Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝึกสมาธิให้นักเรียนได้ที่บ้าน

Posted By Plook Teacher | 29 ก.ย. 63
6,117 Views

  Favorite

การทำสมาธิ คือ การทำให้จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่วอดแวก หรือ เสียสมาธิไปกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง นอกจากนี้ยังเป็นการสำรวมใจให้แน่วแน่ เพื่อขจัดความฟุ้มซ่านและทำให้จิตใจสงบ สามารถตระหนักรู้ตนเอง และมีจิตสำนึกในการทำงานอย่างเหมาะสมได้

การทำสมาธินั้น เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการประกอบพิธีทางศาสนาหลายศาสนา ซึ่งศาสนาที่นำเรื่องของสมาธิมาใช้ในการพัฒนามากที่สุด คือ ศาสนาพุทธ แต่ถ้ากล่าวกันตามจริง เรื่องของการทำสมาธินั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยาวนานกว่าการกำเนิดของพุทธศาสนาเสียอีก

 

ปัจจุบัน เรื่องของการทำสมาธินั้น ถือเป็นสิ่งสากล ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพราะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เป็นการประกอบพิธีของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของการทำสมาธิเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำเรื่องนี้มากที่สุดคือ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson M.D.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสถาบันวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับร่างกายและจิตใจ (Mind-Body medical institute) ในฮาร์วาร์ด ที่ได้สร้างองค์ความรู้ทางด้านกายและจิตไว้เป็นจำนวนมาก

 

การฝึกสมาธินั้น มีประโยชน์อย่างมากกับทุก ๆ คน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับนักเรียนเพราะจะช่วยให้พวกเขามีสมาธิในการเรียนและมีกระบวนการคิดที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งการฝึกสมาธิสำหรับนักเรียนนั้น อาจไม่จำเป็นต้องให้พวกเขานั่งสมาธิและกำหนดลมหายใจเฉกเช่นเดียวกับการการฝึกสมาธิของผู้ใหญ่ เพราะวิธีเหล่านั้นอาจทำให้รู้สึกเบื่อและส่งผลให้พวกเขามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการฝึกสมาธิ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเขาในระยะยาว

 

ตามปกติเด็กและเยาวชนนั้น มักจะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบอยู่แล้ว เช่น การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ การฟังเพลง  หรือการเล่นเกมที่ต้องใช้สมาธิ ดังนั้นการใช้กิจกรรมเหล่านี้มาช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีสมาธิมากขึ้นนั้น นับว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งการส่งเสริมให้นักเรียนมีสมาธินั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้

 

การนับลมหายใจเข้าออก

ก่อนเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจลองให้นักเรียนฝึกสมาธิ โดยการหลับตาและนับลมหายใจเข้าและออก เช่น หายใจเข้า นับ 1 ถึง 5 ในใจ จากนั้นก็หายใจออก นับ 1 ถึง 5 ในใจ และทำสลับกันเช่นนั้นจนครบเวลาที่กำหนด

ใช้กิจกรรมศิลปะ

กิจกรรมศิลปะเป็นงานที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และยังส่งผลให้นักเรียนมีสมาธิมากขึ้นด้วย เพราะในการทำงานศิลปะพวกเขาจะต้องมีจิตจดจ่ออยู่กับการทำผลงานของตัวเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้ากิจกรรมศิลปะนั้น เป็นกิจกรรมที่พวกเขาชื่นชอบด้วยแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาทักษะและอารมณ์ของเขามากยิ่งขึ้น

 

เปิดเพลงบรรเลงในระหว่างทำกิจกรรม

เพลงบรรเลงที่เป็นลักษณะของ Relaxing Music นอกจากจะช่วยให้ผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสมาธิให้กับผู้ฟังได้อีกด้วย ดังนั้นการเปิดเพลงบรรเลงในจังหวะเบา ๆ ระหว่างที่นักเรียนกำลังทำกิจกรรม จะช่วยให้นักเรียน อารมณ์ดีและมีสมาธิมากขึ้น

 

เดินสมาธิ

การกำหนดจิตทำสมาธิระหว่างการเดิน โดยการตั้งจิตรับรู้การก้าวแต่ละก้าวของตัวเองอย่างช้า ๆ หรือที่เรียกว่า เดินจงกลม คืออีกวิธีหนึ่งในการฝึกสมาธิ การให้นักเรียนเดินจงกลมทุกเช้าในบ้าน หรือช่วงเย็น ๆ ขณะที่เดินเดินออกไปซื้อของ จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิและมีสติมากยิ่งขึ้น

 

หนังสือเล่มโปรด

ลองหาหนังสือเล่มโปรดให้กับนักเรียน และให้เวลาพวกเขาสำหรับการอ่านมัน ถ้าหนังสือเหล่านั้นเป็นเรื่องราวที่พวกเขาชื่นชอบ เขาจะมีสมาธิกับการอ่านหนังสือ ซึ่งวิธีนี้คือการฝึกสมาธิที่ดีและยังส่งเสริมทักษะด้านการอ่านให้กับนักเรียนอีกด้วย

 

ออกกำลังแบบโยคะ

การทำโยคะเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่เป็นการหลอมรวมกาย จิตและวิญญาณเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันโดยใช้การเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ และยืดหยุ่นผนวกเข้ากับการควบคุมลมหายใจ ทำให้การฝึกโยคะนั้น นับเป็นการส่งเสริมสมาธิรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการส่งเสริมให้นักเรียนออกกำลังกับการทำโยคะอย่างง่าย ๆ เป็นประจำ จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิและส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

 

สวดมนต์ก่อนนอน

การสวดมนต์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่งที่มีในทุก ๆ ศาสนา ซึ่งเป็นการเอ่ยสรรเสริญและกล่าวถึงหลักคำสอนต่าง ๆ ของศาสนานั้น ๆ เพื่อให้ตัวเองระลึกถึงและเป็นมงคลกับชีวิต การสวดมนต์ที่ถูกต้องนั้น ผู้สวดจะต้องมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในการสวดมนต์ ซึ่งจะให้ผู้สวดได้ประโยชน์จากการสวดมนต์อย่างเต็มที่ ดังนั้นควรส่งเสริมให้นักเรียนสวดมนต์ก่อนนอนเป็นประจำ และถ้าเป็นไปได้ หลังจากสวดมนต์แล้ว อาจลองให้นักเรียนนั่งสมาธิสัก 5 นาที ก่อนที่จะเข้านอน จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิ และเมื่อเข้านอนจะทำให้เขาหลับสนิทมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการวิธีการฝึกสมาธิให้กับนักเรียน ในระหว่างที่ต้องอยู่บ้านเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ร่วมกับครอบครัว ซึ่งความจริงแล้วกิจกรรมเหล่านี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำในช่วงนี้เท่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจให้ลูกหลานทำในช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ก็ได้ ซึ่งถ้าสามารถทำได้เป็นประจำก็จะเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียน ร่วมถึงบุคคลในครอบครัวเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่า บางกิจกรรมนั้น อาจแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีสมาธิ เช่นการเล่นเกม การดูทีวีหรือสื่อต่าง ๆ ในเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แม้ว่าจะแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีสมาธิ แต่ผลกระทบที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียนเป็นอย่างมาก จึงควรแยกแยะและคำนึงถึงผลกระทบของแต่ละกิจกรรมอย่างเหมาะสมด้วย

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow