รู้รอบโลก ตอน ฝนหลวง พระอัจฉริยภาพเพื่อพสกนิกรไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 17.9K views



          พวกเราคนไทย เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักโครงการฝนหลวง โครงการในพระราชดำริที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในถิ่นทุรกันดารและแห้งแล้ง เราทุกคนทราบว่าโครงการนี้ได้ใช้เทคนิคที่พระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาช่วยดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้ในพื้นที่ที่มีความจำเป็น แต่พอถามกันจริงๆว่า การทำฝนหลวงที่พระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นพัฒนาขึ้นมีขั้นตอนอย่างไร และมีเทคนิคอะไรบ้าง คงจะมีไม่กี่คนที่ตอบและอธิบายได้  ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันพระบิดาแห่งฝนหลวง วันที่ 14 พฤศจิกายนนี้  จึงขอนำเทคนิคและขั้นตอนการทำฝนหลวงมาเผยแพร่ให้เราคนไทยได้ชื่นชมและภูมิใจในพระอัจฉริยภาพของในหลวงของเราค่ะ

           ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำฝนเทียมกันก่อนค่ะ การทำฝนเทียมก็คือกรรมวิธีการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เมฆที่มีอยู่แล้วมีขนาดใหญ่ขึ้นและเร่งการกลั่นตัวของเมฆให้เกิดเป็นน้ำฝนตกลงมา เนื่องจากฝนเทียมต้องทำงานกับเมฆ กรรมวิธีการทำฝนเทียมจึงแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ ตามอุณหภูมิของเมฆ คือ การทำฝนเทียมกับเมฆเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส และ การทำฝนเทียมกับเมฆอุ่นที่มีอุณหภูมิมากกว่าศูนย์องศาเซลเซียส

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิจัยและพัฒนากรรมวิธีการทำฝนเทียมกับเมฆอุ่นที่เหมาะสำหรับประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เมื่อแรกเริ่มโครงการฝนหลวง จนเมื่อปี พ.ศ. 2516 พระองค์ทรงสรุปขั้นตอนการทำฝนเทียมจากเมฆอุ่น แล้วพระราชทานให้ใช้เป็นหลักปฏิบัติสืบเนื่องกันมา โดยทรงอธิบายหลักการไว้เป็นสามขั้นตอนเข้าใจง่าย คือ ขั้นก่อกวน ขั้นเลี้ยงให้อ้วน และขั้นโจมตี

           ในขั้นก่อกวน เป็นขั้นตอนของการเร่งให้เกิดการรวมตัวของเมฆ ด้วยการก่อกวนสมดุลของมวลอากาศเป็นแห่งๆ วิธีการก็คือให้เครื่องบินบินไปบริเวณต้นลมของพื้นที่เป้าหมาย แล้วโปรยผงเกลือแป้งหรือโซเดียมคลอไรด์ขวางทิศทางลม โซเดียมคลอไรด์เป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เป็นแกนดูดซับความชื้น ดังนั้นเมื่อถูกโปรยไปมันจึงดูดซับความชื้นที่มีอยู่ในอากาศ และกลั่นตัวเป็นเม็ดน้ำเล็กๆมากมาย รวมตัวกันเป็นเมฆให้เราเห็นกันค่ะ

           ในขั้นเลี้ยงให้อ้วน ตามปรกติจะเป็นเวลาประมาณ 11 โมงเช้า เป็นขั้นตอนเร่งการก่อตัวของเมฆให้มีขนาดใหญ่และหนาแน่นยิ่งขึ้น ขั้นตอนนี้จะต้องโปรยสารแคลเซียมคลอไรด์ โดยทำการโปรยเข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับความสูงประมาณ 8,000 ฟุต บริเวณใต้ลมของขั้นตอนแรก แคลเซียมคลอไรด์เป็นสารสูตรร้อนที่เมื่อดูดซับความชื้นในอากาศแล้วจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น มันจึงทำหน้าที่ทั้งดูดซับความชื้นให้อากาศให้มารวมตัวกันจนเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่ขึ้น และความร้อนที่เกิดขึ้นยังเร่งให้มวลอากาศในก้อนเมฆเกิดการไหลเวียน เป็นการเร่งให้เมฆก่อยอดสูงขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน

           เมื่อเมฆก่อตัวใหญ่และหนาแน่นขึ้นแล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการโจมตี หากยอดเมฆก่อตัวสูงไม่เกิน 15,000 ฟุต ก็จะใช้เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช โดยใช้เครื่องบินสองเครื่องบินโจมตีพร้อมกันสองระดับ เครื่องแรกจะโปรยผงเกลือแป้งที่ระดับความสูงประมาณ 10,000 ฟุต เพื่อให้เป็นแกนดูดซับความชื้นทำให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นและร่วงหล่นลงมารวมกับเม็ดน้ำที่อออยู่ที่ฐานเมฆ ส่วนเครื่องที่สองจะบินทำมุมเยื้องกันกับลำแรก 45 องศา และโปรยผงยูเรียบริเวณฐานเมฆกลุ่มเดียวกัน เพื่อทำให้อุณหภูมิเย็นลง ชักนำให้เม็ดน้ำที่อออยู่ร่วงหล่นลงมาเป็นฝน

           ขั้นตอนที่เล่ามา แค่อ่านอย่างเดียวอาจจะไม่ค่อยเห็นภาพ เราเลยมีคลิปจาก YouTube เป็นการ์ตูนน่ารักเกี่ยวกับการทำฝนหลวงมาแนะนำ เพื่อให้เพื่อนๆเข้าใจกระบวนการมากขึ้น สามารถเข้าไปดูได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=aAwvAMfkQA0

          เป็นที่น่าปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีการทำฝนหลวงของพระเจ้าอยู่หัวของเรา นอกจากจะมีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรที่ออกโดยประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปสิบประเทศมาแล้วด้วยค่ะ รู้อย่างนี้แล้ว เราทุกคนต้องภูมิใจที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ไม่เพียงมีพระอัจฉริยภาพเท่านั้น แค่ยังทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรอยู่ตลอดเวลาอย่างในหลวงของเราแน่ ๆ เลย จริงไหมคะ

 

จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2554