วันจักรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.4K views



วันจักรี  
วันที่ 6 เมษายนของทุกปี 

 

      วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี  เป็นวันสำคัญยิ่ง วันหนึ่งที่ปวงชนชาวไทยทั้งชาติพากันน้อมระลึกถึง  “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” และได้มีการจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่างๆ เพื่อแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติพระปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีก็ได้มีการจัดกันเป็นประจำทุกปี และเพื่อเตือนใจพี่น้องประชาชนทั้งหลายรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญเจ้าชีวิตของพวกเรา ชาวไทยทั้งปวง และทรงเป็นองค์ผู้นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ชาติไทย เริ่มต้นยุครัตนโกสินทร์ให้ก้าวหน้ายิ่งใหญ่สืบต่อมา

 

        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง  ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม  พุทธศักราช ๒๒๗๙  มีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ขณะเมื่อพระชนกทรงเป็นหลวงพินิจอักษร รับราชการเป็นเสมียนตราในกรมมหาดไทย พระมารดามีนามว่า “ดาวเรือง” มีนิวาสถานอยู่ภายในกำแพงกรุงศรีอยุธยาหลังป้อมเพชร

    

             เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระชันษา ๒๑ พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่สามเดือน    เมื่อลาสิกขาบทแล้วได้เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

             ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัต  ได้เป็น หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี

            ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้เข้ารับราชการในกรุงธนบุรี มีความชอบได้เป็น “พระราชวารินทร์”

             ต่อมาได้เป็น “พระอภัยรณฤทธิ์” เมื่อตีด่านกระโทก เมืองนครราชสีมาของเจ้าพิมายได้ และเมื่อปราบเจ้าพระฝางได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระอภัยรณฤทธิ์ ขึ้นเป็น “พระยายมราช” ว่าที่สมุหนายก

             แล้วต่อมาทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น  “เจ้าพระยาจักรี” และ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ตามลำดับ

             ในพุทธศักราช ๒๓๒๑  พระองค์ได้เป็นแม่ทัพไปปราบปรามกรุงศรีสัตนาคนหุต  ตีได้เมืองเวียงจันทน์  เมืองหลวงพระบางกับหัวเมืองขึ้นทั้งปวง    มาเป็นข้าขอบขันธสีมาของไทย  ได้อัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) กับ พระบาง จากเมืองเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรีด้วย

             ในพุทธศักราช ๒๓๒๓  ทางประเทศเขมรหรือกรุงกัมพูชาเกิดการจลาจล  เนื่องจากเจ้านายของกัมพูชาชิงราชสมบัติกัน  สมเด็จระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้พระองค์เป็นแม่ทัพไปปราบปราม

             ขณะที่ทำการรบติดพันอยู่ในเขมร  พระองค์ทรงทราบจากพระยาสุริยอภัยผู้ครองเมืองนครราชสีมา ว่าได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี  ด้วยเหตุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระประชวรมีสัญญาวิปลาส  ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คงเรียกว่าโรคเครียด มีพระราชอัธยาศัยผิดปกติไปจากพระองค์เดิม  ทำให้มีผลกระทบต่อประชาชน  รวมทั้งพระสงฆ์และฆราวาสทั้งปวงด้วย   พระยาสรรค์และพวก จึงถือโอกาสคบคิดกันเป็นกบฎ คุมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปขังไว้

             เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ทราบข่าวการเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี  จึงสั่งให้พระยาสุริยอภัยเดินทางกลับมาก่อน แต่พระยาสุริยอภัยสามารถปราบพระยาสรรค์และพวกได้แล้วก็ส่งข่าวไปให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบ

             สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ทราบข่าวในกรุงธนบุรีแล้ว  ก็มอบการศึกให้เจ้าพระยาสุรสีห์ปฏิบัติแทน  แล้วยกกำลัง ๕,๐๐๐ คน  เดินทางกลับกรุงธนบุรี ดังความจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า

             “ขณะนั้นชาวพระนครรู้ข่าวว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับมา ก็ชวนกันมีความยินดีถ้วนทุกคน ยกมือขึ้นถวายบังคมแล้วกล่าวว่า ครั้งนี้การยุคเข็ญจะสงบแล้ว แผ่นดินจะราบคาบ บ้านเมืองจะอยู่เย้ยเป็นสุขสืบไป จึงหลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุทัยธานีลงมาอยู่ ณ กรุง ก็ขึ้นม้าออกไปรับเสด็จที่ทุ่งแสนแสบ นำทัพเข้ามายังพระนคร

             ครั้น  ณ  วันเสาร์เดือนห้า แรมเก้าค่ำ เพลาเช้าสองโมงเศษ  ทัพหลวงมาถึงกรุงธนบุรื ฟากตะวันออก  พระยาสุริยอภัยจึงให้ปลูกพลับพลารับเสด็จริมสะพานท่าวัดโพธาราม แล้วให้แต่งเรือพระที่นั่งกราบเข้ามาคอยรับเสด็จ  และท้าวทรงกันดาลทองมอญ  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่ในพระราชวัง ก็ลงเรือพระที่นั่งมาคอยรับเสด็จด้วย

             จึงทรงเสด็จช้างพระที่นั่งกรีธาทัพหลวงเข้ามาในกำแพงเมือง ดำเนินพลช้างม้า และพลเดินเท้า  แห่มาทางถนนระหว่างวัดโพธาราม  เสด็จลงจากช้างหยุดประทับ  ณ  พลับพลา หน้าวัดแล้ว    ท้าวทรงกันดาลทองมอญกราบถวายบังคมทูลเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่ง  และพระยาสุริยอภัยและข้าราชการทั้งปวงก็ข้ามมาคอยรับเสด็จเป็นอันมาก  แล้วกราบทูลแถลงข้อราชการแผ่นดินทั้งปวง    จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งข้ามไปเข้าพระราชวัง  เสด็จขึ้นประทับบนศาลาลูกขุนมหาดไทย ข้าราชการทั้งหลายก็เข้ามากราบถวายบังคม”

             พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช    ทรงรับอัญเชิญจากข้าราชการ และราษฎรขึ้นครองราชย์ในวันเสาร์ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีขาล  ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕    ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งการพระราชพิธี  วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์  ขึ้นเป็นครั้งแรก  เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๑  และโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเป็น “วันที่ระลึกมหาจักรี” ตั้งแต่บัดนั้นมา

 

ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี