ภาษาไทย ม. 1 Classroom : เรียนสังคม-ไทยด้วยภาพกับครูพี่หมุย ตอน “ภาพลักษณ์” และ “ภาพพจน์” คำที่ใช้ผิ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 8.6K views



 

 “ภาพลักษณ์” และ “ภาพพจน์” คำที่ใช้ผิดกันเป็นประจำ

 

“ชมพู่” หวั่นเสียภาพพจน์วอนเลาจน์ถอดรูปโปรโมต

 

หากน้องๆ ฟังข่าวในทีวีและอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ เราจะพบว่าคำว่า “ภาพลักษณ์” และ “ภาพพจน์” ถูกใช้ผิดอยู่บ่อยๆ เหมือนกันกับพาดหัวอันนี้ และหลายต่อหลายครั้งคำทั้งสองถูกใช้ผสมปนเปจนงงไปหมดว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ในฐานะที่เป็นนายของภาษา ครูพี่หมุยมีเคล็ดลับเด็ดๆ มาบอกครับ

  

                             

                                    ภาพ 1.1                                                     ภาพ 1.2

 

ในภาพแรกนี้ ผู้ชายเห็นผู้หญิงสวยคนหนึ่งรายล้อมไปด้วยบอดี้การ์ด ทำให้เขาเกิดภาพในหัวซึ่งเป็นภาพที่เกิดจากความคาดหมายว่าผู้หญิงคนนี้ต้องเป็นเจ้าหญิง (จริงๆ แน่) ส่วนในภาพที่สอง ผู้ชายคนเดิมเห็นผู้หญิงอ้วน ภาพลักษณ์ของผู้หญิงอ้วนทำให้เกิดภาพพจน์ ซึ่งก็คือภาพเปรียบเทียบว่าผู้หญิงคนนี้อ้วนเหมือนหมู ถือเป็นการเปรียบเป็นภาพพจน์

 

จากตัวอย่างทั้งสอง น้องๆ จะเห็นได้ว่าคำว่าภาพลักษณ์นั้นหมายถึง ภาพที่เราคิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น ไม่ได้มีการ “เปรียบเทียบ” ดังนั้น ภาพลักษณ์จะตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า image ขณะที่ภาพพจน์จะตรงกับคำว่า figure of speech นั้นเอง

 

เพราะฉะนั้น พาดหัวที่ถูกต้องสำหรับข่าวที่อ่านไปตอนต้นจะต้องเขียนว่า “ชมพู่” หวั่นเสียภาพลักษณ์วอนเลาจน์ถอดรูปโปรโมต

 

ในส่วนที่สองของคอลัมน์ มาดูกันว่าภาพลักษณ์ของตะวันออกในสายตาตะวันตกผ่านประวัติศาสตร์นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตกใจขนาดไหน

 

                                      

                                            ภาพ 2.1                                                    ภาพ 2.2

 

ในแง่วิชาสังคม หากศึกษาประวัติศาสตร์โลก เราจะพบว่า ภาพลักษณ์ของประเทศจีนในสายตาชาวตะวันตก (ภาพที่ชาวตะวันตกคิดว่าจีนควรจะเป็นเช่นไร) เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงปี ค.ศ. 1800 เป็นต้นมา หากย้อนกลับไปดูบันทึกเก่าๆ ดังเช่นภาพวาดของชาวตะวันตกที่เดินทางไปเยือนประเทศจีนในปี ค.ศ. 1800 ไม่เพียงแต่ชาวยุโรปเคยเรียกประเทศจีนว่า เมืองสวรรค์ (the Celestial Kingdom) ชาวตะวันตกยังยกย่องความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของประเทศจีน ถึงขนาดที่ลิงในประเทศจีนยังอ่านหนังสือออก (ภาพ 2.1) ขณะที่ภายหลัง ค.ศ. 1800 ชาวยุโรปกลับมองประเทศจีนเปลี่ยนไปโดยเฉพาะช่วงภาพหลังสงครามฝิ่นและการอพยพของชาวจีนไปยังยุโรปและอเมริกาที่คนจีนถูกมองว่าเป็น “ภัยผิวเหลือง” (Yellow Peril) (ภาพ 2.2)

 

เห็นไหมครับ ภาษาและความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เราอยู่ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงและน่าสนใจ หากเราใส่ใจมันสักนิด ไว้พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ

 

เรื่องโดย : ครูพี่หมุย-ธนัช ลาภนิมิตชัย

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ครูพี่หมุยของนักเรียนโรงเรียนกวดวิชา SociThai เป็นอดีตแชมป์โต้วาทีภาษาอังกฤษของเอเชียและนักเรียนทุนสหภาพยุโรป เป็นผู้คิดค้นการเรียนไทย-สังคมด้วยภาพ โดยการนำแนวคิดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับการทำงานของสมองมาประยุกต์ใช้กับการเรียนวิชาภาษาไทยและสังคม