ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.3K views




 

ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ

          การปฏิวัติ (revolution) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม


          การปฏิวัติเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้งนัก เพราะจะต้องโค่นล้มลงทั้งระบบ ซึ่งหากสภาพสังคมไม่สุกงอมเต็มที่ หรือสภาพสังคมยังไม่พร้อมแล้วการปฏิวัติจะเป็นไปได้ยากมาก ตัวอย่างของการปฏิวัติที่ผ่านมาก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย การปฏิวัติจีน และการปฏิวัติเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ของไทยเราที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเต็มในการปกครองประเทศมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น


          การรัฐประหาร (coup d’état) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปกครองประเทศ แล้วจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด มีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป

          รัฐประหารจึงเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่มักเกิดขึ้นโดยกลุ่มทหาร เพราะทหารถูกฝึกมาอย่างมีระเบียบวินัย มีกำลังพลอาวุธในมือ จึงมีศักยภาพในการทำรัฐประหารในสถานการณ์ที่ปัจจัยภายนอกคือประเทศชาติประสบปัญหาความวุ่นวาย ประกอบรวมเข้ากับปัจจัยภายในกองทัพคือ การที่ทหารต้องสูญเสียผลประโยชน์หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองมากเกินไป และเมื่อปัจจัยทั้งสองอย่างประสานกันได้อย่างเหมาะสมแล้ว จึงเป็นที่มาของข้ออ้างในความชอบธรรมของการทำรัฐประหาร

          ประเทศที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น มักเป็นประเทศที่ประชาชนไม่ค่อยชอบเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การหยุดชะงักทางการเมืองด้วยกระบวนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประชาชนเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองสม่ำเสมอโดยมิใช่เพียงแต่หย่อนบัตรในวันเลือกตั้งเท่านั้น(one day democracy) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คืออินเดียที่แม้ว่าจะยากจนและมีอัตราการรู้หนังสือต่ำกว่าเรา แต่ก็ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง

          การทำรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะต้องเตรียมการอย่างปิดลับอย่างยิ่งยวดและใช้เวลารวดเร็วฉับพลันแล้ว ภายหลังจากการรัฐประหารจะต้องสร้างอุดมการณ์ของชาติขึ้นมาเสมอ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากประชาชนนั่นเอง

 

ภาพประกอบจาก www.thaisouthtoday.com
ที่มา : https://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=982