รวมเหตุการณ์ลูกไฟที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และรู้จัก อุกกาบาต- ดาวตก-ผีพุ่งใต้-ลูกไฟ- ดาวตกชนิดระเบิด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12.4K views




ภาพจาก : Thip Na Prathatthai

 


          จากเหตุการณ์ มีผู้พบเห็นลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่ตกที่ประเทศไทยเวลา 20.46 น. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็น "ดาวตก" เรามาลองมาดูกันสิว่าเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยมาแล้วกี่ครั้ง
 

          

ภาพจาก : Porjai Jaturongkhakun
 

           เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 มีลูกไฟขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร 50 เซนติเมตร พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลก ด้วยความเร็วกว่า 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่า"อุกกาบาต"ตกบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

           เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 19.40 น. ได้มีรายงานการเห็นลูกไฟขนาดใหญ่ ส่องแสงสว่างสีเขียวอมน้ำเงินเจิดจ้าสวยงามมาก ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่คาดว่าเป็น "อุกกาบาต" 


           คืนวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2466  เวลาประมาณ 21.00 น. ของ มี"อุกกาบาต"ที่นครปฐมตกลงมาจากฟ้า โดยทะลุผ่านหลังคายุ้งข้าวของนายยอด ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม อุกกาบาตนครปฐมมีสองก้อน ก้อนเล็กหนัก 9.6 กิโลกรัม รวมสองก้อนหนักถึง 32.2 กิโลกรัม จัดเป็นอุกกาบาตหิน มีเหล็กเป็นส่วนผสมประมาณ 22% รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาขอยืมก้อนเล็กไปศึกษา และได้บริจาคชิ้นส่วนหนัก 413 กรัมให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสหรัฐฯ

            เมื่อเวลา 5.30 น. ของเช้ามืดวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2524 ลูกไฟขนาดใหญ่ระเบิดเหนือท้องฟ้าอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ใกล้พรมแดนไทย-ลาว มีเสียงดังกึกก้องกัมปนาทได้ยินไปทั่วจังหวัดเลยและจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง อุกกาบาตตกกระจัดกระจายในพื้นที่ประมาณ 24 ตารางกิโลเมตร โดยอุกกาบาตที่เชียงคานเป็นอุกกาบาตหิน ประกอบด้วยอุกกาบาตก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน ค้นพบหลังจากมีลูกไฟขนาดใหญ่สว่างกว่าแสงจันทร์ พุ่งผ่านท้องฟ้าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

            คืนวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2536 เวลาประมาณ 20.45 น. บ้านร่องดู่ ตำบลลานบ่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์พบอุกกาบาตตกลงมาในบริเวณพื้นที่ใกล้บ้านของนายสาลีและนางคำหล้า รักก้อน 

แหล่งข้อมูล : https://thaiastro.nectec.or.th/library/thaimeteorite/thaimeteorite.html 

 

รู้จัก "อุกกาบาต- ดาวตก-ผีพุ่งใต้-ลูกไฟ- ดาวตกชนิดระเบิด"
 

             วัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 1 กิโลเมตร เรียกว่า "สะเก็ดดาว" (Meteoroids)
 

ภาพ : shutterstock.com

 

            เมื่อสะเก็ดดาวตกลงสู่โลกและเสียดสีกับบรรยากาศจนเกิดความร้อนและลุกติดไฟ มองเห็นเป็นทางยาวในเวลากลางคืนเรียกว่า "ดาวตก" หรือ "ผีพุ่งใต้" (Meteor หรือ Shooting star)

 

ภาพ : shutterstock.com
 

            ดาวตกที่มองเห็นส่วนมากมีขนาดประมาณเม็ดทราย แต่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงประมาณ 40 - 70 กิโลเมตร/วินาที จึงเสียดสีกับอากาศจนร้อนมากจนเผาไหม้หมดก่อนที่จะตกถึงพื้นผิวโลก
 

ภาพ : shutterstock.com

 

            อย่างไรก็ตามถ้าสะเก็ดดาวขนาดใหญ่ตกลงมาก็จะเผาไหม้ไม่หมด เหลือชิ้นส่วนตกค้างบนพื้นผิวโลกซึ่งเรียกว่า "อุกกาบาต" (Meteorite) และหลุมที่เกิดจากการพุ่งชนเรียกว่า "หลุมอุกกาบาต" (Meteor crator)
 

***********************************
 

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม 10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ  "อุกกาบาต- ดาวตก-ผีพุ่งใต้-ลูกไฟ- ดาวตกชนิดระเบิด"

 โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

            เหตุการณ์ “ลูกไฟปริศนา” เมื่อเช้านี้ (จันทร์ 7 กันยายน พ.ศ.2558 ประมาณ 8:30น.) ซึ่งมีผู้พบเห็นจำนวนมาก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่กรุงเทพและปริมณฑล ไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีและอุทัยธานี ทำให้คิดว่าน่าจะมาทำความรู้จักคำศัพท์และเรียนรู้เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุในอวกาศที่เข้ามาในบรรยากาศของโลกกันสักหน่อย
 

