Classroom : ชีววิทยา ตอน จากข้าวสีทองสู่มะเขือเทศสีม่วง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.2K views





ชีววิทยา ตอน : จากข้าวสีทอง สู่มะเขือเทศสีม่วง

อ่านหัวข้อแล้วเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในจินตนาการของเด็ก ในวิชาศิลปะเรื่องการวาดภาพ ที่จะแต่งแต้มสีใดลงไปก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ววิทยาศาสตร์นี่เองที่ทำให้สิ่งที่อยู่ในจินตนาการเป็นจริงขึ้นมาได้

ย้อนกลับไปสักสิบกว่าปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 2000 คงยังจำกันได้ถึงข่าวดังของวงการวิทยาศาสตร์ นั่นคือเรื่องของการพัฒนาข้าวจีเอ็มโอสีทอง หรือที่เรียกว่า golden rice คุณสมบัติอันน่าทึ่งของมันก็คือ การใส่ยีนที่เกี่ยวกับการสร้างวิตามินเอจากดอกไม้สีเหลืองทอง และจากแบคทีเรียลงไปในข้าว ทำให้ได้ข้าวที่มีปริมาณวิตามินเอมาก และยังส่งผลให้เมล็ดข้าวมีสีทอง ในตอนนั้นข้าวพันธุ์ใหม่กลายเป็นความหวังว่าจะนำไปใช้เป็นอาหารให้กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ที่มีเด็กๆ ขาดวิตามินเอหลายร้อยล้านคน ทำให้พวกเขาไม่เจริญเติบโต และระบบการมองเห็นเสียไป แต่ทว่าไม่มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการบริโภค รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันอาจจะเกิดขึ้น ทำให้กลุ่มคัดค้านหลายกลุ่มออกมาต่อต้าน เช่น กลุ่มกรีนพีซ ซึ่งโจมตีและกล่าวถึงผลกำไรมหาศาล หากข้าวสีทองถูกวางจำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังระบุว่ากลุ่มผู้วิจัยกำลังแสวงหาผลกำไรจากการขายเมล็ดพันธุ์ข้าว

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผลผลิตจีเอ็มโอ หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ก็ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การแพทย์ มีการตัดต่อยีนบางตัวเข้าไปในผักผลไม้ซึ่งใช้เป็นวัคซีนได้ ในประเทศจีนมีการทำถั่วลิสงป้องกันโรคกระเพาะโดยการแทรกยีนต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเข้าไป หรือในทางการเกษตร มีการผลิตพืชต้านทานแมลง

งานวิจัยไม่นานมานี้จากประเทศอังกฤษ พบว่ามีการเปลี่ยนสีมะเขือเทศจากแดงเป็นม่วง โดยการตัดต่อยีนจากต้นสแนปดรากอน ซึ่งผลิตสารสีม่วงแดง (Anthocyanin) เข้าไปในมะเขือเทศ ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดโรค ซึ่งจะช่วยเสริมฤทธิ์สารสีแดงที่มีชื่อ Lycopene ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกันและพบในมะเขือเทศอยู่แล้ว แต่งานวิจัยนี้ก็ยังคงมีอุปสรรคไม่ต่างกับข้าวสีทอง เพราะในยุโรปนั้นมีกฎหมายในการควบคุมเรื่องของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

คงอีกนานกว่าจะได้เห็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้ออกวางจำหน่าย จนกว่าการวิจัยจะสามารถระบุได้ว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิตที่กินเข้าไป และต้องไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว หากมองย้อนกลับ ไม่ว่าจะข้าวสีทอง มะเขือเทศสีม่วง ในเมืองไทยคงไม่จำเป็น เพราะหากขาดวิตามินเอ บ้านเราก็มีผักผลไม้มากมาย ทั้งผักบุ้งจีน ฟักทอง ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองที่มีมาก ขณะที่สาร Anthocyanin ก็พบมากในดอกอัญชัญ ผักสวนครัวตามรั้วบ้าน หรือกระเจี๊ยบสีแดงสด ก็มีสารนี้อยู่จำนวนมากเช่นกัน


ที่มา นิตยสาร plook ฉบับที่ 43 กรกฎาคม 2557
ภาพประกอบจาก www.mcot.net
ติดตามรายการสอนศาสตร์ย้อนหลัง
www.trueplookpanya.com/sonsart