ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๓)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.3K views



ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๓)

             เรื่องเสียงหนักเบานี้ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม วโรตมสิกขดิตถ์ ได้อธิบายไว้ในเรื่อง "ครุ-ลหุ ในมุมมองทางภาษาศาสตร์" ในหนังสือ มุมต่างทางภาษาตามวิถีภาษาศาสตร์ ว่า โครงสร้างของพยางค์ในภาษาไทยแบ่งออกเป็น ๘ ชนิด ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ

๑. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระประสมเสียงยาว จัดเป็นพยางค์เสียงหนักที่สุด (สระอัวะ สระเอียะ สระเอือะ ถือว่าเป็นสระประสมเสียงยาว ตามด้วยเสียงหยุดเสียงหยุดที่ช่องเส้นเสียง) เช่น ผัวะเผียะ ส้วมซึม อ่อนเพลีย อาจเอื้อม เป็นต้น

๒. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว ตามด้วยพยัญชนะตัวสะกด แม่กง แม่กน แม่กม แม่เกย แม่เกอว (หรือคำเป็น) จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับสอง เช่น ช้องนางรำ ตูมตาม แพรวพราว ร่ายรำ เป็นต้น

๓. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว ตามด้วยพยัญชนะตัวสะกด แม่กด แม่กบ (หรือคำตาย) จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับสาม (สระเออะ สระเอะ สระเอาะ สระแอะ สระโอะ จัดว่าเป็นสระเสียงยาว ตามมาด้วยเสียงหยุดเสียงหยุดที่ช่องเส้นเสียง) เช่น กีดกัน แคะไค้ เตาะแตะ เปรอะเปื้อน โป๊ะเชะ ระนาด สาบสูญ เป็นต้น

๔. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว ไม่มีพยัญชนะสะกด จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับสี่ เช่น กากี บูชา เป็นต้น

๕. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น ตามด้วยพยัญชนะตัวสะกด แม่กง แม่กน แม่กม แม่เกย แม่เกอว (หรือคำเป็น) จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับห้า เช่น จันทัน ชมรม นัยนา สังคม สำคัญ เอาฬาร เป็นต้น

๖. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น ตามด้วยพยัญชนะตัวสะกด แม่กด แม่กบ (หรือคำตาย) จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับหก เช่น กัศมล อิจฉา อึดอัด เป็นต้น

๗. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วย บ ฤ ฦ และสระเสียงสั้นที่ไร้วิสรรชนีย์ อันได้แก่ อิ อึ อุ โดยไม่มีพยัญชนะสะกด จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับเจ็ด เช่น จิระ ฤทัย อุไร เป็นต้น

๘. คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระอะ หรือออกเสียงอะ ที่ไร้วิสรรชนีย์ จัดว่าเป็นพยางค์เสียงหนักลำดับแปด หรือเป็นพยางค์ที่เบาที่สุด และต้องเป็นลหุเสมอ เช่น กวี มะกอก สะพาน เป็นต้น

โดยสรุป ลำดับความหนักของพยางค์ คือ

๑. ลำดับหนึ่ง คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระประสมเสียงยาว

๒. ลำดับสอง คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว มีตัวสะกดคำเป็น

๓. ลำดับสาม คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว มีตัวสะกดคำตาย

๔. ลำดับสี่ คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว ไม่มีพยัญชนะสะกด

๕. ลำดับห้า คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น มีตัวสะกดคำเป็น

๖. ลำดับหก คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น มีตัวสะกดคำตาย

๗. ลำดับเจ็ด คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไร้วิสรรชนีย์ ไม่มีพยัญชนะสะกด

๘. ลำดับแปด คำ หรือพยางค์ที่ประกอบด้วยสระอะ หรือออกเสียงอะ ที่ไร้วิสรรชนีย์


 

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

https://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1923