บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง เลี้ยงสัตว์ไว้ได้ประโยชน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 53.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์
การเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์
1. คุณสมบัติของผู้เลี้ยง
ควรเป็นคนรักสัตว์ ขยัน ตรงต่อเวลา พร้อมที่จะดูแลสัตว์ให้ได้รับอาหารที่ดี เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและดูแลรักษาเมื่อสัตว์ตกลูกหรือเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังจะต้องมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการเลี้ยง เช่น รู้วิธีคัดเลือกสายพันธุ์ การควบคุมป้องกันโรคสัตว์ โดยหมั่นหาความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น
2. รูปแบบการเลี้ยงสัตว์ สามารถเลือกได้ดังนี้

1) แบบธุรกิจในครัวเรือน
2) แบบอาชีพเสริม
3) แบบการค้า
4) แบบอุตสาหกรรม



3. สถานที่เลี้ยง มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต โดยทั่วไปควรมีลักษณะดังนี้
1) ควรเป็นที่ดอน
2) ควรมีพื้นที่มากเพื่อวางแผนขยายกิจการได้
3) ควรอยู่นอกเขตชุมชน ป้องกันการแพร่กระจายของกลิ่นสัตว์ มูลสัตว์ และเสียงร้องของสัตว์
4) มีการคมนาคมขนส่งสะดวก ส่งอาหารสัตว์เข้าสู่ฟาร์มหรือส่งผลผลิตไปสู่ตลาดได้ง่าย
5) มีแหล่งน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับใช้ในฟาร์ม
6) เป็นสถานที่ที่ไม่เคยเป็นโรคระบาดสัตว์มาก่อน
7) มีไฟฟ้าเข้าถึง เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการผลิตได้

 

 

4. โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เป็นที่สำหรับพักอาศัยของสัตว์ ซึ่งผู้เลี้ยงควรพิจารณาดังนี้
1) วัตถุประสงค์ในการเลี้ยงสัตว์
2) พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดและอายุของสัตว์ที่จะเลี้ยง
3) สภาพภูมิอากาศ ควรเลือกแบบของโรงเรือนที่สามารถปรับสภาพให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง
4) วิธีการเลี้ยง ว่าจะเลี้ยงแบบขังคอกหรือปล่อยให้สัตว์หาอาหารกินเอง
5) เงินทุน ถ้ามีเงินทุนมากควรสร้างโรงเรือนแบบถาวร
6) ทิศทางของโรงเรือน ควรให้อยู่ในแนวเดียวกับการโคจรของดวงอาทิตย์
วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างควรเลือกจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น เพื่อช่วยลดต้อนทุนในการเลี้ยงสัตว์

 

 

5. สภาพภูมิอากาศ มีผลต่อความเป็นอยู่ รูปร่าง ขนาด ลักษณะ และผลผลิตของสัตว์
6. พันธุ์สัตว์ ควรเลือกพันธุ์สัตว์ที่ดีมีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพอากาศและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ
7. อาหารสัตว์ ควรเลือกอาหารที่มีคุณภาพ หาได้ง่ายในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ ราคาไม่แพง
8. การจัดการฟาร์ม กำหนดขอบเขตและวางแนวทางการลงทุน แรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ และการจัดการ
9. ตลาดจำหน่ายสัตว์ ต้องมีแหล่งรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน เพื่อป้องกันการขาดทุน
10. การใช้ประโยชน์และผลพลอยได้ เช่น เขาสัตว์ใช้ทำเครื่องประดับตกแต่ง กระดูกใช้ทำอาหารสัตว์ หนังใช้ทำกระเป๋า รองเท้า

การคัดเลือกพันธุ์สัตว์
1. เลือกพันธุ์สัตว์ให้ตรงกับวัตถุประสงค์การเลี้ยง
2. เลือกพันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพสูง เลี้ยงง่าย และเจริญเติบโตเร็ว
3. เลือกพันธุ์ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และปราศจากโรค
4. เลือกพันธุ์สัตว์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่จะเลี้ยง
5. ถ้าเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าจะต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการสูง
การผสมพันธุ์สัตว์ หมายถึง การที่เซลล์สืบพันธุ์สัตว์ตัวผู้เข้าผสมกับเซลล์สืบพันธุ์สัตว์ตัวเมียแล้วเกิดเป็นตัวอ่อน ซึ่งสามารถผสมตามธรรมชาติหรือผสมเทียมก็ได้ โดยมีหลักสำคัญดังนี้
1. หากผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ควรมีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน
2. พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต้องไม่เป็นสัตว์ครอกเดียวกัน เพราะจะทำให้ลูกเกิดมาไม่แข็งแรง
3. พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต้องมีอายุไม่มากหรือน้อยเกินไป

