ขอให้"แรด"หนึ่งวันกับ "วันอนุรักษ์แรดโลก" (World Rhino Day)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 2.7K views




22 กันยายนของทุกปี วันอนุรักษ์แรดโลก
วันสำคัญที่ตอกย้ำและแสดงให้ตระหนักถึง
การลดลงของจำนวนประชากรสัตว์เลือดอุ่นขนาดใหญ่อันดับสองของโลก
 


ทำไมต้องวันอนุรักษ์แรดโลก ?

หลายๆ คนอาจสงสัยว่าทำไมแรดถึงสำคัญ แรดนั้นถูกจัดได้ว่าเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากช้าง โดยน้ำหนักของมันมีมากถึง 1,000 กิโลกรัมค่ะซึ่งถ้าเป็นพันธุ์แรดขาวจะมีน้ำหนักที่ 3,500 กิโลกรัมหรือกว่า 3 ตันเลยทีเดียว

และจากข้อมูลการวิจัยของนักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์พบว่าขอบเขตพื้นที่ๆ แรดมักเลือกอาศัยอยู่นั้นจะสอดคล้องกับสายพันธุ์พืชและสัตว์ที่สำคัญอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา

ยกตัวอย่างเช่นช้างป่า ควายป่าที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ทั้ง 5 หรือ The Big 5 ของทวีปแอฟริกาใต้ ทำให้การอนุรักษ์แรดนั้นเปรียบเสมือนการดูแลและปกป้องสายพันธุ์ชนิดอื่นข้างเคียงไปด้วยนั่นเอง


แรดกับประเทศไทย ?

เราเคยรู้กันมาว่าประเทศไทยนั้นเคยเป็นเเหล่งที่อยู่อาศัยของแรดป่าสองชนิด ได้แก่แรดชวา และกระซู่

(หลักการจำแนกคือแรดมีนอเดียว แต่กระซู่จะมีสองนอ)

แต่ในสัตว์ป่าทั้งสองชนิดได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนเเล้วว่าเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Extinct in the wild) ไปแล้วในประเทศไทย

รายงานล่าสุดที่เกี่ยวข้องของแรดและกระซู่ในประเทศไทยต้องย้อนกันไปถึงปี 2540 ที่มีการค้นพบร่องรอยของกระซู่บริเวณปลักบนภูเขาสูง ในป่าฮาลา-บาลา แต่ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเจ้าของรอย และมีแนวโน้มว่าพวกมันอาจจะหลบหนีเข้าป่าลึกมาเลเซีย และท้ายที่สุดมันอาจถูกตามล่าจากพรานไปเเล้วก็เป็นได้

แม้ไซเตสจะบรรจุชื่อแรดไว้ในบัญชีหมายเลข 1 มาตั้งแต่ปี 2520 และประเทศไทยเองก็จัดแรดให้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวน แต่ท้ายที่สุดเเล้วจำนวนประชากรแรดก็ยังคงถูกคุกคามจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุด

 

แรดในวันนี้ ?

ประชากรแรดป่าทุกสายพันธุ์นั้นตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตทั้งสิ้นค่ะ

โดยสายพันธุ์ที่เรียกได้ว่าอยู่ใกล้ขอบเขตของการสูญพันธุ์มากที่สุดนั้นก็คือ แรดชวา ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในป่าของประเทศไทยและเพื่อนบ้านเช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าแรดชวาตัวสุดท้ายในบริเวณนี้ถูกสังหารไปเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ณ ประเทศเวียดนาม

ปัจจุบัน แรดชวา มีหลงเหลืออยู่แค่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย และมีจำนวนประชากรจากการสำรวจแค่เพียง 44 ตัวเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้แรดชวา ไม่มีอยู่ในสวนสัตว์และถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หาพบได้ยากที่สุดในโลกค่ะ

นอกจากนั้นเเล้ว แรดสุมาตรา หรือกระซู่ ที่มีลักษณะคล้ายแรดชวาก็ตกอยู่ในสถานะการณ์ย่ำแย่พอๆ กัน นั่นคือเหลือประชากรในป่าไม่เกิน 100 ตัวเท่านั้น และกระซู่จัดเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศไทยค่ะ

และสำหรับสายพันธุ์ที่เหลือ แรดอินเดียมีประชากรหลงเหลือทั่วโลกแค่เพียง 3,300 ตัว แรดดำ มีประชากรหลงเหลือทั่วโลกแค่ 5,000 ตัว และแรดขาวที่มีประชากรหลงเหลือทั่วโลกประมาณ 20,400 ตัวค่ะ

 

วันอนุรักษ์แรดโลกเริ่มขึ้นเมื่อ ?

วันอนุรักษ์แรดโลกนั้นเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2553 หรือเมื่อ 4 ปีก่อนนี้เองค่ะ โดยวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรดสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีสาเหตุหลักมาจากการลักลอบล่าของมนุษย์นั่นเอง

สาเหตุหลักของการล่าแรด
ก็คือความต้องการที่จะนำนอของแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ

แต่รู้ไหมคะว่า แท้จริงเเล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมคนเลย และตลาดการค้าขายนอแรดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกนั้นอยู่ที่ประเทศเวียดนาม

ถึงแม้แรดจะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก แต่ทว่าจำนวนประชากรของแรดก็กำลังลดลงไปในทุกๆ ปี วันนี้ทาง WWF-ประเทศไทยจึงอยากจะขอให้ทุกคนส่งผ่านข้อความการอนุรักษ์นี้ไปให้กับคนรอบข้างเพื่อเป็นการตระหนักถึงเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อสายพันธุ์นี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในประเทศไทย และเป็นการช่วยกันส่งเสริมและการปลูกฝังค่านิยมลดการใช้เครื่องประดับที่มาจากชีวิตของผู้อื่นเช่นนอแรดและงาช้างด้วยค่ะ

#ขอให้แรดหนึ่งวัน #WorldRhinoDay #WWF

 

ที่มา : https://www.wwf.or.th/news_and_information/?229630/world-rhino-day