นับถอยหลัง AEC ก้าวแรก ต้องปฏิรูปการศึกษาไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.2K views



เหลืออีกเพียง 2 ปีเศษ ประเทศไทยจะเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ไม่ใช่แค่ให้ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวตั้งรับเท่านั้น ภาคการศึกษาเองก็ต้องปรับระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งในด้านทักษะวิชาชีพและภาษา เพราะเมื่อมีการเปิดตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขัน

ดังนั้น การเรียนการสอนควรมีการปฏิรูป ไม่ใช่ปฏิรูปแต่องค์กรเพราะการสอนให้เด็กคิดเป็นไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนอื่นอาจารย์ต้องคิดเป็นก่อน ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเรียนการสอนไม่ควรแยกระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าหากว่าครูหรืออาจารย์มีความรู้หรือข้อ มูลน้อยกว่าเด็กแล้วจะสอนเด็กได้อย่างไร เพราะในปัจจุบันเด็กมีการใช้เทคโนโลยีและศึกษาข้อมูลได้ดีกว่าผู้ใหญ่มีความคล่องตัวมากกว่า ขณะที่อาจารย์ยังใช้เอกสารตำราเล่มเก่า แต่เด็กมีการค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตมาก่อนเรียบร้อยแล้ว

นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 ในภาคส่วนของประชาชนทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และคนในท้องถิ่น ต้องปรับตัวเพื่อตั้งรับกับการแข่งขันในระดับประเทศ ประชาชนทั่วไปต้องถามตัวเองว่า ประกอบอาชีพอะไร อยากก้าวหน้าในอาชีพในระดับอาเซียนหรือไม่ ถ้าอยากก้าวหน้าต้องแข่งขันกับชาติอื่นให้ได้คือ
     1.หาความรู้ว่าอาเซียนคืออะไร
     2. กระทบกับตัวเองในส่วนไหนบ้าง
     3. ปรับปรุงตัวเอง หาความรู้ว่าควรจะทำอะไร

หากจะทำอาชีพนี้ต้องมีการประชุม อบรม สัมมนาหาความรู้จากผู้มีความรู้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดจนถึงกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะจัดระบบเผยแพร่ความรู้ ให้ตรงไปสู่หมู่บ้านหรือ อบต. อบจ. เพื่อชาวบ้านจะได้ฟังและตั้งคำถามว่าตนต้องการอะไรบ้าง ซึ่งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังทดลองอยู่ ถ้าทุกตำบลมีกระบวนการให้ความรู้ก็จะสามารถพัฒนาไปได้ ในขณะที่ยังไม่รู้ก็ต้องหาความรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว และปรับปรุงการสื่อสารของตัวเอง คือ ต้องรู้ภาษาอังกฤษและถ้าเป็นไปได้ให้รู้ภาษาที่ 3 ด้วยคือภาษาในอาเซียนอีกภาษาหนึ่ง

“เราอยู่ในประชาคมอาเซียนตามความตกลง 10 ประเทศว่าจะทำอะไรร่วมกันแข่งกับประเทศอื่นๆ นอกอาเซียนบ้าง แข่งกันเองภายในบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องดูแลตัวเองให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ อีก 9 ประเทศที่อาจจะจริงจังและขยันกว่าเราประเทศไทยต้องตั้งตัวเองให้ทัดเทียมกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สิ่งที่เราควรจะเร่งทำอย่างต่อเนื่อง คือ รัฐบาล ต้องทำตามที่ประเทศอาเซียนตกลงกันในแผนปฏิบัติการไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เรียกว่า Blueprint และแผนอื่นๆ อีกหลายแผน รัฐบาลต้องทำในเชิงโครงสร้างนโยบาย และงานส่วนกลาง ต้องทำแผนไปสู่ประชาคมการศึกษาอาเซียนให้เป็นไปตามแผนประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน คือต้องมีแผนแม่บทของประเทศไทยว่าควรทำอะไร จัดงบประมาณ ผลักดันและทำงานที่รัฐบาลไม่ได้ปูพื้นฐานไว้” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ ยังเป็นห่วงเรื่องการศึกษาที่อาเซียนเองก็ไม่ได้ตื่นตัวที่เห็นก็มีแต่เอกสาร คำประกาศแถลงการณ์ และปฏิญญาครั้งสุดท้ายที่ประกาศโดยประเทศไทยเป็นประธานที่ชะอำ หัวหิน ปี 2552 ให้อาเซียนทำแผนการศึกษา 5 ปี จนปัจจุบัน 3-4 ปีแล้วก็ยังไม่มี ฉะนั้นในภาพรวมอาเซียนจึงไม่ตื่นตัวมากนักทางด้านการศึกษา ส่วนแต่ละประเทศเท่าที่ดูก็ไม่มีอะไรโดดเด่นหรือน่าตกใจ ทุกคนไปกันเรื่อยๆ ยกเว้นบางประเทศที่เจริญกว่าเรา ก็จะทำตามแผนแม่บทหรือแผนปฏิบัติการแล้ว เช่น การเชื่อมโยงด้วยระบบ ICT เพื่อให้ทุกโรงเรียนได้เข้าถึง Internet ความเร็วสูง โดยรัฐจัดการให้ทุกโรงเรียนพูดถึงในแวดวงอาเซียน ในข้อนี้ประเทศไทยด้อยกว่าประเทศต่างๆ มากมาย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เสร็จไปนานแล้ว อย่างน้อยก็ปีกว่าแล้ว อินโดนีเซียก็เพิ่งเสร็จไปปีเศษที่แล้ว ประเทศไทยยังเพียงแค่ทดลองใช้คอมพิวเตอร์คุณภาพต่ำ ที่เรียกว่า Tablet กับเด็กนักเรียน ป.1 บางคนที่อื่นเค้าไปกันคุณภาพสูง ฟรี ทุกโรงเรียนและเด็กทุกคนมีใช้ อันนี้เราล้าหลังมาก

พูดถึงการตื่นตัวในเรื่องการเรียนรู้ การปรับหลักสูตรประเทศลาวทำเสร็จไปประมาณ 3 ปีกว่าแล้ว หลักสูตรอาเซียนศึกษา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีแผนกลางกับอาเซียน ประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรอะไรเลยเกี่ยวกับอาเซียน เพราะฉะนั้นจึงล้าหลังกว่าเพื่อนและหยุดนิ่ง รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ทำหลักสูตรใหม่ ไม่ได้เตรียมเนื้อหาพื้นฐานที่อาเซียนกำหนด แต่ทุกโรงเรียนเริ่มตื่นตัวกันเอง ถือเป็นข้อดีที่โรงเรียนทำตามนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นในแง่การศึกษาภาพรวมคือรัฐบาลไทย ไม่ตื่นตัว ไม่ทำโครงสร้างอะไรให้กับการศึกษา แต่กระทรวงศึกษาธิการตื่นตัวอยู่เสมอในนามของข้าราชการประจำ คือ มีงบประมาณน้อยก็ทำโรงเรียนนำร่องประมาณ 50 กว่าโรงเรียน รวมแล้วคือ การตื่นตัวในสถาบันการศึกษานั้นทำกันเอง ส่วนใหญ่ได้แค่การประชุมสัมมนาให้ความรู้และบรรยาย

ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นได้ การศึกษา คือกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มั่นคงและยั่งยืนอย่างเท่าเทียมกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thai-aec.com/435