Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาทำความเข้าใจกับ ความฉลาดในแบบ “พรสวรรค์” และ “พรแสวง” กันเถอะ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 16 ก.ย. 63
8,260 Views

  Favorite

เมื่อพูดถึงความฉลาด หรือความสามารถของแต่ละคนนั้น นอกจากจะเกิดมาจากการฝึกฝน และพัฒนาจนเกิดเป็นความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งเรียกว่า ความฉลาดอันเกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ (Crystallized Intelligence) “พรแสวง” แล้ว ยังมีความฉลาดอีกแบบหนึ่ง คือ ความฉลาดอันติดตัวมาแต่กำเนิด (Fluid Intelligence) “พรสวรรค์” อีกด้วย

 

วันนี้เราจะมาเรียนรู้ในเรื่องของความฉลาดทั้ง 2 ด้านนี้กันค่ะ

เรย์มอนด์ แคตเทล (Raymond Cattell) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ-อเมริกัน เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยเรื่องความฉลาด  2 แบบคือ

1. ความฉลาดอันเกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ (Crystallized Intelligence) “พรแสวง”

2. ความฉลาดอันติดตัวมาแต่กำเนิด (Fluid Intelligence) “พรสวรรค์”

 

ภาพ : Shutterstock

 

Fluid Intelligence

ความฉลาดที่ติดตัวมาแต่เกิด เป็นความฉลาดที่ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์จากในอดีต แต่เป็นความฉลาดที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดนั่นเอง ความฉลาดประเภทนี้จะช่วยให้เราสามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้ ทำให้เรามีความสามารถในการมองปัญหา และเห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน คนที่มีความฉลาดประเภทนี้มาก ๆ จะสามารถพลิกแพลงแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอได้ เข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจากสิ่งที่มองเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ Fluid Reasoning หรือการให้เหตุผลที่ลื่นไหลรองรับเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างชาญฉลาด โดยอาศัยความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดทางการเข้าสังคมเข้ามาช่วยเสริม

Crystallized Intelligence

ความฉลาดแบบตกผลึก เป็นความฉลาดที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต รวมไปถึงเป็นผลผลิตจากการคิดวิเคราะห์โดยใช้ความฉลาดที่ติดตัวมาแต่เกิด (Fluid Intelligence) มาประมวลผลด้วยนั่นเอง เมื่อเราผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ และผ่านการแก้ไขปัญหามาด้วยวิธีที่หลากหลาย จนทำให้เราเรียนรู้ผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราแล้ว จะส่งผลให้เราตกผลึกทางความคิด ทำให้เรามีความรู้ที่กว้างขึ้น ลุ่มลึกมากขึ้นนั่นเอง

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลูกของเราจัดอยู่ในกลุ่มไหนเอ่ย แต่ไม่ว่าลูกของเราจะมีความฉลาดแบบใด หากพ่อแม่ให้ความใส่ใจ ดูแล จัดหากิจกรรมให้ลูกได้ฝึกฝน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้อยู่บ่อยครั้งแล้ว ย่อมสร้างให้ลูกเป็นเด็กที่มีความฉลาดเรียนรู้ และสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow