Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเคลื่อนไหวร่างกาย...พัฒนาสมองเด็กได้อย่างไร

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 30 ก.ย. 63
3,317 Views

  Favorite

ขยับ...เท่ากับออกกำลังกาย คุณพ่อคุณแม่คงจะเคยได้ยินประโยคนี้กันบ่อย ๆ จากการรณรงค์ให้เราหันมาใส่ใจการออกกำลังกายเพื่อลดโรคกันใช่ไหมล่ะคะ

 

แต่ทราบไหมคะว่าคำพูดนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยคที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายนั้น ยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วยค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

เว็บไซต์ Active Living Research ได้ทำรายงานสรุปการวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจมากค่ะ โดยในรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงงานวิจัยหลายชิ้น ที่บ่งบอกว่า การกระตุ้นกิจกรรมทางกาย มีผลเชื่อมโยงกับพัฒนาการหรือความสามารถทางด้านเชาว์ปัญญาและทักษะอื่น ๆ ของเด็ก ๆ อีกด้วย เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า คะแนนทางด้านสุขภาพจิตของเด็ก และความสามารถทางเชาว์ปัญญา มีความเชื่อมโยงกับระดับการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับที่เหมาะสมขณะที่เด็ก ๆ เรียนรู้ เช่น การเดินหรือเคลื่อนไหวภายในบริเวณห้องเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ใช้การสแกนคลื่นความร้อนจากด้านบนศีรษะเด็กวัย 7-9 ปี 2 กลุ่มในระหว่างทำแบบทดสอบ โดยกลุ่มเเรก คือเด็กที่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลา 20 นาที กลุ่มที่สอง คือเด็กที่ออกไปเดิน / วิ่งเล่นเป็นเวลา 20 นาที หลังจากครบเวลา ผู้วิจัยได้มีการให้เด็กสองกลุ่มทำแบบทดสอบด้านการอ่าน สะกดคำ และคิดเลข ผลปรากฎว่า เด็กที่ออกไปเดิน / วิ่งเล่นเป็นเวลา 20 นาที มีการตอบสนองที่แม่นยำและรวดเร็วกว่า เด็กที่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลา 20 นาที ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถอ่านจับใจความได้ดีกว่าอีกด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

งานวิจัยได้รายงานเพิ่มเติมว่า สมองของเด็กที่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำจะมีการพัฒนาระบบสมองสอง  2 ส่วน ที่เป็นปัจจัยทำให้มีผลต่อเชาว์ปัญญาของเด็ก นั้นคือ

        1) Working Memory - การถ่ายทอดข้อมูลจากความจำระยะสั้น (Short-term Memory) เป็น ความจำระยะยาว (Long-term Memory

        2) Relation Memory - ความสามารถในการจำข้อมูลและตอบสนองต่อสัญญาณหรือการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ต่างๆ กับความจำ

ตัวอย่าง เช่น รู้ว่าสามเท่าของสอง มีความหมายเท่ากับ 3 คูณ 2 จดจำได้ว่า ต้องเลี้ยวซ้ายเมื่อเดินผ่านโรงเรียนไปแล้ว เป็นต้น

งานวิจัยที่ครูพิมนำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยอีกหลายชิ้น ที่กล่าวถึงประโยชน์และความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมทางกาย กับพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญาของเด็ก ๆ เท่านั้นนะคะ 

อย่างไรก็ตาม ก็มีงานวิจัยบางส่วนที่พบว่า บางครั้งกิจกรรมทางกายก็สามารถส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการสมองได้เช่นกัน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงงานวิจัยจำนวนน้อย แต่ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามค่ะ โดยงานวิจัยเหล่านั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรคำนึงถึงด้วย เช่น รูปแบบกิจกรรมทางกาย ความหนัก / เบา และช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยทางด้านช่วงวัยของเด็กๆ ด้วย

 

ดังนั้น ทุกอย่างจึงควรดำเนินอยู่บนความเหมาะสม หรือจะเรียกว่า ทางสายกลางก็ได้เช่นกันค่ะ การทำความเข้าใจทั้งประโยชน์และข้อจำกัดของงานวิจัย จึงเป็นอีกสิ่งที่ครูพิมอยากจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่ไว้เช่นกันนะคะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow