เกาะติด 5 กระแส การศึกษาในอาเซียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.5K views



                การศึกษาของประเทศอาเซียนวันนี้มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านหลักสูตรอาเซียนศึกษาและการเรียนรู้ภาษาต่างๆ เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกันในภูมิภาคและเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้

                โดยมีการพัฒนาอาชีวศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแนวโน้มของการเรียนรู้ที่น่าจับตา แผนการยกระดับประเทศให้มีความก้าวหน้าเพื่อเตรียมพร้อมประชากรเข้าสู้ตลาดแรงงานอาเซียนและตลาดแรงงานโลกในครั้งนี้มีหัวใจอยู่ที่การพัฒนาการศึกษา โดยมุ่งหวังถึงการยกระดับศักยภาพแรงงานให้ก้าวทันกับโลกที่หมุนรวดเร็วขึ้น

                การพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันทั่วโลกเป็นหนึ่งในการยกระดับศักยภาพ ”คน” ที่พร้อมจะออกไปเป็นแรงงานสำคัญในระดับภูมิภาค ก่อนที่การร่วมตัวกันของ 10 ประเทศอย่างเป็นทางการภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community หรือ AEC) จะเปิดฉากในอีก 3 ปีข้างหน้า

5 กระแสของการปรับตัวที่หลายประเทศเชื่อว่าจะนำไปสู้การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

1. เปิดสอนอาเซียนศึกษา

การเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนภาพชัดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย กับการรุกเปิดสอนอาเซียนศึกษาในระดับที่มากกว่าเดิม เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักและเรียนรู้การเป็นพลเมืองของอาเซียน โดยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานที่มีมาตรฐานร่วมกันนอกจากนี้ยังโฟกัสไปที่การพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อสร้างความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค ขณะที่อีกหลายประเทศมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีวศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต

2. หลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

วันนี้กระทรวงที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของทั้ง 10 ประเทศ กำลังจัดทำกรอบแนวทางการจัดทำหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานที่มีมาตรฐานร่วมกันในกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พลศึกษา ไอซีที จริยศึกษา ศิลปะและอัตลักษณ์ของประเทศในสมาชิกอาเซียน ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีหลักสูตรเบื้องต้นอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมการทำกรอบแนวทางและตัวอย่างหลักสูตรเบื้องต้นโดยมีกำหนดการจัดประชุมในเดือนกันยายน 2555

นอกจากนี้ทั้ง 10 ประเทศยังเห็นพ้องร่วมกันด้วยว่าทุกประเทศจะต้องเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น โดยประเทศที่มีความโดดเด่นในการส่งเสริมการเรียนการสอนในด้านนี้คือ สิงคโปร์ เห็นได้จากสิงคโปร์อยู่อันดับต้นๆของผลการทดสอบนานาชาติหลายรายการ อย่างไรก็ตามมาเลเซียและเวียดนาม เป็นอีกสองประเทศที่เร่งพัฒนาการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างหนัก โดยมาเลเซียและสิงคโปร์เน้นการสอน STEM (science, technology, engineering, and mathematics) ซึ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ควบคู่กันไป เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพของประเทศส่วนรัฐบาลเวียดนามกำหนดเป้าหมายของการลงทุนทางการศึกษาเพื่อปลูกฝังแนวคิดการอาศัยฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เป็นเทคโนโลยี พัฒนาการเรียนรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และการจัดการ ตามแบบอย่างไต้หวันแบะเกาหลีใต้

จากการศึกษาทั้ง 10 ประเทศอาเซียน จนพบว่ามีความแตกต่างทางการศึกษาค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณาดัชนีการพัฒนามนุษย์โดย Human Development Report 2011 ของ UNDP เกี่ยวกับดัชนีการศึกษาที่จัดอันดับจากทั้งหมด 187 ประเทศ สิงคโปร์(อันดับที่ 26) และบรูไน(อันดับที่ 33) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก ตามด้วยมาเลเซีย (อันดับที่ 61) ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง ส่วนกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับปานกลางได้แก่ ไทย (อันดับที่ 103) ฟิลิปปินส์(อันดับที่ 112) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 124) เวียดนาม (อันดับที่ 128) ลาว (อันดับที่ 138) และกัมพูชา (อันดับที่ 139) ส่วนพม่า (อันดับที่ 149) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำ

การจัดอันดับนี้คำนวณจากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ และสัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ได้รับการศึกษาระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา นอกจากนี้ในรายงาน World Competitiveness Online 2012 ซึ่งจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 59 ประเทศ โดยสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการหรือ International Institute for Management Development (IMD) ยังพบความสามารถทางการศึกษาที่แตกต่างกันของประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย IMD ได้จัดอันดับการศึกษาของสิงคโปร์ไว้ที่อันดับ 6 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 33 ไทยอันดับที่ 52 อินโดนีเซีย 53 และฟิลิปปินส์ 57

             

3. ทักษะภาษาอังกฤษ

ความแตกต่างกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนนำมาซึ่งการพัฒนาการศึกษาที่แตกต่างกัน และถึงแม้ทุกประเทศจะเน้นการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้ประชาชนของตนเองติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ก็ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบการสอนและสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะเหมือนกันซะทีเดียว ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกอย่างสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ส่วนมาเลเซียใช้เป็นภาษาที่สอง

สิงคโปร์และฟิลิปปินส์จะสอน 2 ภาษาควบคู่กันไปทั้งภาษาอังกฤษและภาษาแม่ บรูไนก็ใช้การเรียนการสอนระบบ 2 ภาษาเช่นกันและด้วยความที่มีนักเรียนนักศึกษาจากต่างชาติจำนวนมากนิยมเข้าศึกษาที่สิงคโปร์และฟิลิปปินส์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ประเทศจึงตั้งเป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู้การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในภูมิภาค

ส่วนประเทศไทย เวียดนาม ลาว และพม่า ต่างก็เร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้นักเรียนไทยพยายามเพิ่มห้องเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาลและกระตุ้นให้ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสอนวิชาหลัก เช่นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น รวมทั้งการจ้างครูชาวต่างชาติจำนวนมากทั้งจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่และครูชาวจีนเพื่อสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนไทย หลายโรงเรียนทั่วประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านได้สอนภาษาของประเทศเพื่อนบ้านให้กับนักเรียนแล้ว เช่น ภาษาพม่า ลาว มาเลย์ และเขมร ลาวจะให้นักเรียนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษเร็วขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนชั้นประถมศึกษาบางส่วนมีโอกาสได้เรียนหลักสูตร 2 ภาษาแล้ว นักเรียนที่อยู่ใกล้ชายแดนก็ต้องเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนามเช่นกัน ในขณะที่เวียดนามมีความกระตือรือร้นในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก สำหรับภาษาไทยก็มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาเอกมีนักศึกษาสนใจเข้าเรียนกันพอสมควร เพราะสามารถออกมาประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ซึ่งมีรายได้ดี หลังจากที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าไปเที่ยวในเวียดนามมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

4. อาชีวศึกษาขยายตัว

การที่บุคลากรสายปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรม กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มประเทศอาเซียน หลายประเทศได้แก่ เวียดนาม ไทย ลาว และพม่าหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีวศึกษามากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เวียดนามในขณะนี้มีสัดส่วนนักศึกษาที่เรียนสายอาชีวศึกษากับสายสามัญอยู่ที่ 45:55 เปอร์เซ็นต์ ไทย 39:61 เปอร์เซ็นต์ และลาว 30:70 เปอร์เซ็นต์

เวียดนามตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนนักเรียนในสายอาชีวศึกษาตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆเช่นโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ และมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อแนะแนวการศึกษาให้แก่นักเรียนสายนี้ ซึ่งถ้าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการเพิ่มจำนวนนักเรียน

ลาวพยายามเพิ่มคุณภาพครูและจำนวนสถาบันที่เปิดสอนอาชีวศึกษาโดยมีแผนการเพิ่มเงินเดือนให้ครู 2-3 เท่าตัวในเดือนตุลาคม 2555 เพื่อดึงคนเก่งเข้ามาสอน รวมถึงเปิดโอกาสให้เอกชนที่ต้องการเปิดสถาบันการศึกษาเปิดสอนในระดับอาชีวศึกษาได้

สำหรับพม่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า เห็นว่าพม่าควรมีการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตกำลังคนรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เพราะที่ผ่านมาเน้นการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากเกินไป อีกทั้งเห็นว่า ควรปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้เช่นกัน

ส่วนสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีวศึกษามานานแล้ว อีกทั้งคุณภาพการเรียนการสอนเป็นที่ยอมรับจากสัดส่วนผู้เรียน 65 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาในประเทศนี้อยู่ในสายอาชีวศึกษา

5. ยกระดับการเรียนการสอน สร้าง ”นักปฏิบัติ”

เพื่อยกระดับคุณภาพนักศึกษาที่จบจากสายอาชีพ ครูอาชีวศึกษาของไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมไปถึงจีน ยังได้รับการพัฒนาให้เพิ่มทักษะภาคปฏิบัติหรือทักษะการทำงานจริงมากขึ้นโดยการสนับสนุนจากประเทศเยอรมนี เพื่อที่ครูเหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดทักษะการทำงานให้กับนักศึกษาของตนต่อไป

ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มีแผนการผลักดันให้นักเรียนสายอาชีพได้แลกเปลี่ยนระหว่างกันในประเทศสมาชิก รวมทั้งให้ผู้ที่เรียนจบด้านอาชีวศึกษาได้มีงานทำมากขึ้นโดยในอนาคตเตรียมทำการสำรวจตำแหน่งงานในประเทศสมาชิก เพื่อเจาะลึกความต้องการตลาดแรงงานในระดับภูมิภาค อาทิ ธุรกิจใดต้องการงานด้านใดบ้างเพื่อส่งนักเรียนของประเทศอาเซียนเข้าฝึกงานและทำงานในประเทศนั้นๆได้ในระดับที่สมดุล

ถึงแม้การจัดการศึกษาของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สิ่งที่ทุกประเทศเห็นตรงกันคือการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการและการพัฒนาของประเทศ

ที่ผ่านมาประเทศไทยกับมาเลเซียได้ริเริ่มจัดการประชุมสัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย มากว่า 5 ปีแล้ว เพื่อให้นักวิจัยทางการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและผู้สอน ลงพื้นที่ศึกษากรณีตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยของทั้ง 2 ประเทศนำเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของประเทศทั้งระบบ

หน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยการศึกษาของไทยและมาเลเซียยังมีแนวคิดจะเชิญประเทศอาเซียนอื่นๆที่น่าสนใจ เข้าร่วมสัมมนาในปีต่อๆไป ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาของประเทศอาเซียนได้เรียนรู้การยกระดับการศึกษาของแต่ละประเทศผ่านงานวิจัยและการลงพื้นที่ศึกษากรณีตัวอย่างในแต่ละประเทศ เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายของแต่ละประเทศก่อนนำมาปรับใช้กับประเทศของตัวเองซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคต่อไป

ที่มา : Biz100  โดย กรุงเทพธุรกิจ