Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บันดาลโทสะใส่นักเรียน เรื่องอันตรายที่ครูผู้สอนต้องระวัง

Posted By Plook Teacher | 28 ก.ย. 63
4,243 Views

  Favorite

ครูผู้สอนคือมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ที่มีความรู้สึกนึกคิดเฉกเช่นเดียวกันบุคคลอื่น ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บางครั้งครูผู้สอนอาจจะมีอารมณ์โกรธ โมโห ฉุนเฉียว หรือไม่พอใจ กับเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ชีวิตจะมีทั้งทุกข์และสุขปะปนกันไป อารมณ์รู้สึกที่ไม่ดีแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีต่อชีวิตเท่าไหร่นัก แต่มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ถูกระบายลงสู่นักเรียน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ในการดูแลของตัวเอง

 

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการบันดาลโทสะของครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน และส่งผลทำให้สังคมตั้งคำถามกับการดูแลนักเรียนของครูผู้สอนว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมและปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

 

ข่าวของครูอนุบาลที่ได้บันดาลโทสะกับนักเรียนในความดูแลด้วยการกระทำรุนแรง เช่น การจิกผม ผลัก และกระชาก ซึ่งถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวงจรปิดของทางโรงเรียน กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญที่บรรดาผู้ปกครองใช้ในการร้องเรียนกับทางโรงเรียนในเรื่องนี้ จนสุดท้ายครูผู้สอนคนนั้นถูกให้ออกจากงาน พร้อมทั้งโรงเรียนจะต้องเยียวยาชดเชยและช่วยเหลือในเรื่องคดีที่ผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดฟ้องร้อง ซึ่งในแง่ธุรกิจนับว่าเป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของโรงเรียนเป็นอย่างมาก

 

การกระทำที่ลุแก่อำนาจนี้ แม้ว่าครูผู้สอนท่านนี้ได้ออกมาชี้แจงและขอโทษแล้ว ก็ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับภาพที่ถูกกระจายออกไปตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซ้ำร้ายการแสดงออกของเพื่อนครูในโรงเรียน ที่แสดงท่าทีในเชิงให้กำลังใจกับครูผู้สอนท่านดังกล่าว ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มผู้ปกครองมากขึ้นไปอีก

 

ด้วยความที่ครูผู้สอนคือผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักเรียน รองจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้ครูผู้สอนและนักเรียน มีโอกาสที่จะมีเรื่องราวที่ไม่เข้าใจกันและกระทบกระทั่งกันได้ง่าย มีอยู่หลายครั้งที่พฤติกรรมและการกระทำของนักเรียนส่งผลให้ครูผู้สอนรู้สึกไม่พอใจ จนนำมาสู่อารมณ์โกรธและโมโห แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ครูผู้สอนเอาความโกรธหรือโมโหเหล่านั้นไปลงกับนักเรียน ไม่ว่านักเรียนจะมีความผิดแค่ไหน ความผิดทั้งหมดก็เป็นของครูผู้สอนไปโดยปริยาย

 

ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ได้ระบุวิธีการทำโทษนักเรียนไว้อย่างชัดเจนว่า มีการลงโทษเพียง 4 สถานเท่านั้น คือ

- ว่ากล่าวตักเตือน
- ทำทัณฑ์บน
- ตัดคะแนนความประพฤติ
- ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

ซึ่งการทำโทษนอกเหนือจากนี้ เช่น การตี การทำให้อับอาย หรือกระทำรุนแรงต่าง ๆ ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในยุคปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านจะอนุญาตให้ครูผู้สอนลงโทษบุตรหลานของพวกเขาด้วยการว่ากล่าวหรือการตีได้ แต่ใครจะรับประกันได้ว่าจะไม่ถูกร้องเรียน และส่งผลกระทบต่ออาชีพการงานของครูผู้สอนในภายหลัง และในความคิดของผู้เขียน มันจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าไหม ถ้าครูผู้สอนสามารถปรับพฤติกรรมของนักเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งการควบคุมหรือปรับพฤติกรรมของนักเรียนอย่างสร้างสรรค์ นับว่าเป็นความสามารถสำคัญที่ครูผู้สอนในยุคสมัยนี้ควรจะมี

 

การกระทำความรุนแรงต่อนักเรียนนั้น ถ้าส่งผลให้นักเรียนบาดเจ็บทั้งทางกายและทางใจ ผู้ปกครองสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เพราะถือเป็นความผิดต่อร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกด้วย

 

