สารพัดปัญหาเปิด AEC ชาติสมาชิกตั้งการ์ดกันเอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.2K views



ปัจจุบันประเด็นการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ถูกถกเถียงกันในสังคมมากขึ้นว่า ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะเข้าสู่การรวมตัวในครั้งนี้ เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี 4 เดือน เท่านั้น ที่ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ต้องเข้าสู่การเปิดเสรีอย่างจริงจังทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุน กันอย่างเต็มตัว ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) ล่าสุด ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 28-31 ส.ค. 2555

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้า แม้ชาติสมาชิกจะทยอยลดภาษีสินค้าระหว่างกันเหลือ 0% จนเกือบหมดแล้ว มาจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีทั้งของเดิม และของใหม่หลายๆ ประเทศออกมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในให้อยู่รอดจากการเปิดเสรี ตัวอย่าง มาเลเซีย ได้กำหนดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ยุ่งยาก และต้องยื่นขอใบอนุญาตจากด่านนำเข้านาน 3 เดือน ทำให้สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านส่งออกไปขายได้ยาก หรือแม้กระทั่งการนำเข้ารถยนต์ มาเลเซียยังมีระเบียบ ต้องขออนุญาตนำเข้าโดยพิจารณาเป็นรายคัน และให้สิทธิเฉพาะบริษัทที่ทำการประกอบรถยนต์และส่งออกรถยนต์รายใหญ่ จึงขออนุญาตนำเข้าเฉพาะรุ่นที่ไม่มีการประกอบในประเทศเท่านั้น สำหรับไทยมีไม่แพ้กัน โดยได้กำหนดกรอบเวลาเปิดนำเข้าสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ ต้องนำเข้าในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ของทุกปี กระเทียมต้องนำเข้าช่วง ก.ค.-ต.ค. ของทุกปี มะพร้าวให้นำเข้าได้เดือน ม.ค.-พ.ค. และเดือน พ.ย.-ธ.ค. ส่วนเมล็ดกาแฟ ให้เฉพาะองค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า

นอกจากนี้ยังติดปัญหาการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ที่ยังไม่สามารถตกลงได้ลงตัว โดยไทย เวียดนาม กัมพูชา ต้องการให้อาเซียนตั้งกองทุนสนับสนุนการเงินแก่ SMEs แก่ชาติสมาชิก แต่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งส่วนใหญ่มีธุรกิจ SMEs น้อยไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการให้จัดตั้งกองทุน ส่งผลให้แนวทางช่วยเหลือนี้ยังชะงักงัน นอกจากนี้ยังติดปัญหาเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการล่าช้า เพราะแต่ละประเทศติดปัญหาเรื่องกฎหมายเฉพาะภายในของตนเอง

ด้วยมุมมองความคิดของทุกประเทศที่แตกต่างกัน โดยมองแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง และไม่ได้มองการร่วมมือกันเพื่อแข่งขันกับต่างชาติ ส่งผลให้เวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน รอบนี้ จึงวนเวียนอยู่แต่การเรียกร้องและปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ลาวขอให้ไทยเปิดเสรีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดปี ขณะที่ที่ผ่านมาไทยก็พยายามขอโควตานำเข้าข้าวจากฟิลิปปินส์เพิ่ม หลังจากฟิลิปปินส์ไม่ยอมลดภาษีตามที่กำหนด ยกเว้นแค่ความพยายามของประเทศไทย ที่นายบุญทรง พยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือจัดตั้งสมาพันธ์ข้าวอาเซียน 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่าขึ้น เพื่อช่วยให้อาเซียนมีอำนาจต่อรองในตลาดข้าวโลก ซึ่งหากทำได้จะถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการเกิด AEC

ดังนั้นโอกาสที่ชาติอาเซียนจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เหมือนการรวมตัวกันของยุโรปเพื่อเป็นสหภาพยุโรป (อียู) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่ใช่แค่ปัญหาเงื่อนไขทางการค้า แต่ชาติอาเซียนยังมีช่องว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษาอยู่มาก โดยมีภาษาประจำชาติแตกต่างกันถึง 8 ภาษา มีศาสนาทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ และอาณาเขตดินยังถึงแบ่งกั้นด้วยทะเล มหาสมุทร ต่างจากทวีปยุโรปที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และมีแผ่นดินเชื่อมต่อถึงกัน ประกอบกับยังมีปัญหาทางเทคนิค เช่น ขาดการเชื่อมโยงพิธีการด่านศุลกากร รวมถึงการตรวจคนเข้าเมือง ที่ยังไม่พร้อมภาพของการเปิด AEC จริง หลังจากปี 58 จึงน่าจะเป็นการเปิดเสรีค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถกดปุ่มเปลี่ยนเป็นการค้าเสรีได้เต็มตัว และภาคีสมาชิกยังคงต้องติดตามแก้ปัญหาตามกันต่อเนื่อง ทั้งเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า ระบบเทคนิคต่างๆ แต่หากมองในแง่ดีแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะเป็นเหมือนยาคุ้มครองให้ธุรกิจที่เสียเปรียบอยู่ โดยเฉพาะรายเล็กและ SMEs ได้มีเวลาปรับตัวมากขึ้นท่ามกลางระบบปลาใหญ่กินปลา เล็ก เพราะการเปิด AEC ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของทุกคน

รัฐมนตรีอาเซียนได้หารือในเรื่องนี้ และเห็นควรที่จะหาแนวทางในการป้องกัน เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้การค้าขายในอาเซียนไม่คล่องตัว โดยแนวทางที่นำมาใช้ เช่น อาเซียนต้องมีมาตรฐานกลางในแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบพิธีการศุลกากร มาตรฐานสุขอนามัย ซึ่งในอนาคตอาเซียนจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันเหมือนที่สหภาพยุโรป (อียู) ใช้ แม้จะต้องใช้ระยะเวลาแต่จะต้องเริ่มทำมาตรฐานให้เหมือนกัน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แม้ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thai-aec.com/533