รู้รอบโลก ตอน สำลีบนฟ้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 8.6K views



เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา  ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ

 

 สำลีบนฟ้า 

 รู้รอบโลก ตอน สำลีบนฟ้า


ปุยฝ้าย สายไหม สำลี ที่ดูฟูนุ่มหรือจะสู้ก้อนเมฆที่บางเบาลอยเคว้งบนฟ้าได้ ก้อนเมฆบนฟ้าที่น่าค้นหา น่าสัมผัส หากเพราะมันลอยสูงเกินเอื้อม ยิ่งทำให้น่าหลงใหล จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนมากมายถึงชอบเหม่อมองไปบนท้องฟ้า มองดูเมฆก่อตัวเป็นรูปริ้วหลากหลาย  บ้างก็ถ่ายรูปบันทึกลวดลายและแสงสีที่พระอาทิตย์ส่องผ่านก้อนเมฆ สาเหตุที่ทำให้เมฆน่าหลงใหลอาจจะมาจากข้อเท็จจริง เรื่องจุดกำเนิดที่แสนธรรมดา แต่รูปแบบของมันกลับเปลี่ยนแปลงไปได้ไม่มีซ้ำ
 

เมฆคืออะไร หากพูดแบบง่าย ๆ มันคือกลุ่มของละอองน้ำหรือเกล็ดน้ำแข็งที่รวมตัวกันและโดนอากาศยกตัวขึ้นไปลอยอยู่บนฟ้า ซึ่งอันที่จริงแล้วมันง่าย ๆ แค่นั้นแหละ หากเราไม่มาพิจารณาว่ามันลอยขึ้นไปด้วยความกดอากาศมากน้อยเท่าไหร่ที่ทำให้มันลอยขึ้นหรือลง หรือว่ามันจะลอยไปทางไหน ลมจากแต่ละทิศ แต่ละระดับความสูงส่งผลต่อก้อนเมฆอย่างไร ละอองน้ำที่รวมตัวกันเป็นก้อนเมฆนี้ หากมีมากพอ มันก็จะตกกลับลงมาเป็นฝน และหากก้อนน้ำนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นและเจอเข้ากับความเย็นจัดก็อาจจะตกมาเป็นลูกเห็บได้
 

ชื่อเรียกเมฆแต่ละแบบก็ออกจะเท่เก๋ไก๋ โดยหากเราจะแบ่งเมฆตามรูปร่างของมัน ได้แก่ เมฆก้อน หรือ คิวมูลัส (Cumulus) และเมฆแผ่นหรือที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆที่เรียกว่า สเตรตัส (Stratus) ที่น่าสนุกก็คือหากเมฆก้อนนั้นเข้มขึ้นและลอยต่ำลงและกลายเป็นเมฆฝน เราจะเอาคำว่า นิมโบ หรือ นิมบัส ซึ่งแปลว่า ฝน เพิ่มเข้าไปให้กลายเป็นคำว่าเมฆฝน เช่น เมฆก้อนที่มีฝนตก เรียกว่า คิวมูโลนิมบัส Cumulonimbus หรือหากเป็นเมฆฝนที่เป็นแผ่น ๆ ก็จะเรียกว่า นิมโบสเตรตัส Nimbostratus แต่ว่าในทางอุตุนิยมวิทยาเองก็มีการแบ่งชนิดเมฆเป็นของตัวเองตามความสูงของมัน ได้แก่ เมฆชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ และแนวตั้ง ซึ่งก็มีชื่อเรียกจำเพาะอีกมากมาย
 

เมฆที่มีลักษณะน่าสนใจได้แก่ เมฆที่เกิดในชั้นสูงกว่า 6 กิโลเมตรจากพื้นดินขึ้นไป โดยมันมีชื่อว่า เซอร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) จากชื่อเราก็สามารถเดาได้ว่ามันมีลักษณะเป็นแผ่น ตามคำว่า สเตรตัส นั่นเอง สีของเมฆชนิดนี้เป็นสีขาวหรือน้ำเงินจาง ๆ ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งและละอองน้ำ ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง โปร่งแสงต่อแสงอาทิตย์ บางครั้งหักเหแสง และนั่นทำให้เกิดวงแหวนสีคล้ายรุ้งล้อมรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ ซึ่งเรียกว่า ทรงกลด (Halo) นั่นเอง
 

หลายครั้งที่เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วเห็นเมฆเป็นเส้นยาว ๆ เหมือนคนเอาอะไรมาขีดไว้ มันขัดกับเมฆก้อนอื่น ๆที่อยู่รอบ ๆ อย่างชัดเจน เมฆพวกนี้เรียกว่า คอนเทรล (Contrail) ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจาดความร้อนของเครื่องบินไอพ่น มีลักษณะเป็นเส้นพาดผ่านท้องฟ้า และมักเกิดขึ้นที่ชั้นความสูงเกินกว่า 6 กิโลเมตรเช่นกัน
 

แล้วทำไมในสภาพอากาศปกติบางทีเมฆก็มีสีขาวบ้าง เทาอ่อนบ้าง หรือไม่ก็เทาเข้มไปจนดำมืด นั่นก็เพราะละอองน้ำในก้อนเมฆสามารถสะท้อนแสงทุกความยาวคลื่นได้เท่า ๆ กัน แสงในแต่ละช่วงความยาวคลื่นจึงสะท้อนออกมาและรวมกันเป็นสีขาว เหมือนแสงจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นเราจึงมองเห็นเมฆเป็นสีขาว ส่วนบางก้อนที่เราเห็นเป็นสีเทาอ่อนบ้าง เทาเข้มบ้าง หรือดำครึ้มบ้างก็เพราะความหนาแน่นของหยดน้ำและละอองน้ำในก้อนเมฆนั่นเอง สรุปได้ว่า สีของเมฆบ่งบอกความเป็นไปในตัวก้อนเมฆ อย่างไรก็ดี เมฆสีที่ไม่ปกติ เช่น แดงหรือส้ม ซึ่งเกิดช่วงดวงอาทิตย์กำลังขึ้นหรือกำลังตกเกิดจากการกระเจิงของแสงในชั้นบรรยากาศ ไม่ได้เกิดจากตัวเมฆโดยตรง
 

แม้ว่าเราจะเห็นเมฆอยู่ทุกวัน เคยจินตนาการว่าเมฆเป็นรูปร่างต่าง ๆ สัตว์ประหลาด รูปหน้าคน หรือแม้แต่ของกิน แต่จะมีสักกี่คนที่จะเห็นคุณค่าและศึกษาเพื่อให้เข้าใจมันอย่างแท้จริง เริ่มจากการแหงนมองหมู่เมฆและจินตนาการ ต่อด้วยความเข้าใจถึงรูปแบบและลักษณะของเมฆ ทำให้เรารู้ได้ว่ามันกำลังจะเกิดอะไรขึ้นข้างบนนั้น เพราะว่าจินตนาการไม่ได้สำคัญมากไปกว่าความรู้ แต่จินตนาการที่เกิดบนพื้นฐานของความรู้ คือที่สุดของจินตนาการ

 

ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 57 กันยายน 2558