 

 

วิธีการผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์สามารถเกิดขึ้นได้ 2 วิธี คือ
1. การผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสัตว์
2. การผสมเทียม หมายถึง การรีดน้ำเชื้อจากตัวผู้ แล้วนำไปฉีดเข้าในอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมียในระยะเวลากำลังเป็นสัด
ประโยชน์การผสมเทียม มีดังนี้
1. สามารถถ่ายทอดเลือดจากพ่อพันธุ์ที่ดีไปสู่ลูกทำให้ได้ลูกที่มีคุณภาพดีขึ้น
2. การผสมเทียมสามารถป้องกันการแพร่เชื้อโรคที่เกิดจากการผสมพันธุ์ได้เป็นอย่างดี เช่น วัณโรคและแท้งติดต่อ เป็นต้น
3. สามารถเก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ไว้ได้นานเป็นปี
4. ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผสมติดยากในแม่พันธุ์
5. ไม่มีปัญหาในเรื่องขนาดของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ไม่สมดุลกัน
6. ช่วยประหยัดเงิน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อพ่อพันธุ์ที่ดีมีราคาแพงไว้ในฟาร์ม
7. เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาหรือการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์

วิธีการเลี้ยงสัตว์
1. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงสัตว์จำนวนน้อย ๆ ก่อน เมื่อชำนาญแล้วจึงขยายจำนวนสัตว์
2. คัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่ดีมาเลี้ยง จะได้สัตว์ที่มีคุณภาพ เจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตสูง
3. ผู้เริ่มต้นเลี้ยงต้องมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่จะเลี้ยง
4. ศึกษาการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณข้างเคียง
5. ฝึกอุปนิสัยของผู้เลี้ยงสัตว์ให้มีความอดทน ขยันขันแข็ง และมีความรับผิดชอบสูง
6. แหล่งอาหารสัตว์ ควรเลือกทำเลเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ใกล้แหล่งที่จะหาซื้ออาหารสัตว์ได้ง่าย ราคาถูก และการขนส่งทำได้สะดวก เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์

 

 

การสุขาภิบาลสัตว์
การสุขาภิบาลสัตว์ หมายถึง การปฏิบัติดูแลเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดีสามารถเจริญเติบโตได้โดยปราศจากโรคต่าง ๆ
ความสำคัญของการสุขาภิบาลสัตว์ มีดังนี้
1. ทำให้สัตว์เจริญเติบโตดีและมีสุขภาพแข็งแรง
2. ทำให้สัตว์มีผลผลิตมากขึ้น คือ ให้เนื้อ นม ไข่ ในปริมาณมากและคุณภาพดี
3. สัตว์มีความทนทานต่อโรค ไม่เจ็บป่วยหรือตายง่าย
4. ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย เนื่องจากผลผลิตจากสัตว์มีคุณภาพดี ไม่มีเชื้อโรคติดต่อ
5. ผู้เลี้ยงได้รับผลตอบแทนจากการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น

วิธีการสุขาภิบาลสัตว์ มีหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. การรักษาความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ มีวิธีการดังนี้
1) โรงเรือนต้องมั่นคงแข็งแรง อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันลม ฝน และแสงแดดได้
2) หมั่นเปลี่ยนวัสดุรองพื้นคอกบ่อย ๆ
3) กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลรอบ ๆ โรงเรือน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค
4) ล้างทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำ ใส่อาหาร และอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์อย่างสม่ำเสมอ
2. การให้อาหาร มีวิธีการดังนี้
1) ให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายสัตว์

 

 

2) อาหารต้องใหม่ สะอาด และบรรจุในภาชนะขนาดพอเหมาะกับสัตว์
3) ควรให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะ
4) ถ้าต้องการเปลี่ยนอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ให้ใช้อาหารใหม่ผสมอาหารเก่าทีละน้อย แล้วผสมเพิ่มขึ้นไปทุกวันจนเปลี่ยนเป็นอาหารใหม่ทั้งหมด
3. การให้น้ำ มีวิธีการดังนี้
1) ให้น้ำสะอาด ใส ปราศจากสี กลิ่น เชื้อโรค และสิ่งเจือปนต่าง ๆ
2) ใช้ภาชนะที่สะอาดใส่น้ำให้สัตว์กิน มีมากเพียงพอกับจำนวนสัตว์
3) ควรเก็บน้ำที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ไว้ในภาชนะที่สะอาดและมีฝาปิดมิดชิด
4. การดูแลรักษาสัตว์ มีวิธีการดังนี้
1) ดูแลสภาพร่างกายทั่วไปของสัตว์
2) สังเกตอาการผิดปกติของสัตว์ ถ้าพบว่าป่วยให้รีบแยกออกจากฝูงและรักษาทันที
3) ให้วัคซีนแก่สัตว์ตามกำหนดเวลา
4) ไม่เลี้ยงสัตว์รวมกันหนาแน่นเกินไปเพราะจะทำให้สัตว์เครียดและชะงักการเจริญเติบโต

การเลี้ยงสัตว์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การเลี้ยงสัตว์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการเลี้ยงที่มุ่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าหรือเกิดประโยชน์สูงสุด
การเลี้ยงปลา
1. พันธุ์ปลา ควรเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีลูกดก เนื้อมีรสชาติดี และคนในชุมชนนิยมบริโภค สำหรับปลาน้ำจืดที่นิยมเลี้ยงมีหลายชนิด จำแนกตามลักษณะการกินอาหารได้ 3 ชนิด คือ
1) ปลากินพืช 2) ปลากินเนื้อ 3) ปลากินทั้งเนื้อและพืช
2. อาหารปลา มี 2 อย่าง คือ 1) อาหารธรรมชาติ 2) อาหารเสริม
3. สถานที่เลี้ยงปลา อาจเป็นบ่อปลาขุดใหม่ คูน้ำ ร่องสวน หรือนาข้าว แล้วแต่ชนิดของปลาที่เลี้ยง การเลี้ยงในบ่อโดยทั่วไปจะต้องทำความสะอาดและปรับปรุงบ่อก่อน จากนั้นปล่อยน้ำเข้าบ่อเพาะไรน้ำและตะไคร่น้ำ โดยโรยปุ๋ยคอกลงในบ่อ เมื่อเกิดไรน้ำและตะไคร่น้ำแล้วจึงปล่อยปลาลงบ่อ การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาสำคัญมาก ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่จะดำเนินการ และสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ดังนี้
1) การเลี้ยงปลาในบ่อ ควรคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ สภาพพื้นที่ ลักษณะคุณภาพของดิน น้ำและแหล่งน้ำเหมาะสม
2) การเลี้ยงปลาในนาข้าว สามารถทำได้ทั้งในระหว่างปลูกข้าวและหลังเก็บเกี่ยวข้าว สภาพพื้นที่ควรอยู่ในเขตชลประทาน มีคลองส่งน้ำเชื่อมเข้าสู่แปลงนาได้ โดยยกคันดินให้สูงและกว้าง เพื่อป้องกันน้ำท่วม
3) การเลี้ยงปลาในกระชัง คุณสมบัติของน้ำต้องดี ถ้าเป็นแม่น้ำต้องเลือกที่กระแสน้ำไม่แรง ในช่วงฤดูฝนน้ำไม่ขุ่นมากจนเป็นอันตรายต่อปลา ถ้าเลี้ยงในหนองบึงหรืออ่างเก็บน้ำก็ให้มีน้ำลึกประมาณ 3–5 เมตร หรือให้พื้นล่างของกระชังอยู่สูงกว่าพื้นดินใต้ท้องน้ำ 1–2 เมตร มีที่บังคลื่นลมพอสมควร และมีอาหารตามธรรมชาติ
4) การเลี้ยงปลาในร่องสวน คูในร่องสวนผลไม้ แปลงปลูกพืชผัก และคูรอบบริเวณบ้านพักอาศัยที่มีขนาดกว้าง 2–3 เมตร ลึก 1 เมตร สามารถใช้เลี้ยงปลานิล สวาย ตะเพียนขาว สลิด หรือแรดได้ โดยใช้เศษผักและของเหลือจากครัวเรือนเป็นอาหาร ผลผลิตของปลาที่เลี้ยงในร่องสวนแม้จะมีปริมาณไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอสำหรับใช้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อ

 

 

4. การเตรียมพันธุ์ปลา มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1) เลือกพันธุ์ปลาที่สมบูรณ์และไม่เป็นโรค ลำตัวมีรูปร่างปกติ และมีสีสันสดใส โดยจัดหาจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือได้ในคุณภาพของพันธุ์ปลา
2) พันธุ์ปลาควรมีขนาดความยาวตั้งแต่ 3–5 เซนติเมตรขึ้นไป และมีขนาดไล่เลี่ยกันหรือ
ขนาดเท่ากัน

การเลี้ยงปลาในนาข้าวตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การเลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นการเลี้ยงเพื่อเพิ่มอาหารโปรตีนจากปลาและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา โดยดัดแปลงนาเดิมที่เคยทำอยู่เพียงเล็กน้อยก็สามารถเลี้ยงปลาควบคู่ไปกับการปลูกข้าวได้
ประโยชน์จากการเลี้ยงปลาในนาข้าว มีดังนี้
1. สามารถใช้ประโยชน์จากนาข้าวได้เต็มที่
2. ปลาช่วยกำจัดวัชพืช
3. ปลาช่วยกำจัดศัตรูของต้นข้าว
4. ปลาช่วยพรวนดินในนา
5. ปลาช่วยเพิ่มปุ๋ย
6. การเลี้ยงปลาในนาข้าวช่วยเพิ่มผลผลิตให้ข้าวสูงขึ้นมากกว่าการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว
พันธุ์ปลาที่ควรเลี้ยงในนาข้าว ควรเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว อดทน หาพันธุ์ได้ง่าย ไม่ทำลายต้นข้าว และเนื้อมีรสชาติดี เช่น ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลานวลจันทร์เทศ ปลานิล

 

 

ขนาดและจำนวนพันธุ์ปลา ควรมีขนาดความยาว 5–10 เซนติเมตร เพราะเติบโตได้เร็ว และโตพอที่จะหลบหลีกศัตรูได้ดี จำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงนั้น ควรปล่อยในอัตราที่เหมาะสมต่อพื้นที่นา
ปุ๋ย ปุ๋ยที่เหมาะสม ได้แก่ มูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น ใส่ในอัตราเดือนละประมาณ 50–80 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการหว่านในร่องนาหรือกองไว้ที่มุมแปลงนาด้านใดด้านหนึ่งแล้วแต่ความสะดวก
อาหารและการให้อาหาร การเลี้ยงปลาในนาข้าวเป็นการใช้อาหารธรรมชาติในแปลงนา แต่ถ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของปลา จำเป็นต้องเร่งให้เกิดอาหารธรรมชาติ โดยการใส่ปุ๋ยและให้อาหารสมทบ
การเลือกสถานที่ สภาพพื้นที่ที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวควรมีสภาพดังนี้
1. อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
2. ไม่เป็นที่ลุ่มจนน้ำท่วมหรือที่ดอนเกินไป
3. พื้นที่ที่ปลูกข้าวได้ผลดีจะสามารถดัดแปลงทำการเลี้ยงปลาควบคู่กับการปลูกข้าวได้ดี
การเตรียมแปลงนาเพื่อใช้เลี้ยงปลา มีวิธีการดังนี้
1. ขุดคูภายในโดยรอบของแปลงนาที่จะให้เลี้ยงปลาเสริมคันนาเดิมให้สูงป้องกันน้ำท่วม
2. ควรขุดคูภายในอย่างน้อย 1 ด้าน ทางด้านที่ลาดต่ำกว้าง 1.50 เมตร ลึก 75 เซนติเมตร โดยให้ขอบของคูอยู่ห่างจากคันนาประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันดินพังทลาย สำหรับพื้นที่ของคูไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดที่ใช้เลี้ยงปลา
3. ทำบ่อรวมปลาเชื่อมกับคูดังกล่าวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นที่ 10–20 ตารางเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ในส่วนของที่ลุ่มของนาเพื่อใช้รวบรวมปลาในฤดูเกี่ยวข้าวซึ่งต้องระบายน้ำออกจากแปลงนา และบ่อดังกล่าวนี้ใช้เป็นที่ให้อาหารปลา ใส่ปุ๋ยหมัก หรือมีคอกสัตว์ เช่น สุกร ไก่ อยู่ข้างบนเพื่อใช้มูลสัตว์เป็นอาหารของปลา และเป็นปุ๋ยต่อต้นข้าว
4. พันธุ์ข้าวที่ปลูกในแปลงนาที่เลี้ยงปลานั้น ควรเลือกที่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน และปลูกด้วยวิธีการปักดำ ทั้งนี้เพื่อให้เวลาที่ใช้เลี้ยงปลาในนาข้าวมีระยะนานพอที่ปลาจะโตได้ขนาด

