Classroom : เรียนสังคม-ไทยด้วยภาพกับครูพี่หมุย ตอน น้ำมนต์กับบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.5K views



 น้ำมนต์กับบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์


เดือนกุมภาพันธ์นี้มีวันสำคัญทางศาสนาคือวันมาฆบูชา ชาวพุทธจะได้ใช้โอกาสในการน้อมระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนิยมเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร รับพร รับน้ำมนต์จากพระเป็นสิริมงคล

 

แม้การรับน้ำมนต์จะทำให้ผมที่เซ็ตมาเป็นอย่างดีของเราเปียก แต่เราก็รู้สึกยินดีและร่มเย็นอย่างบอกไม่ถูกใช่ไหมครับ น้ำมนต์มีความวิเศษจริงหรือเป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่างนี้เราก็ไม่ต้องทำอะไร หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวก็พอไหม พี่หมุยมีคำตอบครับ

 

น้ำมนต์ปรากฏตั้งแต่สมัยพุทธกาลในธัมมปทัฏฐกถา ภาค 7 ปกิณกวรรค เรื่องอัตโนบุพกรรม ท่านเล่าว่า ในกรุงไพสาลี แคว้นวัชชี เกิดภัยใหญ่ 3 ประการ คือ ข้าวยากหมากแพง อมนุษย์ให้โทษ และเกิดโรคระบาด พระเจ้าลิจฉวีจึงทูลเชิญพระพุทธองค์ที่ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธให้มาแก้ไข เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงกรุงไพสาลี โปรดให้พระอานนท์บริกรรมรัตนปริต ประพรมน้ำมนต์ทั่วบริเวณกรุงไพสาลี ในกำแพงเมืองทั้ง 3 ชั้น ภัยทั้ง 3 ก็ระงับทันที ประชาชนกลับมาเป็นสุขตามปกติ

 

น้ำมนต์นี้ ถ้าเสกด้วยพระพุทธมนต์ เรียกว่า “น้ำพระพุทธมนต์” นิยมว่าต้องพระเสก ถ้าเสกด้วยโองการตามลัทธิไสยศาสตร์ เรียกว่า “เทพมนต์” หรือ “ทิพมนต์” อย่างที่พราหมณ์ทำตามโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ

 

ข้ามไปที่เกาะญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.1999 ดร.เอะโมะโตะ มาซารุ ได้ค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับพลังงานที่มีผลต่อผลึกของน้ำ ภายใต้ชื่อผลงานวิจัย “Message from Water” ผลงานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นการก่อตัวของผลึกน้ำในสภาพแวดล้อมที่ต่างๆ กัน เช่น ผลึกน้ำที่ไหลผ่านประโยคว่า “ฉันจะฆ่าคุณ” (ภาพ 1.1) ผลึกน้ำที่ไหลผ่านการสวดมนต์ (ภาพ 1.2) และผลึกน้ำที่ไหลผ่านคำว่า “รัก” (ภาพ 1.3)

 

แม้ว่าผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังมีข้อโต้แย้งอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เราเห็นได้ไม่มากก็น้อยว่า “ความเชื่อบางอย่างอาจมองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่จริง” เช่นเดียวกับ “กฎแห่งกรรม” แม้จะมองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ หรือทำดีแล้วอาจจะไม่ให้ผลทันตา แต่ “ทำดีนั้น ดีแน่” โดยเฉพาะน้องๆ ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย พี่หมุยเชื่อว่าน้องๆ ที่ตั้งใจเตรียมตัวกับการสอบ GAT/PAT มาเป็นอย่างดีจะต้องประสบผลสำเร็จดั่งหวังไว้แน่นอนครับ

                                  ภาพ 1.1                                                       

 

                               ภาพ 1.2

 

 

                                 ภาพ 1.3

 

เรื่องโดย : ครูพี่หมุย-ธนัช ลาภนิมิตชัย

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ครูพี่หมุยของนักเรียนโรงเรียนกวดวิชา SociThai เป็นผู้คิดค้นการเรียนไทย-สังคมด้วยภาพ โดยการนำแนวคิดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับการทำงานของสมองมาประยุกต์ใช้กับการเรียนวิชาภาษาไทยและสังคม