1. คำว่า สะเก็ดดาว (meteoroid) ใช้เรียก วัตถุในอวกาศซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนของดาวหาง (comet) หรือดาวเคราะห์น้อย (asteroid) ขนาดของสะเก็ดดาวตั้งแต่ราว 10 ไมโครเมตร ไปจนถึงราว 1 เมตร
 

2. หากสะเก็ดดาว (ในข้อ 1) เคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศของโลก จะเกิดการเสียดสีกับอากาศเกิดแสงสว่าง เรียกว่า ดาวตก หรือผีพุ่งไต้ (meteor, shooting star หรือ falling star)
 

3. ดาวตก (ในข้อ 2) ที่สว่างมากกว่าโชติมาตร -3 จะสว่างมากจนสามารถมองเห็นได้ในพื้นที่กว้าง และเรียกว่า ลูกไฟ (fireball) หรืออาจนิยามว่า ถ้าดาวตกสว่างกว่าดาวศุกร์ก็เรียกว่า ลูกไฟ ก็ได้ [ดูคำอธิบายเกี่ยวกับโชติมาตรโดยย่อในข้อ 4]
 

4. คำว่า โชติมาตร หรืออันดับความสว่าง (magnitude) เป็นตัวเลขที่ใช้วัดความสว่างของวัตถุบนท้องฟ้า มีข้อสังเกตว่าตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งสว่างมาก เช่น ดาวเหนือ (+2.1) ดาววีก้า (+0.14) ดาวโจร หรือซิริอุส (-1.46) ดาวศุกร์ (-4.6) ดวงจันทร์ (-12.4) และดวงอาทิตย์ (-26.7)


หมายเหตุ: จากการสอบถาม ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พบว่า ลูกไฟเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 มีความสว่างไม่น้อยกว่า -15 กล่าวคือ สว่างกว่าดวงจันทร์วันเพ็ญ

 

5. การที่เราเห็นลูกไฟได้ในเวลากลางวัน แสดงว่าลูกไฟนั้นต้องมีความสว่างอย่างน้อย -6 (และยิ่งถ้าปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไร ก็ต้องยิ่งสว่างมาก กล่าวคือ ค่าตัวเลขโชติมาตรน้อยกว่า -6 มาก)
 

6. หากลูกไฟ (ในข้อ 3) ระเบิดขึ้นในบรรยากาศของโลก ในทางเทคนิคจะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (bolide)
หมายเหตุ : อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน คำว่า fireball (ลูกไฟ) และ bolide (ดาวตกชนิดระเบิด) มักจะใช้แทนกันได้
 

7. หากชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวตกลงบนพื้นโลก ก็จะเรียกว่า อุกกาบาต หรือ อุกลาบาต (meteorite)
 

8. ลูกไฟอาจฝากรอยทางไว้บนท้องฟ้าได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

8.1 เส้นเทรน (train) คือ แนวสว่างที่เกิดจากโมเลกุลของอากาศถูกกระตุ้น (excited) และไอออไนซ์ (ionized) แนวเส้นเทรนนี้ส่วนใหญ่จะคงตัวอยู่ไม่กี่วินาที แต่นานๆ ครั้งอาจคงตัวอยู่นานหลายนาทีก็เคยพบ แนวเส้นเทรนมักเกิดที่ระดับความสูงเกิน 80 กิโลเมตร

8.2 เส้นควัน (smoke trail) คือ กลุ่มผงอนุภาคขนาดเล็กที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างสะเก็ดดาวกับอากาศ เส้นควันมักจะเกิดขึ้นที่ความสูงต่ำกว่า 80 กิโลเมตร และมักจะพบร่วมกับลูกไฟที่ปรากฏในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน
 

9. ขณะลูกไฟสว่างวาบมากที่สุด พบว่ามีความสูงในช่วง 19.1 ถึง 61.1 กิโลเมตร

[จากข้อมูล Fireball and Bolide Reports ของ Near Earth Object Program เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 – ตัวเลขต่ำสุดและสูงสุดอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลใหม่]
 

10. ขณะลูกไฟสว่างวาบมากที่สุด พบว่ามีอัตราเร็วในช่วง 12.4 ถึง 32.1 กิโลเมตร/วินาที [จากข้อมูล Fireball and Bolide Reports ของ Near Earth Object Program เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 – ตัวเลขต่ำสุดและสูงสุดอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลใหม่]
หมายเหตุ: อัตราเร็ว 32.1 กิโลเมตร/วินาที = 115,560 กิโลเมตร/ชั่วโมง!

อ้างอิง
https://neo.jpl.nasa.gov/fireball/
https://www.amsmeteors.org/…/AMS-TERMINOLOGY-2015-EN-ENGLISH… (ที่มาของภาพ)

แก้ไข-ปรับปรุงล่าสุด : จันทร์ 7 กันยายน 2558 14:38น.