การดูแลรักษา มีดังนี้
1. ก่อนปล่อยปลาควรกำจัดศัตรูโดยทั่วไป ได้แก่ ปลาช่อน งู กบ เขียด หนู และนกกินปลา ในแปลงนาให้หมดเสียก่อน และหาทางป้องกันศัตรูที่จะมาภายหลังด้วย
2. ระดับน้ำ ควรรักษาระดับน้ำให้ท่วมแปลงนาหลังจากปล่อยปลาแล้วจนถึงระยะเก็บเกี่ยวอย่างน้อยประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อปลาจะได้หากินในแปลงนาได้ทั่วถึง
3. หมั่นตรวจสอบคันนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันคันนารั่วซึมและพังทลาย
4. ไม่ควรใช้ยาปราบศัตรูพืชในแปลงนาที่มีการเลี้ยงปลา เพราะเป็นอันตรายต่อปลา
การเตรียมหรือปรับปรุงแปลงนาเพื่อใช้เลี้ยงปลานั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่นั้น ๆ ขนาดของพื้นที่ที่เหมาะสมควรมีแปลงนาติดกันไม่น้อยกว่า 2–5 ไร่ จึงจะเพียงพอและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
การปล่อยปลา ควรปฏิบัติหลังจากปักดำต้นกล้าข้าวเสร็จแล้วประมาณ 15–20 วัน เมื่อสังเกตเห็นว่าต้นข้าวแข็งแรงและรากยึดติดดินดีแล้ว จึงปล่อยปลาลงเลี้ยงในนาข้าว 

การเลี้ยงเป็ดเนื้อ
เป็ดเนื้อ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีผู้นิยมบริโภคเนื้อเป็ดกันมากขึ้น และมีราคาสูง ซึ่งการเลี้ยงเป็ดเนื้อแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

 

 

1. การเลี้ยงเป็นการค้า
2. การเลี้ยงกึ่งการค้า
3. การเลี้ยงแบบหลังบ้านหรือเลี้ยงเป็นงานอดิเรก
หลักสำคัญในการเลี้ยงเป็ดเนื้อ มีดังนี้
1. เลือกเป็ดเนื้อพันธุ์ดี
2. ให้อาหารดี
3. มีโรงเรือนดี
4. มีการจัดการที่ดี
5. มีตลาดจำหน่ายเป็ดเนื้อ

การเลือกสถานที่เลี้ยงเป็ดเนื้อ ควรเลือกสถานที่มีลักษณะดังนี้



1. ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายมีการถ่ายเทน้ำสกปรกและของเสียได้ง่าย พื้นที่กว้างพอกับจำนวนเป็ดที่เลี้ยง และมีพื้นที่ในการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารเป็ดเนื้อ
2. สถานที่ที่จะเลี้ยงเป็ดเนื้อจำเป็นจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำจืดเพราะเป็ดชอบเล่นน้ำ และมีอาหารตามธรรมชาติซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารได้มาก
3. ใกล้แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็ดเนื้อ เช่น รำ ปลายข้าว ปลาสด หอยสด
4. เป็นสถานที่ที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวกต่อการขนส่งอาหาร และนำผลผลิตไปจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงเป็ดเนื้อ มีดังนี้
1. อาหารเป็ดเนื้อ
1) อาหารหยาบ
2) อาหารผสมร่วมกับอาหารหยาบ
3) อาหารสำเร็จรูป
2. อุปกรณ์ให้น้ำ ควรเลือกให้เหมาะสมกับอายุของเป็ด
3. อุปกรณ์ให้อาหาร ควรมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็กสำหรับลูกเป็ด ขนาดกลางสำหรับเป็ดรุ่น และขนาดใหญ่สำหรับเป็นขนาดใหญ่ โดยใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นรางยาว หรือรางซีเมนต์
4. วัสดุรองพื้น เช่น แกลบ ใช้สำหรับรองพื้นส่วนที่แม่เป็ดฟักไข่เพื่อให้พื้นแห้ง
5. เครื่องกกลูกเป็ด ใช้สำหรับให้ความอบอุ่นแก่ลูกเป็ด
การเลี้ยงเป็ดตามกระบวนการทำงาน มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์งาน วิเคราะห์ได้ดังนี้
1) ลักษณะงาน การเลี้ยงเป็ดเนื้อสามารถเลี้ยงได้ทั้งเพื่อการค้า และแบบหลังบ้านหรือเลี้ยงเป็นงานอดิเรกได้ รายละเอียดที่ต้องศึกษา ได้แก่ วัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องจัดเตรียม และวิธีการเลี้ยง
2) คุณสมบัติของผู้เลี้ยง ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเลี้ยงเป็ดซึ่งเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์ การเตรียมโรงเรือน วิธีการเลี้ยง การสุขาภิบาล มีความรับผิดชอบ ขยัน อดทน
2. การวางแผนในการทำงาน เป็นการนำข้อมูลจากการวิเคราะห์งานมากำหนดกรอบก่อนลงมือเลี้ยงเป็ดเนื้อ ดังนี้

 

 

