รู้รอบโลก ตอน พายุสุริยะ จุดจบวันสิ้นโลก?
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 9.7K views



           “โลกจะแตกจริงๆเปล่าเนี่ย” ประโยคนี้เหมือนจะเป็นประโยคฮิทติดปากทุกคนไปซะแล้วค่ะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หัวข้อภัยพิบัติล้างโลกในปี ค.ศ.2012 ก็ดูเหมือนจะเข้ามาอยู่ในวงสนทนาทุกครั้งไป พอได้โอกาสคุยกันเรื่องนี้ แต่ละคนก็จะยกเอาทฤษฎีต่างๆ นานาที่เคยได้ยินมาถกกันอย่างจริงจัง บ้างก็ดูมีเหตุผล บ้างก็ดูเหลือเชื่อ แต่หนึ่งในทฤษฎีที่ได้ยินกันบ่อยที่สุดและดูน่าจะเป็นไปได้ที่สุดก็คือทฤษฎีที่ว่า ปี ค.ศ.2012 จะเกิดพายุสุริยะโจมตีโลก จนทำให้สนามแม่เหล็กโลกสลับขั้ว และเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ขนาดถึงกาลอวสานได้เลยทีเดียว

           แต่ก่อนที่เราจะตื่นกลัวกันเพราะทฤษฎีที่ว่านี้ เพื่อนๆเคยหยุดคิดกันหรือเปล่าคะ ว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับพายุสุริยะบ้าง แล้วมันจะเป็นอันตรายขนาดที่เขาว่ากันจริงๆ หรือ

           ถึงไม่บอก เพื่อนๆก็คงทราบอยู่แล้วว่าพายุสุริยะนั้นมีต้นกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์ของเรานี่เอง แต่จริงๆแล้วมันคืออะไรล่ะ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่ผันผวนและแปรปรวนอย่างรุนแรงค่ะ พื้นผิวของดวงอาทิตย์มีการระเบิดอยู่ตลอดเวลา และบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าชั้นโคโรนา จะปลดปล่อยอนุภาคพลังงานสูง ในรูปแบบของประจุไฟฟ้าออกมายังห้วงอวกาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าลมสุริยะ อย่างไรก็ตาม ดวงอาทิตย์ของเราจะปลดปล่อยลมสุริยะออกมามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรดวงอาทิตย์ค่ะ

          วัฏจักรของดวงอาทิตย์นี้นี้มีระยะเวลาเฉลี่ย 11 ปี โดยแบ่งออกเป็นช่วงขาขึ้น หรือช่วง Solar Maximum 4.8 ปี และช่วงขาลง หรือช่วง Solar Minimum 6.2 ปีค่ะ ในช่วง Solar Minimum นั้น ดวงอาทิตย์จะค่อนข้างสงบมีจุดมืดบนดวงอาทิตย์น้อยและเกิดการปะทุน้อย แต่ในช่วง Solar Maximum จะตรงกันข้าม คือมีจุดมืดบนดวงอาทิตย์มาก ส่งผลให้เกิดการปะทุบนพื้นผิวมาก และดวงอาทิตย์จะปลดปล่อยลมสุริยะออกมามากตามไปด้วย ในบางครั้งลมสุริยะจะรุนแรงมากกว่าปรกติ จนเกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า พายุสุริยะ นั่นเอง

           โดยปรกติแล้ว พายุสุริยะจะไม่ได้มีอันตรายใดๆ ต่อโลกหรือสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจากเรามีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กคอยเป็นเกราะป้องกันอยู่ พายุสุริยะจึงเข้ามาทำร้ายเราไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าพายุสุริยะจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อโลกเลยนะคะ เพราะพายุสุริยะก็คือกลุ่มอนุภาคประจุไฟฟ้า พอพายุสุริยะลอยมาถึงโลกก็จะทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กโลกและทำให้เกิดการผันผวนของพลังงาน นี่อาจทำให้ให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าขึ้นบนวัตถุที่เป็นตัวนำไฟฟ้าและมีความยาวมากๆ บนผิวโลก เช่น ท่อส่งน้ำมัน หรือสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้การส่งกระแสไฟฟ้าได้รับความเสียหาย และเกิดไฟตกหรืออาจถึงขึ้นไฟดับในวงกว้างได้ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ในจังหวัดควิเบคของแคนาดาเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่กระแสไฟฟ้าถูกตัดไปกว่าเก้าชั่วโมงนั้นก็เป็นผลมาจากพายุสุริยะเช่นกัน นอกจากระบบส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว ระบบการสื่อสารและระบบดาวเทียมก็อาจปั่นป่วนได้เพราะพายุสุริยะเช่นกันค่ะ เพราะบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์อาจเกิดการปั่นป่วนเมื่อถูกโจมตีจากการระเบิดบนดวงอาทิตย์ ทำให้การสื่อสารต่างๆที่พึ่งพาการสะท้อนสัญญาณกับชั้นบรรยากาศนี้อาจใช้ไม่ได้ไปชั่วขณะหนึ่ง

           ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพายุสุริยะที่กลัวๆกัน ตราบใดที่เรายังมีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กคอยปกป้องเราอยู่ ก็จะไม่สามารถเข้ามาทำร้ายเราโดยตรงได้ แน่นอนว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเราบ้างไม่มากก็น้อย เพราะทุกวันนี้มนุษย์เราพึ่งพาเทคโนโลยีด้านต่างๆมากมาย แต่ยังไงซะ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พายุสุริยะโจมตีโลก เราโดนมาตลอดตามวัฏจักรขึ้นลงของดวงอาทิตย์ ถ้าเรารอดมาได้ก่อนหน้านี้ ปี 2012 ก็ไม่น่ามีปัญหา จริงไหมคะ

           เพื่อนๆคนไหนที่สนใจอยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพายุสุริยะ สามารถเข้าไปอ่านบทความน่าสนใจของสมาคมดาราศาสตร์ไทยเรื่อง “เรื่องจริงของพายุสุริยะ” ได้ที่ https://thaiastro.nectec.or.th/library/solarstormfacts/solarstormfacts.html ค่ะ นอกจากนี้ เว็บทรูปลูกปัญญาของเราก็มีวีดีโอคลิปแนะนำจาก YouTube เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน คลิกไปดูได้ที่ https://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=203

          ก่อนจะเชื่อหรือตื่นกลัวกับสิ่งใด ควรจะศึกษาข้อมูลความจริงให้รอบด้านเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่งั้นจะกลายเป็น "กระต่ายตื่นตูม" ได้นะคะ

 

จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554