ภาษาไทย ม. 1 Classroom : เรียนสังคม-ไทยด้วยภาพกับครูพี่หมุย: ตอน “ตบรางวัล” หรือ “ตกรางวัล”
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 14.1K views



 “ตบรางวัล” หรือ “ตกรางวัล”

 

ตบรางวัล ‘หลินปิง’ ทายสเปนแชมป์ยูโร 2012 (ข่าวไทยรัฐออนไลน์)

ตบรางวัลเครือข่ายแม้วที่รอดคดีซีทีเอ็กซ์ (คมชัดลึก)

“ศ.เจริญ” ตบรางวัลขึ้นเงินเดือน “เอ-อาท” (ผู้จัดการออนไลน์)

 

สวัสดีครับ น้องๆ หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “ตบรางวัล” กันใช่ไหมครับ คำนี้ถูกใช้กันอย่างผิดๆ และแพร่หลายเหมือนกับพาดหัวข่าวที่ครูพี่หมุยนำมาให้ดูข้างต้น แท้ที่จริงแล้วคำที่ถูกต้องนั้นเราจะใช้คำว่า “ตกรางวัล” ซึ่งเป็นคำกริยา มีความหมายว่า “การให้รางวัล”

 

แต่ที่คำว่า “ตบรางวัล” กลายมาเป็นคำยอดฮิตติดลมบนในทุกวันนี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าปัจจุบันเราไม่ค่อยได้ใช้คำว่า “ตก” ในความหมายเกี่ยวกับ “ได้รับ” สักเท่าไร (เช่น ตกทอด) คนจึงอาจนำคำนี้ไปเทียบเคียงกับคำที่มีลักษณะใกล้เคียงอย่างเช่น “ฟาดหัว” ในประโยค “เอาเงินฟาดหัว” ซึ่งมีความหมายว่า “ให้เพื่อตัดความรำคาญ” ดังนั้น คนจึงใช้คำที่เพี้ยนไปเป็น “ตบรางวัล” ซึ่งเป็นคำกริยาที่มีความหมายคล้ายๆ กับคำว่า “ฟาดหัว”

 

                                      

                  ตัวอย่างการ “ตบรางวัล”                                                 ตัวอย่างการ “ตกรางวัล”

 

คราวนี้เราลองมาดูการตกรางวัลให้แก่ “แก้ว พงษ์ประยูร” ฮีโร่ของชาวไทยจากการคว้าเหรียญเงินกีฬาโอลิมปิก 2012 รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 24.4 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้

อิชิตัน 10 ล้านบาท          

กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 6 ล้านบาท

เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย 2.4 ล้านบาท

ช่อง 3 ให้ 2 ล้านบาท

แมคโดนัลด์ 500,000 บาท

ธ.ไทยพาณิชย์ 500,000 บาท

เอไอเอส 500,000 บาท

ช่อง 7 ให้ 500,000 บาท

โอสถสภา 500,000 บาท

ข่าวสด 500,000 บาท

ไทยเบฟ 500,000 บาท

และสมาคมมวยอัดฉีด 500,000 บาท

 

หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การตกรางวัลแก่นักกีฬาโอลิมปิก จะเห็นว่าคุณแก้วยังไม่สามารถโค่นแชมป์เหรียญทองเหรียญแรกของประวัติศาสตร์มวยสากล “สมรักษ์ คำสิงห์” จากกีฬาโอลิมปิกที่แอตแลนต้า ในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งครั้งนั้นสมรักษ์ได้รับเงินไปไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ดี จำนวนเงินตอบแทนทั้งหมดไม่ได้ได้มาง่ายๆ แต่ต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นพยายามฝึกฝนตลอดหลายปีในอาชีพนักกีฬา หากน้องๆ มีความตั้งใจและทุ่มเทในการทำสิ่งใดก็ตาม ย่อมได้มาซึ่งความสำเร็จอย่างแน่นอนครับ

 

เรื่องโดย : ครูพี่หมุย-ธนัช ลาภนิมิตชัยอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ครูพี่หมุยของนักเรียนโรงเรียนกวดวิชา SociThai เป็นผู้คิดค้นการเรียนไทย-สังคมด้วยภาพ โดยการนำแนวคิดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับการทำงานของสมองมาประยุกต์ใช้กับการเรียนวิชาภาษาไทยและสังคม