3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน มีวิธีการดังนี้
1) การเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ อุปกรณ์การให้น้ำและอาหาร เครื่องกกลูกเป็ด วัคซีนป้องกันโรค อาหารเป็ด และวัสดุรองพื้น
2) การคัดเลือกพันธุ์ พันธุ์เป็ดที่นิยมเลี้ยงกันมีดังนี้
(1) พันธุ์ปักกิ่ง นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด เพราะมีรูปร่างใหญ่โตมาก เจริญเติบโตเร็ว เลี้ยงง่าย ทนต่ออากาศร้อนจัดและหนาวจัดได้เป็นอย่างดี ให้เนื้อรสชาติดี มีข้อเสีย คือ ตกใจง่าย
(2) พันธุ์เป็ดเทศ ให้เนื้อดี รสชาติดี เลี้ยงง่าย ชอบกินอาหารพวกพืชสด มีรูปร่างใหญ่ ทนทานต่อโรคสูง มีข้อเสีย คือ ให้ไข่น้อย เจริญเติบโตช้า ชอบก้าวร้าว จึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงเพื่อการค้า แต่เหมาะสำหรับเลี้ยงแบบปล่อยหลังบ้านหรือเลี้ยงเป็นงานอดิเรก
(3) พันธุ์เอลสเบอรี่ เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะดีพอ ๆ กับเป็ดปักกิ่ง แต่มีความทนทานต่อโรคน้อยกว่า นิยมนำมาเป็นพ่อพันธุ์เพื่อผลิตเนื้อเป็ด
(4) พันธุ์รูแอง เป็นพันธุ์ที่มีสีสวยงามมาก มีขนาดตัวโต ให้เนื้อดี รสชาติดี มีกลิ่นหอมชวนรับประทานมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ แต่มีข้อเสีย คือ ไข่ไม่ดก เจริญเติบโตช้า นิยมนำมาผสมกับเป็นพันธุ์อื่นเพื่อปรับปรุงพันธุ์
(5) พันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ที่มีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ให้เจริญเติบโตเร็ว กินอาหารน้อย และมีความทนทานต่อโรคสูง จึงนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อการค้า เช่น
– พันธุ์เชอรี่ เป็นลูกผสมที่ใช้สายพ่อพันธุ์ที่ปรับปรุงพันธุ์จากเป็ดพันธุ์ปักกิ่งและเอลสเบอรี่ ส่วนสายแม่พันธุ์มักจะปรับปรุงพันธุ์จากเป็ดพันธุ์ปักกิ่งและแคมเบลล์ เป็ดพันธุ์เชอรี่จึงมีขนสีขาวทั้งตัว จะงอยปากสีเหลือง เจริญเติบโตเร็ว เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3–3.5 กิโลกรัม
– พันธุ์ปั๊วฉ่ายหรือโป๊ยฉ่าย เป็นพันธุ์ลูกผสมซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์เป็ดเทศกับแม่พันธุ์พื้นเมืองของไทยหรือแม่พันธุ์เป็ดปักกิ่ง เป็นเป็ดที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว มีความแข็งแรงดีมาก อัตราการตายต่ำ ไม่ร้องเสียงดัง ให้เนื้อดี เนื้อมีรสชาติดีและไขมันต่ำ เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3.5–4 กิโลกรัม ขายได้ราคาดีเพราะตลาดมีความต้องการสูง
3) การเตรียมโรงเรือน ลักษณะของการเตรียมโรงเรือนที่ใช้จะแตกต่างตามวัตถุประสงค์ในการเลี้ยง เช่น การเลี้ยงเป็ดเนื้อเพื่อการค้าจำเป็นต้องมีโรงเรือนที่ถูกสุขลักษณะจึงจะสะดวกต่อการดูแลรักษา และทำให้เป็ดอาศัยอยู่อย่างสบาย สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และให้เนื้อเต็มที่ สร้างโดยการใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นโครง หลังคามุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี พื้นเทด้วยซีเมนต์และกั้นแบ่งคอกอย่างดี หรืออาจสร้างโรงเรือนแบบง่าย ๆ ด้วยการใช้ไม้ไผ่
หลังคามุงจาก และกั้นบริเวณคอกด้วยไม้ไผ่หรือไม้ราคาถูก วัสดุรองพื้นใช้ทรายหรือแกลบ การสร้างโรงเรือนจะต้องมีลักษณะดังนี้
(1) ใช้เป็นที่กำบังแสงแดดและฝนได้เป็นอย่างดี
(2) บริเวณที่ตั้งโรงเรือนจะต้องเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก
(3) สามารถเข้าไปเลี้ยงดูเป็ดได้สะดวก และควรให้แสงแดดตอนเช้าส่องถึงพื้นคอกได้บ้าง เพื่อช่วยให้คอกไม่ชื้นแฉะ
(4) มีขนาดกว้างพอกำจำนวนเป็ดที่เลี้ยง
(5) ฝาผนังคอกควรมีลวดตาข่ายเบอร์ 20 ขนาด ¾ นิ้ว บุโดยรอบโรงเรือนและประตูเพื่อป้องกันศัตรูเข้ามาทำอันตราย
การเลี้ยงเป็ดเนื้อควรแบ่งออกเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 25–50 ตัว เพราะการเลี้ยงเป็ดเนื้อจำนวนมากเกินไปในฝูงเดียวกันจะมีผลต่อการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก พื้นที่ที่ใช้เลี้ยง 1 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 7 ตัว
4) วิธีการเลี้ยง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
(1) ระยะลูกเป็ด ลูกเป็ดที่ซื้อมาเลี้ยงจะมีอายุประมาณ 1 วัน ควรให้อาหารที่มีคุณภาพสูง อาหารลูกเป็ดเนื้อในระยะ 1–2 สัปดาห์แรกควรเป็นอาหารที่มีโปรตีน 20–24 เปอร์เซ็นต์ เพราะลูกเป็ดกำลังอยู่ในระยะเจริญเติบโต และต้องการอาหารไปสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย วิธีการเลี้ยงมีดังนี้
– เป็ดเนื้อเป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตเร็วในระยะต้น ๆ ของชีวิต ลูกเป็ดเนื้อต้องการอาหารค่อนข้างมาก ผู้เลี้ยงควรดูแลให้ลูกเป็ดได้อาหารและน้ำอย่างทั่วถึง โดยมีรางน้ำ รางอาหารเพียงพอกับจำนวนลูกเป็ดเนื้อ และเติมน้ำสะอาดอยู่เสมอ
– ควรเลี้ยงลูกเป็ดเนื้อเป็นฝูงเล็ก ๆ และให้ความอบอุ่นเต็มที่
– เมื่อลูกเป็ดเนื้อเจริญเติบโต ต้องแยกให้เป็นฝูงย่อย ๆ โดยแยกตัวที่แคระแกร็นไปไว้อีกฝูงหนึ่งเพื่อให้สามารถกินอาหารได้ทันกับตัวอื่น ๆ

 

 

(2) ระยะเป็ดรุ่น เมื่อลูกเป็ดเนื้ออายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกเป็ดจะแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว ต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น โดยยกเครื่องกกและแผ่นล้อมออก อาหารที่ใช้เลี้ยงในระยะนี้ควรมีโปรตีน 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 4 สัปดาห์ ควรเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีวิธีการเลี้ยงดังนี้
– ให้อาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เป็ดเนื้อกินอาหารมากขึ้นและจัดน้ำให้เป็ดเนื้อกินตลอดเวลา เพราะถ้าขาดน้ำเป็ดเนื้อจะเครียดมาก
– ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวโพดผสมอาหารเป็ดเนื้อ เพราะอาจมีเชื้อราแอลฟาท๊อกซิน ซึ่งจะทำให้เป็ดกินอาหารได้น้อยและเจริญเติบโตช้า
– ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้เป็ดเนื้อ ตามโปรแกรมที่กำหนด แล้วให้เป็ดเนื้อดื่มน้ำผสมยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้เครียด และต้องดูแลด้านการสุขาภิบาลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ
– บันทึกการกินอาหาร การตาย การคัดทิ้ง การใช้ยาหรือใช้วัคซีน เพื่อเป็นข้อมูลในการคำนวณต้นทุน หรือพิจารณาหาทางแก้ไขหรือปรึกษาสัตวแพทย์
– เป็ดเนื้อจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อมีอายุประมาณ 60–70 วัน สามารถนำไปจำหน่ายได้ โดยก่อนจับเป็ดเนื้อจำหน่ายประมาณ 2 วัน ควรรักษาพื้นคอกให้แห้งสนิท เพื่อให้เป็ดเนื้อสะอาด และเวลาเคลื่อนย้ายควรให้วิตามินละลายน้ำกิน เพื่อลดความเครียดและงดให้อาหาร 3 ชั่วโมง

 

 

