ทิด - มหา - สมี คืออะไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 54.5K views



ทิด เป็นคำเรียกชื่อผู้ที่สึกจากพระ เพี้ยนมากจากคำว่า บัณฑิต ซึ่งหมายถึง ผู้มีความรู้  ผ่านการอบรมสั่งสอนมาแล้ว เพราะสมัยก่อนการบวชเพื่อศึกษาวิชาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม  โรงเรียนในสมัยก่อนคือวัด  พระผู้ใหญ่ก็คือครูผู้สอนความรู้ให้แก่พระผู้น้อย  จึงเรียกการบวชว่า บวชเรียน”  และสมัยก่อนการบวชจะบวชเต็มพรรษา
 

 

มหา คือ ผู้ที่เล่าเรียนศึกษาพระธรรม บาลี หรือที่เรียกว่า ศึกษาธรรมและมีการสอบ นักธรรมตรี โท เอก โดยสามารถสอบได้บาลีเปรียญธรรม ตั้งแต่ประโยค 3 ขึ้นไป  ซึ่งเปรียญธรรมมีทั้งหมด 9 ประโยค
 

สมี [อ่านว่า สะ-หฺมี] เป็นคําเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต

การอาบัติปาราชิกนั้น ได้มีบัญญัติไว้ว่า เมื่อพระภิกษุอาบัติปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะไม่ยอมสึกออกจากการเป็นพระภิกษุก็ตาม นอกจากนี้ ทางพระวินัยถือว่า พระภิกษุที่อาบัติปาราชิกแล้ว จะไม่สามารถทำกิจร่วมกับพระภิกษุอื่นได้ และไม่สามารถบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต

ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้อาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ ดังนี้

 
          อาบัติข้อที่ 1. เสพเมถุน กรณีที่พระภิกษุเสพสังวาสกับสตรี หรือแม้แต่เดรัจฉานเพศเมีย ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองหรือไม่ก็ตาม ถือว่าขาดจากการเป็นพระขณะที่สำเร็จกิจ
 
          อาบัติข้อที่ 2. ลักขโมย เมื่อมีเจตนาลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตด้วยจิตที่จะลัก
 
          อาบัติข้อที่ 3. ฆ่ามนุษย์ให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า กรณีนี้ คือ พระภิกษุมีเจตนาตั้งใจที่จะฆ่าอยู่แล้ว เช่น คิดและมีการวางแผนฆ่าให้ตาย เมื่อไม่ตายก็พยายามแล้วพยายามอีกจนเสียชีวิต 
 
          อาบัติข้อที่ 4. พูดอวดคุณวิเศษ ในที่นี้หมายภูมิธรรม อาทิ ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่กลับอ้างตัวว่า บรรลุฌานสมาบัติ เป็นต้น 


ที่มา เรียบเรียงจาก: 
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 
https://dict.longdo.com
https://guru.google.co.th/guru/thread?tid=69e62264db57479f
https://guru.sanook.com/answer/question/ทำไมหลังบวชแล้ว_จะเรียกกันว่า_ทิด/ 
https://hilight.kapook.com/view/88762