ลักษณะบังคับของบทร้อยกรอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 125.6K views



ลักษณะบังคับของบทร้อยกรอง

ลักษณะบังคับของบทร้อยกรอง
ลักษณะบังคับหรือบัญญัติในการเขียนบทร้อยกรองของไทยมีอยู่ 8 ประการ
1.    ครุ ลหุ
2.    เอก โท
3.    คณะ
4.    พยางค์
5.    สัมผัส
6.    คำเป็น คำตาย
7.    คำนำ
8.    คำสร้อย

ลักษณะบังคับครุ  ลหุ
ครุ แปลว่าหนัก ลักษณะของคำครุมีดังนี้
1. พยางค์ที่มีตัวสะกด เช่น รัก น้อง นุช จริง
2. พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น อา รี รู้ ดี
3. พยางค์ที่ประสมด้วยสระเกิน คือ อำ ใอ ไอ เอา เช่น จำ ใจ ไป เอา

ลหุ แปลว่า เบา ลหุได้แก่ คำหรือพยางค์ที่มีลักษณะ ดังนี้
1. พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ ปะ เจาะ แกะ
2. คำที่เขียนด้วยพยัญชนะตัวเดียว เช่น บ บ่ ก็ ธ ณ

ลักษณะบังคับเอก โท
เอก คือ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกกำกับอยู่ เช่น บ่า ไหล่ แก่
คำเอกโทษ คือ คำที่จำเป็นต้องมาเขียนด้วยวรรณยุกต์เอก ซึ่งโดยปกติเขียนด้วยวรรณยุกต์โทร ทั้งนี้เพื่อให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น ฉ้อโกง เขียนเป็น ช่อโกง คำว่า “ช่อ” เป็นเอกโทษ หรือ สู้ เขียนเป็น ซู่ คำว่า “ซู่” เป็นเอกโทษ

โท คือ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทรกำกับอยู่ เช่น ด้วย ม้วย
คำโทโทษ คือ คำที่จำเป็นต้องมาเขียนด้วยรูปวรรณยุกต์โท ซึ่งโดยปกติ เขียนด้วยรูปวรรณยุกต์เอก เพื่อให้ถูกต้องตามแบบแผนของคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น พ่าย เขียนเป็น ผ้าย คำว่า “ผ้าย” เป็นโทโทษ หรือ ช่วย เขียนเป็น ฉ้วย คำว่า “ฉ้วย” เป็นโทโทษ

ลักษณะบังคับคณะ
คณะ คือ การกำหนดลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละประเภทว่า จะต้องมีเท่านั้นบท เท่านั้นบาท เท่านั้นวรรค และเท่านี้นคำ เช่น กาพย์ยานี 11 บทหนึ่งต้องมี 2 บาท บาทหนึ่งมี 2 วรรค วรรคแรกมี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ
กลอนหกจะมีลักษณะบังคับดังนี้ บทหนึ่งมี 2 คำกลอน คำกลอนหนึ่งมี 2 วรรค แต่ละวรรคมีวรรคละ 5 คำเป็นต้น
แต่เดิมนั้นคณะหมายถึงการกำหนดครุ ลหุ เป็นชุด ๆ ของการแต่งฉันท์

ลักษณะบังคับพยางค์หรือคำ
พยางค์ คือ จังหวะเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง  ๆ คำที่บรรจุในบทร้อยกรองหมายถึงคำพยางค์ทั้งสิ้น ในเรื่องของการบังคับพยายงค์ หรือคำนี้ คำประพันธ์ประเภทกาพย์และร่ายไม่เคร่งครัดนัก คำที่ไม่มีประวิสรรชนีย์ เช่น สยาม ทวีป นับเป็น 1 พยางค์หรือ 1 คำก็ได้ หรือ อาจจะนับเป็น 2 พยางค์ หรือ 2 คำก็ได้ แต่คำประพันธ์ ประเภทฉันท์เคร่งครัดเป็นพิเศษ เช่น สยาม ต้องถือว่าเป็น 2 พยางค์

