ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๒)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 2.6K views



ลหุ/ครุ สั้น/ยาว เบา/หนัก (๒)

             ในชีวิตจริงเรามิได้พูดทีละพยางค์ แต่พูดเป็นคำเป็นประโยค ซึ่งต้องลงเสียงเน้นต่างๆ กันไป ลักษณะเช่นนี้มิได้กล่าวไว้ในตำราไวยากรณ์ไทยแต่โบราณ เพราะตำราดั้งเดิมมุ่งที่ภาษาเขียนมากกว่าภาษาพูด

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ลักษณะภาษาไทย ว่า

             "ที่จริงลักษณะนี้ไม่มีกำหนดอยู่ในลักษณะภาษาไทยหรือแม้ภาษาคำโดดอื่นๆ ทั้งๆ ที่เวลาพูดเรารู้ดีว่าเราต้องลงเสียงเน้นให้ถูกที่ เสียงจึงจะฟังเป็นภาษาไทยอย่างที่เราคุ้นกัน คนต่างประเทศหรือคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นประจำ ย่อมพูดแปลกออกไป สังเกตได้ง่ายประการหนึ่งก็คือ ลงเสียงเน้นผิดที่ ทั้งนี้เพราะไม่มีที่สังเกตชัดเจนอย่างเสียงสูงต่ำ คงจะเป็นเพราะเหตุที่การลงเสียงเน้นไม่ตายตัวเหมือนเสียงสูงต่ำ ถึงจะเน้นหนักเบาผิดหรือผิดที่ คนฟังก็ยังพอเข้าใจได้ เพราะความหมายไม่ผิดไปมากจึงไม่ได้มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นลักษณะเด่นของภาษาด้วย"

             เรื่องนี้พิสูจน์ได้เมื่อเราฟังชาวต่างชาติพูดภาษาไทย แม้จะพยายามลงเสียงวรรณยุกต์ของแต่ละพยางค์ได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่ก็อาจจะลงเสียงหนักเบาผิดได้ เช่น ฝรั่งอาจจะ "ขอซื้อ[มะ]นาว" (เน้นเสียงพยางค์ [มะ] ออกเสียงเป็นเสียงตรี) แต่คนไทย "ขอซื้อ[ม]นาว" (ไม่เน้นเสียงพยางค์ [ม] ออกเสียงเป็นเสียงสามัญ) ในทำนองเดียวกันมีคนไทยหลายคนออกเสียงเน้นคำภาษาอังกฤษตรงตามพจนานุกรมทุกประการ แต่พอนำมารวมกันเป็นประโยคกลับฟังดูแปลก ไม่เหมือนฝรั่ง

              ถึงแม้ว่าการเน้นเสียงหนักเบาในภาษาไทยจะไม่เป็นเรื่องตายตัวเท่ากับเสียงวรรณยุกต์ แต่ ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา ก็ได้ข้อสังเกตไว้ว่า อาจกำหนดลงได้เป็น ๒ ประการ คือ

๑. เสียงเน้นในคำ ถ้าเป็นคำพยางค์เดียวก็เน้นที่คำนั้น ถ้าเป็นคำหลายพยางค์จะเน้นที่พยางค์สุดท้าย เช่น

มะเขือ ตะปู ตะกร้า กะจ่า ประเทศ น้ำตก น้ำหอม เจ้าของ ไม้เท้า เท้าแขน (ของเก้าอี้) เจ้าหน้าที่

๒. เสียงเน้นในประโยค ไม่ได้กำหนดแน่นอน สุดแต่ว่าผู้พูดต้องการจะเน้นที่ตรงไหน เช่น ใครมาหาฉัน กับ ใครน่ะมาหาฉัน

ในตัวอย่างข้างต้น คำว่า "เท้า" ใน "ไม้เท้า" เน้นหนักกว่าคำว่า "เท้า" ใน "เท้าแขน" ฉะนั้น แม้จะใช้สระสั้นเหมือนกัน แต่ "เท้า" ใน "ไม้เท้า" ก็ออกเสียงยาวกว่า "เท้า" ในคำว่า "เท้าแขน" เพื่อให้เห็นบทบาทสำคัญของเสียงหนักเบา ขอให้ลองอ่านประโยคนี้

"น้ำมันหมดแล้ว"

             ถ้าเน้นที่ "น้ำ" จะหมายถึง "น้ำ" ที่แปลว่า "water" แต่ถ้าเน้นที่ "มัน" จะหมายถึง "น้ำมัน" ที่แปลว่า "gas" ในกรณีนี้ "น้ำ" ที่แปลว่า "water" จะออกเสียงยาวเป็น "น้าม" ทั้งๆ ที่เขียนด้วยสระสั้น

             ถึงแม้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา จะได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าเรื่องการลงเสียงเน้นไม่มีกล่าวไว้แต่เดิม แต่นักภาษาศาสตร์รุ่นใหม่กลับมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ดังที่ปรากฏในงานของนักภาษาศาสตร์รุ่นใหม่หลายคน ในที่นี้จะขอยกงานของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม วโรตมสิกขดิตถ์ มาให้ดู

             ศาสตราจารย์ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ กล่าวไว้ในหนังสือ โครงสร้างของภาษาไทย : ระบบไวยากรณ์ ว่า เสียงหนักเบาในภาษาไทย แบ่งได้เป็น ๓ ขนาด คือ

๑. ลงเสียงหนักมาก (ใช้สัญลักษณ์ " ) ใช้เมื่อต้องการเน้นพยางค์ หรือคำ หรือต้องการแย้ง หรือใช้ในคำอุทาน เช่น ["ต๊ายตาย] ["เปล่า]

๒. ลงเสียงหนักธรรมดา (ใช้สัญลักษณ์ " ) คำที่ลงเสียงหนักธรรมดามักจะมีความสำคัญในประโยค เช่น คำนาม คำกริยา เช่น [ "แดงไม่ได้ "มา]

๓. ลงเสียงเบา (ไม่มีสัญลักษณ์แทน) พยางค์ที่ลงเสียงเบาสระจะสั้นลง วรรณยุกต์อาจจะเปลี่ยนไป และเสียงพยัญชนะสะกดอาจจะหายไป เช่น

    • มาทำไม กลายเป็น [มา-ทะ-มะ]
    • อย่างนี้ กลายเป็น [ยัง-งี้]

ส่วนคำหลายพยางค์นั้น ศาสตราจารย์ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้กล่าวไว้ว่า 

ถ้าเป็นคำ ๒ พยางค์ มักลงเสียงหนักที่พยางค์ที่ ๒ เช่น วิชา

ถ้าเป็นคำ ๓ พยางค์ มักลงเสียงหนักที่พยางค์ที่ ๒ กับ ๓ เช่น ประเพณี

หรือลงเสียงหนักที่พยางค์ที่ ๑ กับ ๓ เช่น ความสะดวก

ถ้าเป็นคำ ๔ พยางค์ มักลงเสียงหนักที่พยางค์ที่ ๑ กับ ๔ เช่น วัฒนธรรม [วัด-ทะ-นะ-ทำ]


 

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

https://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1924