5) โรคและการป้องกันโรค ได้แก่
(1) โรคอหิวาต์เป็ด เป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุดโรคหนึ่ง มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย เป็ดสามารถติดเชื้อโรคนี้ได้โดยการกินเชื้อนี้ปะปนเข้าไปกับน้ำหรืออาหาร
อาการ เมื่อได้รับเชื้อโรคแล้วเป็ดจะซึม ขนพอง นอนหมอบอยู่เฉย ๆ เบื่ออาหาร กระหายน้ำ หายใจเสียงดัง มีไข้สูง ถ้าคลำดูที่คอและเท้าจะร้อน มักจะจับกลุ่มกันอยู่ใกล้รางน้ำ อุจจาระมีลักษณะเป็นน้ำมูลขาวหรือมีสีเขียวอ่อนปนอยู่ด้วยเป็นยางเหนียว กลิ่นเหม็นมาก ผิวหนังอักเสบสีแดงคล้ำ เป็ดที่ได้รับเชื้อโรคมากอาจจะตายกะทันหันโดยไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น
การป้องกัน ทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดโรค แต่เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เป็นวัคซีนเชื้อตายจึงสามารถป้องกันได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หากมีโรคระบาดอยู่ใกล้เคียงจึงจำเป็นต้องฉีดซ้ำ และควรจัดการสุขาภิบาลทางด้านการรักษาความสะอาดของน้ำ อาหาร โรงเรือน วัสดุรองพื้น อุปกรณ์การเลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ และระวังไม่ให้นก หนู สุนัข หรือสัตว์อื่น ๆ เข้าไปในบริเวณโรงเรือน
(2) โรคเพล็กหรือโรคลำไส้อักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัสเกิดขึ้นได้กับเป็ดทุกอายุ
อาการ เป็ดที่เป็นโรคนี้จะซึม ยืนคอตก หลับตา ท้องร่วง เบื่ออาหาร ขาอ่อน ปีกตก ไม่ค่อยเคลื่อนไหว อุจจาระมีสีเขียวปนเหลือง บางครั้งมีเลือดปนด้วย บริเวณรอบ ๆ ทวารช้ำแดงเห็นได้ชัด หายใจลำบากเนื่องจากการอักเสบของหลอดลม เมื่อเข้าไปใกล้หรือทำให้ตื่นตกใจจะได้ยินเสียงหายใจผิดปกติ เพราะมีน้ำมูลเหนียวสะสมอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ บางตัวจะแสดงอาการและตายภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่บางครั้งกินเวลา 6–7 วัน
การป้องกัน ทำได้โดยการฉีดวัคซีนและการสุขาภิบาลที่ดี เพราะโรคนี้เกิดจากการกินน้ำ อาหาร และการสัมผัสกับน้ำเมือกที่ไหลจากปากหรืออุจจาระของเป็ดที่เป็นโรค
(3) โรคหวัด สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิกะทันหันหรืออากาศชื้นมาก การเลี้ยงเป็ดในที่คับแคบและโรงเรือนมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก จะเป็นต้นเหตุทำให้โรคนี้ระบาดได้เช่นกัน
อาการ เมื่อเป็ดได้รับเชื้อจะเซื่องซึม หายใจไม่สะดวก อ้าปากหายใจ มีเสียงครืดคราดในลำคอ เป็ดจะสะบัดหน้าบ่อย จาม มีน้ำมูกไหล ตาแฉะ ไข้สูง เบื่ออาหาร มักแยกตัวออกจากฝูง นอนตลอดเวลา อ่อนเพลีย การเจริญเติบโตลดลงอย่างรวดเร็ว ผอมแห้ง เป็ดที่ป่วยมาก จะตายใน 2–5 วัน
การป้องกัน ป้องกันด้วยการสุขาภิบาลที่ดี ไม่เลี้ยงเป็ดแน่นเกินไป ทำโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทสะดวก รักษาพื้นคอกไม่ให้แฉะ และไม่นำเป็ดจากที่อื่นเข้ามาเลี้ยงรวมกัน
6) การนำไปใช้ประโยชน์ เป็ดจะโตเต็มที่เหมาะสำหรับการบริโภคหรือจำหน่ายเมื่อมีอายุประมาณ 90 วัน หรือ 3 เดือน โดยตัวผู้จะมีน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย คือ ตัวผู้หนักประมาณตัวละ 3.8 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณตัวละ 2.5 กิโลกรัม เมื่อขายรวมกันจะมีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 3 กิโลกรัม ราคาขายส่งจากหน้าฟาร์มจะตกประมาณตัวละ 150 บาท ราคาขายปลีกในท้องตลาดจะเพิ่มไปอีกตัวละ 50 บาท คือตัวละ 200 บาทหรืออาจมีราคาสูงกว่านั้นในช่วงเป็ดขาดแคลน
4. การประเมินผลการทำงาน เป็นการตรวจสอบว่าเป็ดที่เลี้ยงไว้เจริญเติบโตตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากไม่ก็ควรปรับปรุงแก้ไข

คำสำคัญ
การเลี้ยงสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ การสุขาภิบาลสัตว์ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th