ลักษณะบังคับสัมผัส
ลักษณะสัมผัสบังคับ เป็นลักษณะที่บังคับให้คำคล้องจองกัน หมายถึง คำที่ใช้สระและมาตราตัวสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต้องไม่ซ้ำอักษาหรือซ้ำเสียงกัน เช่น กินสัมผัสกับดิน หิน บิน, เดียว สัมผัสกับเปรี้ยว, เหี่ยว, เหมียว, เกลียว, เป็นต้น หรือ สระใอ ไอ สัมผัสกับ อัย เช่น ใส สัมผัสกับ นัย
สัมผัสแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. สัมผัสนอก เป็นสัมผัสบังคับ ที่จะต้องเป็นไปตามชนิดของคำประพันธ์ นั้น ๆ สัมผัสนอกเป็นสัมผัสของวรรหนึ่งไปอีกวรรคหนึ่งหรือบทหนึ่งไปอีกบทหนึ่ง เช่น
ตับเหล็กลวกหล่อน ต้ม    เจือน้ำส้มโรยพริกไทย
โอชาจะหาไหน        ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง
2. สัมผัสใน เป็นสัมผัสไม่บังคับ เป็นสัมผัสภายในวรรคหรือภายในบท จะเป็นสัมผัสอักษาหรือสัมผัสสระก็ได้ ซึ่งสัมผัสในยังแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
     2.1 สัมผัสสระ ได้แก่คำคล้องจองที่มีสระและมาตราสะกดอย่างเดียวกัน เช่น
ตา-------------------มา
บาง------------------หาง
รส-------------------หมด
     2.2 สัมผัสอักษร ได้แก่คำคล้องจองที่ใช้อักษรหรือพยัญชนะชนิดเดียวกัน หรือประเภทเดียวกัน หรือใช้อักษรคู่ เช่น ข ค ฆ หรือ ถ ฐ ธ หรือใช้ ทร-ซ-ศ ษ ส ก็ได้

ลักษณะบังคับคำเป็น คำตาย
คำเป็น คือ คำที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. คำที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น กา ตี ปู ตัว โต
2. คำที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น จง หมั่น ชม เชย ดาว
3. คำที่ประสมด้วยสระเกิน อำ ใอ ไอ เอา เช่น จำ ใจ ไป เอา
คำตาย คือ คำที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น ในแม่ ก กา เช่น จะ ติ ตุ เตะ โละ และ เป็นต้น
2. เป็นคำที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น นก หัด จับ พริก บาป เป็นต้น

ลักษณะบังคับคำนำ
คำนำ คือ คำที่ใช้กล่าวข้างต้นเป็นบทนำในคำประพันธ์เป็นคำเดียวบ้าง เป็นกลุ่มคำบ้าง ตามแนวนิยมของคำประพันธ์นั้น ๆ คำประพันธ์ที่บังคับคำนำ ได้แก่
•    กลอนบทละคร
•    กลอนดอกสร้อย
•    กลอนสักวา
•    กลอนนิราศ
ตัวอย่างคำนำของบทร้อยกรองชนิดต่าง
•    กลอนบทละคร    เมื่อนั้น บัดนั้น มาจะกล่าวบทไป
•    กลอนดอกสร้อย    จำเอ๋ยจำจาก เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
•    กลอนสักวา    สักวา (สักวาหน้าหนาวปวดร้าวจิต)
•    กลอนนิราศ    นิราศ (นิราศรักหักใจอาลัยหวน)

ลักษณะบังคับคำสร้อย
คำสร้อย คือ คำที่ใช้ลงสร้อยท้ายวรรค ท้ายบาทหรือท้ายบทของคำประพันธ์ ซึ่งอาจมีคำที่มีความหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวนคำตามที่บัญญัติไว้ในคำประพันธ์ จึงต้องเติมสร้อยเพื่อให้ครบจำนวนคำหรือช่วยเพิ่มความไพเราะขึ้นก็ได้
ตัวอย่างคำสร้อย
เทอญ     แล     ฤา     แฮ     เฮย      นอ