คำกริยา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 209.4K views



คำกริยา

คำกริยา หมายความว่า คำที่แสดงอาการของนาม สรรพนาม หรือ แสดงอาการของประธานเพื่อให้ทราบว่านามสรรพนามหรือประธานนั้นทำอะไร

คำกริยาแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
1. กริยาไม่มีกรรม (อกรรมกิรยา) คือ กริยาที่มีความมหายในตัวไม่มีกรรมมารับ เช่น
•    นักกีฬาวิ่ง        เครื่องบินร่อน
•    นกบิน             ดอกไม้บาน

2. กริยามีกรรม (สกรรมกริยา) คือ กริยาที่มีกรรมมารับ เช่น
•    แมวกัดหนู              นักเรียนเล่นฟุตบอล
•    เขาแบกโอ่ง            สมชายเป่าปี่
•    แดงกรีดต้นยาง        เขากางร่ม
•    คนขี่เต่า

3. กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา วิ-กะ-ตัด-ถะ-กริยา) คือ กริยาที่ไม่มีความหมายในตัว จะมีความหมายก็โดยอาศัยคำนาม คำสรรพนาม หรือ คำวิเศษณ์มาขยาย จึงจะได้ความมหาย คำกริยาชนิดนี้มีคำว่า เป็น ,เหมือน, เท่า, คล้าย, คือ ,เสมือน, ดุจ, ประหนึ่ง , ราวกับ ....เช่น
•    แมวรูปร่างคล้ายเสือ             เธอหน้าตาเหมือนแม่
•    แดงสูงเท่าพ่อของเขา           เขาคือนักกีฬายอดเยี่ยม
•    พ่อของฉันเป็นนายอำเภอ        คุณปู่อยู่บ้านคนเดียว

4. กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) คือกริยาที่ใช้ช่วยกริยาอื่นให้ได้ความครบตามระเบียบของคำกริยา มีคำว่า อาจ ต้อง น่าจะ จะ คง คงต้อง คงจะ จง โปรด อย่า ช่วย แล้ว ถูก เคย ควร ซิ นะ หรอก เถอะ ...เช่น
•    คณะครูกำลังประชุม             เธอต้องมาโรงเรียนนะ
•    ฝนอาจตกหนัก                   เขาออกไปแล้ว
•    โปรดรักษาความสะอาด         ฉันเคยไปเที่ยวพัทยา
•    อย่ามาสายบ่อย ๆ นะ

หน้าที่ของคำกริยา    
1. คำกริยาทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดงของประโยคหรือกริยาแท้ของประโยค เช่นสตรีไทยในปัจจุบันมีสิทธิเท่าเทียมบุรุษ ประชาชนอนุรักษ์ธรรมชาติ สุนัขกินข้าว
2. คำกริยาทำหน้าที่ขยายนาม เช่น ดอกไม้ถวายพระใช้สีเหลืองทั้งหมด , วันนี้ไม่ใช่วันเดินทาง , อาหารเลี้ยงนักเรียนอยู่ด้านใน
3. คำกริยาทำหน้าที่ขยายคำกริยา เช่น เขาเดินเล่นตอนเช้า , เธอนั่งดูฉันเล่นคอมพิวเตอร์, นักเรียนทำงานหาเงินส่งตัวเอง
4. คำกริยาทำหน้าที่เหมือนคำนาม เช่น อ่านหนังสื อทำให้ฉลาด , ฉันชอบเดินเร็ว ๆ , นักเรียนชอบออกกำลังกายกลางแจ้ง , เที่ยวกลางคืนมักมีอันตราย