนย้ายสินค้า การขนส่งที่ดีควรประกอบด้วย อัตราค่าขนส่งที่สมเหตุสมผล การบริการสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย
การขนส่งสินค้าเกษตร
ประโยชน์ของการขนส่งสินค้าเกษตร มีดังนี้
1. ช่วยให้สินค้าเกษตรถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

2. ช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรให้กว้างขวาง
3. ช่วยลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตร
4. ช่วยให้เกิดการจ้างแรงงาน
5. ช่วยให้เกิดดุลยภาพในระดับราคาสินค้าเกษตร

วิธีการขนส่งสินค้าเกษตร
การขนส่งสินค้าเกษตรมีวัตถุประสงค์เพื่อเคลื่อนย้ายผลผลิตโดยให้เกิดความสูญเสียกับผลผลิตน้อยที่สุด ในประเทศไทยมีวิธีการดังนี้
1. การขนส่งทางรถยนต์ เป็นวิธีการขนส่งที่นิยมใช้กับสินค้าเกษตรทั้งพืชและสัตว์ โดยใช้รถยนต์ขนาดหกล้อหรือสิบล้อ ซึ่งตัวกระบะที่ใส่ผลผลิตจะมีลักษณะเปิด หากเป็นช่วงฤดูฝนจะคลุมผ้าใบทับอีกครั้งเพื่อไม่ให้สินค้าถูกฝน สภาพของรถไม่ควรมีอุณหภูมิสูงเกินไป
2. การขนส่งทางรถห้องเย็น มีลักษณะพิเศษคือ มีห้องเย็นติดอยู่ด้านหลังของหัวรถ เหมาะกับการขนส่งสินค้าเกษตรที่ต้องการความสด และจำหน่ายได้ในราคาสูง
3. การขนส่งทางรถไฟ เป็นวิธีการขนส่งที่นิยมใช้กับพืช เพราะสามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ
4. การขนส่งทางเรือ สินค้าที่เหมาะกับการขนส่งด้วยวิธีนี้เป็นสินค้าที่เสียหายยาก มีขนาดใหญ่ ขนส่งในประมาณมาก จึงนิยมขนส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
การขนส่งทางเรือปัจจุบันมีทั้งตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งสามารถปรับอุณหภูมิได้และแบบห้องเย็น การใช้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่ต้องย้ายสินค้าออกจากตู้เมื่อถึงปลายทาง จึงทำให้สินค้าอยู่ในสภาพอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา

 

 

5. การขนส่งทางเครื่องบิน เป็นการขนส่งที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงและเป็นวิธีที่ควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ แต่ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด จึงนิยมใช้กับสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่ายและมีราคาสูง
ลักษณะของการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1. มีความปลอดภัย
2. มีความรวดเร็วและตรงเวลา
3. ประหยัดค่าใช้จ่าย
4. ความสะดวก 

การจัดการด้านการจำหน่าย
การจำหน่ายผลผลิตเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำการเกษตร เพราะรายได้จากการจำหน่ายบ่งบอกได้ว่า การผลิตครั้งนี้ได้รับผลกำไรหรือขาดทุนมากน้อยเพียงใด จึงมีความสำคัญสำหรับการเกษตรเพื่อการค้า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนี้จึงต้องมีความรู้ด้านการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรจะนำไปใช้ประโยชน์ 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้
1) ใช้เพื่อบริโภค เช่น การนำผักที่ปลูกไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคหรือพ่อค้าส่ง
2) ใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลไม้กระป๋อง

 

 

การจำหน่ายสินค้าเกษตร
การจำหน่ายสินค้าเกษตร หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรจากผู้ผลิตไปสู่ ผู้บริโภค โดยจะต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้และสถานที่จำหน่ายอยู่ในที่ที่เหมาะสมและสะดวก ซึ่งมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนี้
1. ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความต้องการระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค
2. ผู้บริโภคประหยัดเวลาในการเลือกซื้อสินค้าเกษตร
3. ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตร
4. ช่วยให้เกิดอาชีพ

 

 

การจำหน่ายที่ดีและเหมาะสมกับสินค้าเกษตรจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1) คุณภาพของสินค้าเกษตรที่จะนำไปจำหน่าย ต้องมีคุณภาพและตรงความต้องการของผู้บริโภค
2) บรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อสวยงาม เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เช่น ดอกไม้สดที่จัดและตกแต่งอย่างสวยงาม
3) ให้คำแนะนำหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภคอย่างถูกต้อง และชัดเจน
4) จัดสถานที่จำหน่ายให้สะดวกแก่ผู้บริโภคและสามารถซื้อได้ง่าย
5) จัดส่งสินค้าและบริการที่จะจำหน่ายแก่ผู้บริโภคได้ตรงเวลา
วิธีการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร แบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้
1. การจำหน่ายสินค้าเกษตรทางตรงหรือการขายปลีก มีดังนี้
1) ขายด้วยวิธีส่งถึงบ้าน
2) ขายตามริมทาง
3) ขายที่ตลาดนัดของท้องถิ่น
2. การจำหน่ายสินค้าเกษตรทางอ้อมหรือการขายส่ง มีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีลักษณะของการขายส่งดังนี้
1) ขายส่งในท้องถิ่น
2) การขายโดยการประมูล
3) การซื้อขายล่วงหน้า 
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าเกษตร มีดังนี้
1. สร้างความต้องการ โดยการส่งเสริมการขายตามความเหมาะสม เช่น การโฆษณาโดยสมาชิกในครอบครัว
2. หาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยติดต่อสอบถามเพื่อนบ้าน คนกลาง
3. กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงิน การส่งมอบ และการขนส่ง
4. การสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ซื้อ ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการเป็นที่พอใจของผู้ซื้อ 

 

 


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th