ประกันไทยไม่พร้อม เตือนภัยเปิดเสรี AEC
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.7K views



กระแสเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (Asean Economic Community : AEC) กำลังมาแรง วงการธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจประกันภัย-ประกันชีวิต เริ่มตื่นตัวกันแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยที่เป็นบริษัทท้องถิ่น เตรียมตั้งรับเพราะไม่มีเครือข่ายพันธมิตรหรือผู้ถือหุ้นต่างประเทศ และที่ผ่านมายังมีปัญหาเคลมสินไหมน้ำท่วมหลายแสนล้านบาท ซึ่งยังเป็นปัญหาเคลียร์ไม่จบ

ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตแม้ดูเหมือนจะมีปัญหาน้อยกว่า เพราะผู้ประกอบการกว่าครึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาปักธงอยู่แล้ว เหลือผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่ถึง 10 ราย แต่ปรากฎว่าเมื่อต้องเปิดเสรีอาเซียนขึ้นมาจริงๆในในปี 2558 หลายฝ่ายก็ไม่มั่นใจว่าแต่ละแห่งจะเตรียมความพร้อมรองรับกระแสการแข่งขันของ กลุ่มทุนต่างชาติอื่นๆ ที่จะเข้ามาเจาะตลาดได้แค่ไหน

สำหรับความเคลื่อนไหวเพื่อรับมือการเปิดเสรีเออีซีนั้น มีอาทิ บริษัท กรุงเทพประกันภัย (BKI) และกรุงเทพประกันชีวิต(BLA) ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทประกันภัยต่างชาติในการจัดตั้งบริษัทแคมโบ เดียนไลฟ์ ในประเทศกัมพูชา โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินกัมพูชาถือหุ้นใหญ่ 51% ส่วนอีก 49% เป็นการร่วมลงขันโดยบริษัทประกันที่เป็นพันธมิตรกันใน 4ประเทศ คือ BKI, BLA, บริษัทประกันภัยจากฮ่องกง และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกช่วยสร้างหลักประกันให้แก่ผู้บริโภคในตลาดกัมพูชา หลังรัฐบาลกัมพูชาเพิ่งเปิดตลาดหุ้นไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาส่วนทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้แก้ไขหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทประกันภัยให้สามารถถือหุ้นเกินกว่า 25% โดยกำหนดว่าถ้าถือหุ้นไม่เกิน 49% จะต้องขออนุมัติบอร์ดคปภ. และถ้าถือหุ้นเกิน 49% ขึ้นไป ต้องขออนุมัติจาก รมว.คลัง เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทประกันภัยให้สามารถรองรับการเปิดเสรี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้เต็มที่ภายในปี 2020

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. กล่าวยอมรับว่าขณะนี้ธุรกิจประกันไทยในภาพรวม ยังไม่มีความพร้อมในการรองรับเออีซี เพราะภาคประกันของไทยต้องสร้างตัวเองให้มีความเข้มแข็งก่อนที่จะไปแข่งขัน กับต่างประเทศ ซึ่งคงต้องมีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้กันอีกมาก และต้องเร่งปรับตัวให้ทันก่อนปี 2020 โดยนายประเวชแนะว่า บริษัทประกันต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ด้วย เพราะการประกันเป็นธุรกิจการเงินที่มีความซับซ้อน จึงถูกกำหนดให้มีระยะเวลาปรับตัวนานกว่าธุรกิจอื่นไปหนึ่งสเต็ป

นายไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยประกันชีวิต ให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญ คือการปรับเปลี่ยนระบบของแต่ละบริษัทให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในธุรกิจ เพราะการเปิดเสรีประกันภัยนั้นพูดกันมานาน 20 ปีแล้ว กระทั่งขยับเข้ามาเป็นเออีซี ซึ่งแคบลงกว่าเดิม โดยในส่วนของไทยประกันชีวิตมีการปรับรูปแบบโครงสร้างการบริหารธุรกิจภายใน ให้รับกับกระแสการแข่งขันภายนอกที่แข่งขันรุนแรงมานานนับ 10 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาปรับเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานายประกิตติ บุณยเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารตัวแทนประกันชีวิต บริษัทเอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่าบริษัทแม่ที่ฮ่องกงยังไม่ได้ให้นโยบายเร่งด่วนสำหรับการวางแผนรอง รับการเปิดเสรีเออีซี เพราะเอไอเอ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้ง15 ประเทศ ต่างมีขนาดธุรกิจค่อนข้างใหญ่ และประสบผลสำเร็จทางด้านยอดขายค่อนข้างดี ครอบคลุมฐานลูกค้ามากกว่าตลาดอาเซียนในปัจจุบัน โดยเฉพาะเอไอเอ ประเทศไทยมีฐานกรมธรรม์ลูกค้าทั้งประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมกันแล้ว 7 ล้านฉบับ

นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่าในปี 2558 เมื่ออาเซียนกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี มีการเปิดเสรีด้านการเงินการธนาคาร จะทำให้การแข่งขันด้านธุรกรรมและบริการวางแผนทางการเงินมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะสถาบันการเงินและบริษัทประกันชีวิตของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนจะมีโอกาสเข้ามามีบทบาทและร่วมแข่งขันในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีสถาบันที่ให้บริการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นบริการเสริม เพื่อดึงดูดลูกค้าของสถาบันการเงินและธุรกิจประกันชีวิต โดยยังไม่ได้รวมถึงบริการของนักวางแผนการเงินอิสระอีกต่างหาก ดังนั้น ธุรกิจของไทยต้องวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไว้ล่วงหน้า

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทแอกซ่าประกันภัย ให้ความเห็นว่าถ้าเปิดเออีซีเต็มรูปแบบจริงบริษัทประกันภัยท้องถิ่นในประเทศ จะเสียเปรียบบริษัทประกันภัยที่มีเครือข่ายข้ามชาติ ยกตัวอย่าง การประกันภัยรถข้ามแดนที่ปัจจุบันยังทำเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. แต่ในอนาคตจะต้องเปิดประกันภาคสมัครใจด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thai-aec.com/240