ความจริง แม้เราจะเรียกว่าการกระทำของครูผู้สอนในเรื่องนี้ว่าเป็นการบันดาลโทสะ แต่ถ้ามองตามหลักกฎหมายจริง ๆ แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ซึ่งจากคำกล่าวในมาตรานี้ การบันดาลโทสะนั้นจะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อผู้กระทำได้ถูกข่มเหงรังแกเท่านั้น ดังนั้นการที่ครูผู้สอนกระทำความรุนแรงกับนักเรียน แม้ว่าจะเรียกบันดาลโทสะก็อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

 

จากข้อกฎหมายทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าไม่มีทางไหนเลยที่ครูผู้สอนจะรอดพ้นความผิดจากการ กระทำรุนแรงกับนักเรียน มันจึงไม่ใช่แนวทางที่ดีที่จะใช้วิธีนี้ในการควบคุมชั้นเรียน

แม้ว่า ครูกับนักเรียนจะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือ ครูผู้สอนมีอำนาจในการควบคุมนักเรียน แต่สำหรับความเห็นทางกฎหมายแล้ว มองว่านักเรียนซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนควรเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองมากกว่า

 

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ที่อาจจะเกิดกับครูผู้สอน ต่อไปนี้คือแนวทางที่ผู้เขียนมองว่าน่าจะช่วยให้ครูผู้สอนจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกในกรณีที่ต้องสื่อสารกับนักเรียนได้

           - ครูผู้สอนควรปรับปรุงวิถีชีวิตของตัวเองให้เป็นปกติสุข จัดสรรเวลาให้กับงานและครอบครัวอย่างสมดุล รู้จักวางแผนการเงินให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และใช้คุณธรรมนำชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันของครูผู้สอนเป็นไปด้วยดี ซึ่งจะส่งผลทำให้สามารถทำงานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอารมณ์ที่ขุ่นมัวในการทำงาน

           - คิดไว้เสมอว่านักเรียนในความดูแลคือลูกหลานที่เราปรารถนาให้เขาได้ดี และเชื่อมั่นในการพัฒนาของเขา ซึ่งอาจจะมีการพัฒนาที่ช้าเร็วไม่เท่ากัน จึงไม่ควรตั้งความหวังหรือกดดันนักเรียนมากจนเกินไป แต่ค่อยช่วยและสนับสนุนเขาตามความเหมาะสม

           - เมื่อรู้สึกว่าตัวเองอารมณ์ไม่ดี ในขณะที่ต้องสื่อสารกับนักเรียน ควรหยุดกิจกรรมและใช้เวลาสงบสติอารมณ์ให้พร้อม ก่อนที่จะสื่อสารกับนักเรียนอีกครั้งในภายหลัง

           - บางครั้งความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาจเผลอตีมือนักเรียน หรือ ดุนักเรียนอย่างรุนแรง การที่ครูผู้สอนพูดคุยกับผู้ปกครองในเรื่องนี้และขอโทษอย่างจริงใจแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจและให้อภัยในบริบทของครูผู้สอน เพราะเหนือสิ่งอื่นใดผู้ปกครองส่วนใหญ่ย่อมทราบดีถึงพฤติกรรมของนักเรียน และยังเชื่อมั่นว่าการกระทำของครูผู้สอนนั้นเป็นสิ่งปรารถนาดีต่อนักเรียนเสมอ แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ควรจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และคิดไว้เสมอว่าการลงโทษนั้นมีเพื่อปรับพฤติกรรมของนักเรียนให้เหมาะสมเท่านั้น

 

ข่าวนี้นับว่าเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนชั้นดีให้ครูผู้สอนทุกท่านที่ต้องคิดพิจารณาให้ดีถึงการกระทำของตัวเองที่มีต่อนักเรียนในความดูแล โดยต้องใส่ใจและระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้อารมณ์ที่ขุ่นมัวของเรากลายเป็นตัวการที่ส่งผลให้เราไปทำความรุนแรงต่อนักเรียนได้ เพราะอย่าลืมว่านักเรียนก็คือนักเรียน พวกเขาล้วนมีความแตกต่างกัน บางคนอาจมีพฤติกรรมที่น่าพอใจและพร้อมจะพัฒนา แต่บางคนก็จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม ซึ่งครูผู้สอนต้องเข้าใจและช่วยเหลือพวกเขาด้วยความรู้สึกที่ดีอยู่เสมอ เพราะนั่นคือสิทธิที่นักเรียนทุกคนพึงได้จากครูผู้สอนนั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow