“ลอยกระทง” วิถีวัฒนธรรมนานาชาติ อย่างไรจึงเข้ากับวิถีพุทธ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 9.3K views



เปิดปูม “ลอยกระทง” ตามวิถีแห่งวัฒนธรรม


ใกล้ถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ อันเป็นวันลอยกระทงแล้ว 

 


ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
 



 “ประเพณีลอยกระทง” มีคติความเชื่อที่มาแตกต่างกัน
 

        โดยในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการทำพิธีเพื่อต้อนรับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวโลกสู่มนุษย์โลก ภายหลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์โปรดเทพบุตรพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 

       บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระจุฬามณี พระเจดีย์บนสวรรค์
 

      บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย (Narmada River - India) รวมถึงลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้ได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ ตลอดจนขอขมาพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงไปในน้ำ

 

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น 
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
 


 

ลอยกระทงในไทย


        การลอยกระทงในบ้านเรานั้น มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด อาทิ
 

        -- ที่เชียงใหม่ เรียกว่า ประเพณียี่เป็ง ซึ่งมีการลอยกระทงทั้งในแม่น้ำและจุดประทีปโคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วย

        --  ส่วนที่สุโขทัย เรียกว่า ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ

        -- ที่ตาก เรียกว่า ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง โดยใช้กะลามะพร้าวเป็นกระทง, ที่แม่ฮ่องสอน เรียกว่า ประเพณีลอยกระทงสวรรค์

        -- ที่สมุทรสงคราม เรียกว่า ประเพณีลอยกระทงสายกาบกล้วย

        -- ที่พะเยา เรียกว่า ประเพณียี่เป็ง ลอยโคม กว๊านพะเยา

        -- ที่ลำปาง เรียกว่า ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน ประเพณีลอยประทีปทางน้ำแบบโบราณของทางภาคเหนือ ซึ่ง “สะเปา” ในภาษาเหนือ ก็หมายถึงคำว่า “สำเภา” ในภาษากลางนั่นเอง

        -- ที่พระนครศรีอยุธยา เรียกว่า ประเพณีลอยกระทงตามประทีป ซึ่งเป็นการจำลอง ‘พระราชพิธีชักโคมลอยพระประทีป’ ตามที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุ

        -- และที่ฉะเชิงเทรา เรียกว่า ประเพณีลอยกระทง ย้อนเวลา หาวิถีไทย ซึ่งจัดบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตประเพณีแบบไทยโบราณ เป็นต้น

 

 

 ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น 
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
 

 

ลอยกระทงไม่ได้มาจากอินเดีย


        พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ปราชญ์เอกของไทย ได้รวบรวมและสอบถามถึงการลอยกระทงในที่ต่างๆ แล้วจึงสันนิษฐานว่า 
 

        การลอยกระทงจะเป็นคติของชน ชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งย่อมอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพรรณธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาน้ำเจิ่งก็ทำกระทงลอย ไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคาหรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้อุดมสมบูรณ์
 

         เหตุนี้จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก เสร็จแล้วก็เล่นรื่นเริงกันด้วยความยินดี เท่ากับสมโภชการงานที่กระทำว่าได้ลุล่วงรอดมาจนเห็นผลแล้ว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว ความวิตกทุกข์ร้อนเรื่อง เพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการเซ่นสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้น เป็นต้น

         ที่ชาวอินเดียในมัธยมประเทศอธิบายว่าการลอยกระทง เป็นเรื่องบูชาเทวดาที่ตนนับถือไม่จำกัดองค์แน่นอนลงไป ก็เป็นเรื่องที่แก้รูปให้เข้ากับคติศาสนา ที่แท้ก็เป็นเรื่องเซ่นบูชาผีสางเทวดามาแต่ดั้งเดิม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ตนและครอบครัว
 

         ที่บอกว่าเป็นพิธีทำเป็นประเพณีสืบมาแต่โบราณนมนานไกล จนไม่ทราบได้ว่ามีขึ้นเมื่อไร ก็แสดงว่าการลอยกระทงเป็นของเก่า จนไม่รู้ต้นเหตุเสียแล้ว

 

 

 ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น 
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
 

 

วิธีลอยกระทงตามจารีตพุทธ


           ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์ จากชมรมชีวานุภาพ ได้บอกถึงวิธีลอยกระทงตามจารีตแห่งพุทธว่า
 

            “วันนี้เป็นวันน้ำสมบูรณ์ที่สุด พระจันทร์สวยที่สุด ในฝั่งไทย ควรตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ เพราะบางทีน้ำทุกสายขยายไปทับวัด ในน้ำอาจจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป พระธาตุ พระบาท พระเจดีย์อยู่
 

           ขณะที่ลอยต้องทำกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด อย่างน้อยถือศีล ๕ ตั้งใจให้อิ่มเต็มในกุศลเหมือนน้ำที่เต็มฝั่ง
 

           คนโบราณใช้วันนี้เป็นวันที่เรียกว่า ส่งท้ายขอขมา แต่ไม่ได้ขอขมาแต่เพียงพระแม่คงคา แต่ขอขมาในนัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเราได้เคยล่วงเกินมา ขอให้น้ำนี้ได้ช่วยนำขอขมาทั้งหมด เพราะกระทงล่องไปผ่านวัดริมน้ำทั้งหมด แปลว่าเราไหว้ทุกวัดแล้วนะ
 

           เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นวันที่รื่นเริงในธรรม เบิกบานในบุญ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาอกุศลมาเติมกับตัวเอง” 

 

 

อธิษฐานอย่างไรดี

          ดร.อภิณัฏฐ์ ได้บอกถึงวิธีอธิษฐานโดยย่อดังนี้ 

          “ตั้งนโม ๓ จบ เสร็จแล้วบอกว่าพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

            พุทธบูชามหาเตชวันโต ข้าพเจ้าขอบูชาคุณพระพุทธด้วยเครื่องสักการะนี้ ในการบูชานี้ขอให้ข้าพเจ้าอุดมด้วยเดชเดชะ

            ธรรมบูชามหาปัญโญ ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรมเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้ ด้วยการบูชาครั้งนี้ขอให้ข้าพเจ้าอุดมด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่

             สังฆบูชามหาเตชวโห ด้วยการบูชาพระสังฆเจ้าด้วยเครื่องบูชานี้ ขอให้ข้าพเจ้าจงอุดมด้วยโภคสมบัติ

            แล้วบอกว่าข้าพเจ้าชื่อเรียงเสียงอะไร อยู่บ้านที่ไหน ได้อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินพระแม่ธรณี อันจะกลับไปสู่แผ่นพระแม่ธรณีเช่นเดิม หล่อเลี้ยงชีวิตให้ชุ่มชื่นด้วยพระแม่คงคา ด้วยคุณน้ำคุณนทีมีความอบอุ่น เพราะอาหารอันทำให้เกิดความอบอุ่นแห่งไฟในร่างกายเคลื่อนไหวได้ด้วยธาตุลม ขอเอาทั้งหมดมาประชุมกันเพื่อเป็นเครื่องบูชาในวันนี้ อาศัยเอาท่าน้ำสายน้ำนี้เป็นเครื่องบูชาความบริบูรณ์ของพระพุทธเจ้า มีวิชาและจารณะเป็นต้น 



            วันนี้ข้าพเจ้าบูชาแล้วซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในโอกาสวันเพ็ญเดือน ๑๒

             ขออวิชชาทั้งปวง กิเลสทั้งหลายของข้าพเจ้าจงบรรเทาหายหมดไป ขอปัญญาข้าพเจ้ารุ่งเรืองผ่องใสดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้เถิด
 

             แล้วก็ตั้งใจวางลงไปด้วยความเคารพนบนอบบูชา พอลอยไปเสร็จแล้ว ก็บอกว่า

             ข้าพเจ้าขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในสายน้ำนทีนี้ และที่ใดๆ ก็ตามที่ข้าพเจ้าได้เคยข้ามได้เคยเหยียบได้เคยใช้ ล่วงล้ำก้ำเกิน จะเป็นด้วยกายวาจาใจก็ดี ทั้งนี้เพราะว่าข้าพเจ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีปัญญาลึกซึ้ง ข้าพเจ้าขอขมาในสิ่งนี้ด้วย
 

              แล้วกลับบ้านไปไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิจิตใจผ่องใส จะทำแบบนี้ก็ได้ หรืออาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือมีจารีตที่เคยกระทำมา ก็ไม่ว่ากัน” 

 

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock   
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น 
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
 

 

 

ลอยกระทงของนานาชาติ

พม่า 

            ลอยเพื่อบูชาพระอุปคุต พระยานาค ที่อยู่กลางสะดือทะเล แต่ก็ไม่มีการบรรจุอาหารหรือสิ่งของลงไปในกระทง
 

            มีต้นเหตุเรื่องลอยกระทงของชาวบ้านเรื่องหนึ่งว่า

           พระเจ้าธรรมาโศกราชจะทรงสร้างพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แต่ถูกพระยามารคุกคามทำลายพระเจดีย์เหล่านั้น พระเจ้าธรรมาโศกราชจึงทรงขอร้องพระอุปโคต พระยานาค ให้ช่วยจับพระยามารด้วย พระอุปคุตจึงจัดการปราบพระยามารเป็นผลสำเร็จ แต่นั้นมาราษฎรจึงทำพิธีลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระอุปโคต พระยานาค สืบมาทุกปี

 

************************************
 

กัมพูชา

            มีการลอยสองครั้ง คือ

            ลอยกระทงของหลวงกลางเดือน ๑๑

            ส่วนราษฎรก็ทำกระทงเล็กและบรรจุอาหารไปด้วย แต่ไม่มีเสื้อผ้าหรือของอื่น
 

            ส่วนกลางเดือน ๑๒ จะมีกระทงของหลวงเป็นกระทงใหญ่ ราษฎรจะไม่ได้ทำ และกระทงนี้จะมีอาหารบรรจุลงไปด้วย โดยมีคติว่าเพื่อส่งส่วนบุญไปให้เปรต 

 

************************************



อินเดีย 

             เป็นเรื่องที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์จนไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นเพียงการปฏิบัติสืบกันมาเป็นประเพณี เป็นเรื่องบูชาพระเป็นเจ้าหรือเทวดาที่ตนนับถือเท่านั้น สิ่งของที่บรรจุในกระทงจึงมีแต่ประทีปและดอกไม้บูชามากกว่าอย่างอื่น
 

             การลอยไม่มีการกำหนดเป็นฤดูกาลแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นหากอยู่ในที่ดอนก็จะนำกระทงไปวางบนดินเฉยๆ ก็มี

 

 

************************************

 

ลาว 

              เป็นการบูชาแม่น้ำด้วยการลอยประทีปและไหลเรือไฟ โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาคุณแห่งแม่น้ำโขงที่เลี้ยงดูมา
 

              และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

************************************


จีน 
               ประเทศจีนทางตอนเหนือในหน้าน้ำ น้ำท่วมเสมอ บางปีไหลแรงมากจนทำให้มีคนจมน้ำตายนับจำนวนเป็นแสนๆ ประเทศจีนจึงมักมีการลอยกระทงในช่วงเดือนเจ็ด (ตามปฏิทินจีน) เพราะเชื่อกันว่าเป็นเดือนแห่งวิญญาณ มีการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำ เพื่อเป็นไฟนำทางแก่วิญญาณเร่ร่อน เพื่อมุ่งไปสู่การเดินทางของจิตวิญญาณไปยังปรโลก
 

               ในกระทงจะจุดโคมและมีอาหารบรรจุเพื่อเป็นทานแก่ดวงวิญญาณ

 

************************************


นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม เกาหลี หรือญี่ปุ่น
              ก็มีพิธีกรรมในการขอขมาและลอยทุกข์ลงในน้ำเช่นกัน โดยสันนิษฐานกันว่าต้นแบบของความเชื่อนี้มาจากศาสนาพุทธแบบมหายานที่แพร่หลายไปจากประเทศจีน 

 

************************************ 



เรียบเรียงจากที่มา : 
https://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=26453

https://attempt.exteen.com/20091017/entry-1

https://sites.google.com/site/wanloykatong/wanlxy-krathng-kab-phuthth-sasna