Classroom : เคมี ตอน โซเดียมกับเกลือแร่ คนละเรื่องเดียวกัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.2K views



 

เคมี ตอน : โซเดียมกับเกลือแร่ คนละเรื่องเดียวกัน
ปัจจุบันนี้มีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคอ่านฉลากอาหารก่อนตัดสินใจซื้อหรือเลือกรับประทาน เพราะฉลากอาหารมักจะระบุข้อมูลทางโภชนาการ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้นให้ผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพมากกว่ากัน

พี่มิคอยากให้ลองหยิบแพ็คเกจอาหารใกล้ตัวมาดูกันนะครับ ข้อมูลทางโภชนาการแจกแจงไว้ว่าอาหารชนิดนี้มีไขมันกี่เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยโคเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ซึ่งแยกย่อยออกเป็นใยอาหารและน้ำตาล ตบท้ายด้วยโซเดียม เอ๊ะ โซเดียมที่เคยเรียนมาในห้องแล็บเคมีมันเป็นโลหะไม่ใช่เหรอ แล้วร่างกายเราต้องการโซเดียมไปทำไม แล้วมันจะดีต่อสุขภาพเหรอ

ใช่ครับ ในทางเคมี ธาตุโซเดียมเป็นธาตุหนึ่งในตารางธาตุซึ่งมีสัญลักษณ์ Na มาจากคำว่า “Natrium” ในภาษาละติน โซเดียมเป็นโลหะอ่อนมีลักษณะเป็นไข มีสีเงิน อยู่ในกลุ่มโลหะแอลคาไล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโดยปกติเราจะไม่พบโซเดียมในรูปของก้อนโลหะเหมือนอย่างเหล็กหรือโลหะอื่นๆ โลหะโซเดียมถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1807 โดย เซอร์ ฮัมฟรี เดวี บารอนเน็ตที่ 1 (Sir Humphry Davy, 1st Baronet) นักเคมีชาวอังกฤษ ซึ่งทำการทดลองแยกสารละลายโซดาไฟ (NaOH: โซเดียมไฮดรอกไซด์) ด้วยกระแสไฟฟ้า เนื่องจากโซเดียมมีความไวต่อปฏิกิริยาสูงมาก เมื่อเจอกับอากาศและน้ำจะเกิดปฏิกิริยารุนแรงมากจนอาจเกิดเปลวไฟได้ จึงต้องเก็บไว้ในน้ำมันหรือโทลูอีนเพื่อไม่ให้เจอกับน้ำและอากาศ โลหะโซเดียมนำไปใช้ประโยชน์มากมายในทางอุตสาหกรรม เช่น เป็นสารตั้งต้นหลักในการผลิตสบู่ ผงซักฟอก หรือผงฟู เป็นต้น

อย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมสารตั้งต้นสำหรับผลิตสบู่กับแฟ้บถึงได้มาอยู่ในอาหารที่เรากิน เพราะในอีกมุมหนึ่ง โซเดียมก็คือเกลือแร่ สารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มักบริโภคกันในรูปของเกลือแกง ซึ่งนอกจากมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบสำคัญแล้วยังมีธาตุคลอไรด์รวมกันเป็นโซเดียมคลอไรด์ (NaCl: โซเดียมคลอไรด์) โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ ตลอดจนการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก

โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายและแหล่งใหญ่โซเดียมในธรรมชาติก็คือเกลือแกงหรือเกลือแร่นั่นเอง โซเดียมกับเกลือแร่จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกันเช่นนี้ครับ

ภาพประกอบจาก www.arowanastation.com
 

ธงทัย ตีรณะชัยดีกุล
อาจารย์มิคกี้เป็นศิษย์เก่าเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ รั้วมหิดล มีประสบการณ์การเป็นติวเตอร์สายวิทยาศาสตร์และเคมีมากว่า 7 ปี และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นเทคนิคการสอบเข้าโรงเรียนดัง อาทิ มหิดลวิทยานุสรณ์ เตรียมอุดมศึกษา และคณะดังในมหาวิทยาลัยชั้นนำมากมาย