รู้รอบโลก ตอน ถุงยางอนามัย นวัตกรรม safe sex
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.9K views



เรื่อง: สิรินทร์ จ่างรัตศศพินทุ ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ


ถุงยางอนามัย  นวัตกรรม safe sex


 

เดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2554 องค์การสหประชาชาติประกาศว่าโลกมีจำนวนประชากรแตะ 7,000 ล้านคนแล้ว ซึ่งกว่ามนุษย์โลกจะถึงหลัก 1,000 ล้านได้ต้องใช้เวลาถึง 250,000 ปี แต่การขยับจากหลัก 6,000 ล้านมาเป็น 7,000 ล้าน เรากลับใช้เวลาเพียง 12 ปีเท่านั้น จำนวนประชากรที่มากขึ้นหมายความว่ามนุษย์ต้องแย่งกันกินกันใช้มากขึ้น ดังนั้น แนวคิดเรื่องการควบคุมจำนวนประชากรและการคุมกำเนิดจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ และ “ถุงยางอนามัย” ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและยังป้องกันโรคติดต่อได้ด้วย

 

อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดการคุมกำเนิดโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันเป็นนวัตกรรมเก่าแก่ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ มีหลักฐานภาพวาดและงานเขียนจากหลายอารยธรรมทั่วโลก ทั้งกรีซ อินเดีย และญี่ปุ่น ที่กล่าวถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับถุงยางอนามัย ที่ใช้คำว่า “ใกล้เคียง” ก็เพราะว่าอุปกรณ์คุมกำเนิดในอดีตไม่ได้ทำมาจากยาง แต่จะทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติ เช่น หนังสัตว์ ลำไส้สัตว์ เขาสัตว์ หรือผ้าเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าลินินและผ้าไหม

 

ส่วนคุณสมบัติด้านการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของถุงยางอนามัยเพิ่งมาถูกค้นพบภายหลังในช่วงศตวรรษที่ 16 นี้เอง เนื่องจากโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรงถึงชีวิตในยุคนั้น ได้แพร่ระบาดหนักในทวีปยุโรป กระทั่ง กาเบรียล ฟาโลปิโอ แพทย์ชาวอิตาเลียน คิดค้นอุปกรณ์ป้องกันลักษณะคล้ายถุงยางอนามัยขึ้น โดยทำขึ้นจากผ้าลินินที่นำไปชุบน้ำยาเคมีแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง หลังจากให้อาสาสมัครหลายคนทดลองใช้ก็พบว่าสามารถป้องกันซิฟิลิสได้ด้วย

 

จากนั้นมาจึงมีการทดลองใช้วัสดุประเภทอื่นๆ ในการผลิตถุงยางอนามัยเพื่อคุมกำเนิด ในช่วงปี ค.ศ. 1700 ถุงยางอนามัยที่ทำจากเยื่อบุอวัยวะต่างๆ ของสัตว์เริ่มแพร่หลาย แต่ด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อน ทั้งการล้างทำความสะอาด การชุบสารเคมี การตากแห้ง และการตัดเย็บ ทำให้ถุงยางยังคงมีราคาแพง แถมยังฉีกขาดง่าย

 

แล้วถุงยางอนามัยเริ่มใช้ “ยาง” มาเป็นวัสดุในการผลิตได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า เดิมทียางธรรมชาติไม่ใช่วัสดุที่เหมาะจะนำมาทำอุปกรณ์คุมกำเนิดเลย เพราะยางธรรมชาติที่ยังไม่ได้ผ่านกรรมวิธีใดๆ เมื่อแข็งตัวจะกลายเป็นวัสดุที่เด้งได้แต่ก็เปราะบางหักง่าย แต่เมื่อเจออากาศร้อนก็กลับอ่อนตัวและเปลี่ยนเป็นน้ำยางหนืดๆ แต่เมื่อ ชาล์ส กู๊ดเยียร์ ได้ค้นพบเทคนิคการทำให้ยางคงรูป หรือเรียกว่า วัลคาไนเซชัน (vulcanization) โดยใช้กำมะถันช่วยให้พันธะโมเลกุลของยางแข็งแกร่งขึ้น ยางที่ผ่านกระบวนการจะสามารถคงตัวในสภาวะต่างๆได้ดีขึ้น ยืดหยุ่นและคงทนมากขึ้น จนทำไปปรับใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตถุงยางอนามัยได้ในที่สุด

 

นวัตกรรมของถุงยางอนามัยที่ทำจากยางยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น กระทั่งในปี 1919 ได้มีการคิดค้นวิธีการผลิตถุงยางอนามัยแบบใหม่ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยจุ่มแม่พิมพ์ลงไปในน้ำยางโดยตรงแล้วใช้เตาอบทำวัลคาไนเซชันในขั้นตอนสุดท้าย ทำให้ได้ถุงยางที่บางและยังผลิตได้คราวละมากๆ ในราคาไม่แพงด้วย

 

ไม่น่าเชื่อใช่ไหมว่าถุงยางอนามัยจะเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจและมีความเป็นมายาวนานขนาดนี้  

 

ที่มา : นิตยสาร Plook ฉบับที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ 2555