 

*********************************

น่ารู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับ "อุกกาบาต" 
 


ภาพที่ 1 อุกกาบาตประเภทต่างๆ

 

                การแบ่งประเภทของอุกกาบาต เป็นเช่นเดียวกับการแบ่งประเภทดาวเคราะห์น้อย เพราะอุกกาบาตก็คือชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยนั่นเอง ซึ่งแบ่งตามองค์ประกอบทางเคมีได้ดังนี้ 
    • C-type (Carbonaceous chondrite) อุกกาบาตคาร์บอนมีสีคล้ำเนื่องจากมีองค์ประกอบเป็นคาร์บอนจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อุกกาบาตประเภทนี้เป็นพาหะนำเชื้อชีวิตมาสู่โลก 
       
    • S-type (Stone) อุกกาบาตหิน มีองค์ประกอบเป็นซิลิกา
       
    • M-type (Metal) อุกกาบาตโลหะ มีองค์ประกอบเป็นเหล็กและนิเกิล  

       
 ภาพที่ 2 อุกกาบาตจากดาวอังคารที่พบบนพื้นผิวโลก 

 

            นอกจากอุกกาบาตจะเกิดขึ้นจากสะเก็ดดาวเคราะห์น้อยแล้ว ยังมีอุกกาบาตบนพื้นโลกที่มาจากดวงจันทร์และดาวอังคาร  ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่พุ่งชนดวงจันทร์ของดาวอังคาร แรงระเบิดจะทำให้สะเก็ดดาวกระเด็นขึ้นสู่อวกาศจนหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงและล่องลอยไปในอวกาศ  เมื่อโลกโคจรผ่านเข้ามา แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดให้สะเก็ดดาวนั้นตกลงมา และถ้าอุกกาบาตนั้นตกลงบนพื้นผิวสีขาวเช่นแผ่นน้ำแข็ง นักวิทยาศาสตร์ก็จะตามไปเก็บได้ง่ายดังภาพที่ 2 เป็นอุกกาบาตจากดาวอังคารที่เก็บได้ที่ขั้วโลกใต้ 
 

 
 ภาพที่ 3 ฟอสซิลจุลินทรีย์ในอุกกาบาตจากดาวอังคาร

 

             ในปี พ.ศ.2539 ได้มีการค้นพบอุกกาบาต ALH84001 ซึ่งเป็นสะเก็ดดาวอังคารตกลงบนแผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติก เมื่อนำมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแล้วพบวัตถุรูปร่างเหมือนสิ่งมีชีวิตดังภาพที่ 3

          นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นฟอสซิลจุลินทรีย์บนดาวอังคาร แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นจุลินทรีย์บนโลกของเราซึ่งมาอาศัยอยู่ในภายหลังจากที่อุกกาบาตอยู่บนพื้นโลกแล้ว อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด 
 

คำอธิบายภาพข้างบน

1. อุกกาบาตที่พบบนดาวอังคารโดยรถหุ่นยนต์ออปโปตูนิตีโรเวอร์
2. ฝนดาวตก
3. อุกกาบาตจากดาวอังคาร 
4. หลุมอุกกาบาตบาร์ริงเจอร์ที่มลรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
5. อุกกาบาตหินที่พบในทวีปแอนตาร์คติก
6. อุกาบาตเหล็กที่พบในหลุมบาร์ริงเจอร์ 
7. อุกกาบาตจากดวงจันทร์พบในทวีปแอนตาร์กติก

 

เกร็ดความรู้
  • 4,600 ล้านปีมาแล้ว ฝุ่นและแก๊สรวมตัวกันกำเนิดเป็นดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ และวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ
     
  • 65 ล้านปีมาแล้ว อุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกที่ ชิคซูลูบ (Chicxulub) คาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกร้อยละ 75 ของโลกสูญพันธุ์ 
     
  • 50,000 ปีมาแล้ว เกิดหลุมอุกกาบาตบาร์ริงเจอร์ ในทวีปอเมริกาเหนือ
     
  • ปี พ.ศ.2441 อุกกาบาตระเบิดกลางอากาศ ทำให้ต้นไม้ในป่าทังกูสก้าในไซบีเรีย ล้มตายเป็นอาณาบริเวณกว้าง  
     
  • ปี พ.ศ.2539 มีการค้นพบอุกกาบาต ALH84001 ซึ่งเป็นสะเก็ดดาวอังคารตกลงบนแผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติก ภายในมีฟอสซิลจุลินทรีย์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร 

 

********************************************

 

ภาพและเนื้อหามาจาก

 https://www.lesa.biz/astronomy/solar-system/small-bodies/meteoroids
https://www.facebook.com/groups/CloudLoverClub/permalink/1178140535534970/?hc_location=ufi