รู้รอบโลก ตอน New Year หนีห่าว! เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันตรุษจีน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.8K views



          “สวัสดีปีใหม่ค่ะทุกคน” พอได้ยินผู้เขียนทักกันอย่างนี้ เพื่อนๆหลายคนคงงงๆ หรือไม่ก็แอบแย้งอยู่ในใจว่า “ปีใหม่ที่ไหนเล่า ช้ามาเดือนนึงแล้วเจ๊!!!” เปล่าค่ะ ผู้เขียนยังไม่ได้แก่จนหลง หรือหน้ามืดลืมวันลืมคืนหรอก แต่ปีใหม่ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นปีใหม่จีน หรือที่คนไทยเรียกจนคุ้นหูกันว่า “วันตรุษจีน” นี่เองค่ะ

           เทศกาลตรุษจีนในปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ค่ะ ที่ต้องบอกว่า “ปีนี้” เท่านั้นเพราะตรุษจีนของแต่ละปี ถ้าดูตามปฏิทินสากลแล้วจะไม่ได้ตรงกันทุกปี แต่จะยึดเอาตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นหลัก เทศกาลตรุษจีนนี้ในภาษาจีนจะเรียกว่า 春节(ชุน-เจี๋ย) แปลว่า “เทศกาลฉลองฤดูใบไม้ผลิ”ค่ะ ตามประเพณีจีนดั้งเดิมจะเริ่มต้นในวันแรกของปีใหม่ตามปฏิทินจีน ยาวไปจนถึงคืนพระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของเดือน เป็นเวลา 15 วัน นับได้ว่าเทศกาลตรุษจีนนี้เป็นเทศกาลที่ฉลองกันยาวนานที่สุดและเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดในประเพณีจีนเลยทีเดียวค่ะ

           ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเทศกาลตรุษจีนนั้นเริ่มต้นฉลองกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็มีตำนานเล่าขานกันกันถึงต้นกำเนิดว่า ในสมัยโบราณ มีสัตว์ป่าดุร้ายตัวหนึ่งที่ชื่อ “เหนียน” เจ้าสัตว์ตัวนี้ชอบออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนเป็นประจำจึงโดนพระเจ้าลงโทษให้สามารถลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน และทุกๆปี เมื่อฤดูหนาวใกล้ผ่านพ้นไป และฤดูใบไม้ผลิเข้ามาใกล้ “เหนียน” ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง ในคืนวันที่ 30 ของเดือน 12 ชาวบ้านจึงต้องสะสมอาหารไว้ในบ้านจำนวนหนึ่ง ปิดประตูหน้าต่างเงียบ และตื่นอยู่ทั้งคืนรอให้ ”เหนียน” ผ่านไป ในภาษาจีนปัจจุบัน “เหนียน” แปลว่า “ปี” ซึ่งนี่เอง เป็นที่มาของคำว่า “Guo Nian” ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “ปล่อยให้ปีเก่าผ่านไป”

           แล้วเพื่อนๆสงสัยบ้างไหมคะว่า ทำไมตรุษจีน เราต้องใส่สีแดง และจุดประทัดให้ตกใจกันไปสามบ้านแปดบ้าน? เรื่องมันก็มาจากเจ้าสัตว์ร้ายที่ชื่อ “เหนียน” นี่แหละค่ะ ตอนหลัง ชาวบ้านเค้าคนพบว่าสัตว์ร้ายตัวนี้ ถึงมันจะดุร้าย แต่กลับใจเสาะกลัวเสียงดังและไม่ชอบสีแดง ในวันปีใหม่ ชาวบ้านก็เลยพากันจุดประทัด แขวนกระดาษตัดเป็นรูปและคำมงคลสีแดง และสวมใส่เสื้อแดงเพื่อไล่สัตว์ร้ายและสิ่งไม่ดีออกไปค่ะ

           ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลตรุษจีนยังมีอีกมากมายค่ะ และแต่ละอย่างล้วนมีที่มาทั้งสิ้น หากเพื่อนๆสนใจและอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันตรุษจีน ขอแนะนำให้คลิ๊กเข้าไปที่ https://www.zabzaa.com/event/chinesenewyear.htm เว็บนี้มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับวันตรุษจีน ไม่ว่าจะเป็นไหว้เจ้าอย่างไร? ของไหว้ควรใช้อะไรบ้าง? และยังมีความเชื่อและข้อควรปฏิบัติในวันตรุษจีนด้วย แต่หากเพื่อนคนไหนอยากไปไหว้เจ้าที่วัดให้เป็นสิริมงคลในวันตรุษจีน แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดี เรามีรายชื่อวัดและศาลเจ้ายอดนิยมสำหรับเทศกาลตรุษจีนในกรุงเทพมาให้ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บhttps://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=713 ค่ะ

          ทำบุญไหว้เจ้ารับตรุษจีนอย่างนี้ ปีนี้จะได้เป็นปีกระต่ายทองของทุกๆคนแน่นอนค่ะ

 

 

Did you know?
          ในคืนก่อนวันตรุษจีน เป็นประเพณีที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องมานั่นรับประทานอาหารด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และอาหารบนโต๊ะก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอะไรก็ได้นะคะ อาหารทุกอย่างที่มาตั้งไว้ล้วนสื่อถึงความหมายที่ดีหรือเป็นคำพ้องเสียงกับสิ่งที่เป็นมงคลทั้งสิ้นค่ะ อย่างเช่น

- ปลา ภาษาจีนเรียกว่า “鱼”(yu2) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “มีเหลือ” สื่อว่าปีใหม่ที่จะมาถึงนี้จะ “เหลือกินเหลือใช้”
- บะหมี่ แสดงถึงอายุที่ยืนยาว เวลากินห้ามตัดเส้น เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้อายุสั้นลง
- ป่อเปี๊ยะทอดหรือป่อเปี๊ยะสด รูปร่างเหมือนทองแท่งหรือเงินแท่ง สื่อถึงความร่ำรวยมั่งคั่ง
- เกี๊ยวทรงพระจันทร์เสี้ยว เป็นอาหารที่นิยมทำรับประทานกันทางภาคเหนือของจีน เป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย เพราะมีรูปร่างเหมือนเงินตำลึงในสมัยโบราณของจีน

          หากเพื่อนๆคนไหนสนใจ อยากได้สูตรการทำอาหารมงคลวันตรุษจีน สามารถเข้าไปดูสูตรได้ที่ https://chinesefood.about.com/od/chinesenewyear/a/symbolicnewyear_2.htm

          ชาวจีนนิยมติดตัวอักษรหรือภาพมงคลสีแดงไว้บนหน้าต่างหรือประตูบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีน เหตุที่ต้องเป็นสีแดงเพราะว่า เชื่อกันว่าสีแดงเป็นสีมงคล สื่อความหมายถึงไฟ สามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโชคร้ายออกไปได้ และหนึ่งในตัวอักษรที่นิยมนำมาติดกันคือคำว่า “福”(fu2) ที่แปลว่า “ความสุข” แต่บางที ถ้าสังเกตดีๆ เพื่อนๆจะเห็นบางบ้านติดตัว 福 กลับหัว (อย่างที่เห็นในรูป) นั่นเป็นเพราะว่าคำว่า “กลับหัว” หรือ “หกล้ม” ในภาษาจีนกลาง เสียงใกล้เคียงกับคำว่า “มาถึง” การที่ติด 福 กลับหัว จึงมีความหมายว่า “ความสุขมาถึงแล้ว” นั่นเองค่ะ

จากนิตยสารปลูก โดย www.trueplookpanya.com ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554