เตรียมรับมือ AEC เปิดเสรี logistics
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.8K views



จากการที่กลุ่มประเทศอาเซียนได้ประกาศอย่างชัดเจนให้ปี 2015 เป็นปีเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC และได้กำหนดให้เร่งเปิดเสรีภาคบริการใน 5 สาขา เร่งรัด ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สาขาท่องเที่ยว สาขาขนส่งทางอากาศภายในปี 2010 และสาขาลอจิสติกส์ภายในปี 2013 ส่วนสาขาบริการอื่นๆ ให้เปิดตลาดเสรีภายในปี 2015 ตามลำดับนับเป็นโอกาส ของผู้ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์ไทยที่จะเตรียมตัววางกลยุทธ์รับมือผู้ให้ บริการจากต่างชาติที่จะขยายฐานเข้ามาในประเทศไทย และเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ให้บริการไทยจะขยายฐานเปิดให้บริการยังประเทศอาเซียนได้

ในเรื่องนี้ผู้คร่ำหวอดในวงการ “คุณสมศักดิ์ วิเศษเรืองโรจน์” นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ได้แสดงทรรศนะว่า ในการเปิดเสรีขนส่งและลอจิสติกส์นั้น สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ ควรเริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่วันนี้ว่า การเปิดเสรีด้านการขนส่งและลอจิสติกส์มีการเปิดเสรีด้านใดบ้างและการเปิดดังกล่าวมีผลกระทบกับธุรกิจของตนเองมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ คำว่าเปิดเสรีไม่ได้หมายความว่า เปิดหมดทุกอย่าง การเปิดเสรีมีการเปิดเป็นสี่ลักษณะหรือที่เรียกว่า Mode of Supply ตาม GATS สิ่งที่ปัจจุบันถึงไม่ได้เปิดแต่ก็ทำอยู่แล้ว คือ Mode 1 (Cross Border) และ Mode 2 (Consumption Abroad) ส่วนที่เป็นกังวลกันก็คือ Mode 3 (Commercial presence) คือ การเข้ามาตั้งกิจการในประเทศด้วยทุน 70% ของคนชาติอาเซียน และ Mode 4 (Presence of Natural Person) การเข้ามาทำงานของคนชาติอาเซียน ซึ่งจริงๆ แล้วในแต่และกิจการที่เปิดเสรี จะมีข้อจำกัดของการเข้าสู่ตลาดและการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติอยู่

รวมทั้งข้อผูกพันรายสาขาซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยไม่ให้ผู้ประกอบการชาติอาเซียนดำเนินการ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องทำความเข้าใจให้ได้และรู้ให้กระจ่าง เพื่อป้องกันตัวในเชิงรับทั้ง 11 สาขาที่เปิดเสรี

แนะรัฐให้ความรู้ผู้ประกอบการไทยเพื่อเตรียมรับมือเปิดเสรีอย่างถูกจุด

AEC จะเป็นโอกาสและตลาดที่ใหญ่ขึ้นของนักธุรกิจไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมรุก-รับไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในสาขาด้านบริการ ขณะเดียวกันก็เป็นจังหวะที่ดีที่จะได้พัฒนาขีดความสามารถของไทยในตลาดอาเซียนและตลาดโลก

คุณสมศักดิ์ ยังมองว่า ในเชิงรุกก็ต้องเริ่มแบบเดียวกันคือ ต้องไปดูว่าชาติอาเซียนที่เปิด 11 สาขาด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ ได้เปิดอะไรให้เราบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงโอกาสที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้น ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยที่เกี่ยวกับการเปิด เสรีบริการของชาติอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากไม่มีข้อมูลใดๆ และไม่สามารถหาได้อีกด้วย ถึงหาได้ก็อ่านตารางข้อผูกพันไม่เป็น เพราะซับซ้อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำ ณ ตอนนี้ คือ การร้องขอให้รัฐออกมาทำความเข้าใจ ในเรื่องการเปิดเสรีบริการของประเทศไทย และของประเทศอื่นในอาเซียนรายประเทศ เพื่อที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ในอนาคตได้ ตอนนี้ผู้ประกอบการไทยยังเตรียมตัวไม่ถูก

อย่างไรก็ตาม มองว่า ทางอากาศ สำหรับสายการบินไม่ได้มีผลกระทบอย่างไร เพราะแข่งขันปกติ ส่วน air freight forwarder อาจมีผลกระทบเล็กน้อยจากการที่ผู้ประกอบการอาเซียนเข้ามาประกอบการ แต่ไม่น่าจะรุนแรง ส่วนสายเรือก็เป็นการแข่งขันอย่างปกติ แถมชาติอาเซียนมาชักธงเรือไทยไม่ได้ จึงไม่มีผลกระทบ สำหรับ sea freight forwarder ก็คาดว่าไม่น่าจะมีผู้เข้ามาประกอบการให้บริการมากนัก ส่วนใหญ่จะมาพ่วงกับการขนส่งทางบกระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้แก่สิงคโปร์และมาเลเซีย รวมไปถึงจีนที่จะสวมเสื้อเวียดนาม เข้ามาประกอบการการขนส่งทางรางระหว่างประเทศก็น่าจะมีเพียง 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่อยากเข้ามาประกอบการ


credit: www.siamturakij.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thai-aec.com/58