Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัยรุ่นกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

Posted By Plook Teacher | 15 ก.ย. 63
7,597 Views

  Favorite

การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมือง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของคำว่า “รัฐ” พึงจะกระทำได้อย่างเสรีในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร วัยใด หรืออยู่ในสถานะอะไร ก็ล้วนมีสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมืองได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่กับวัยรุ่นเอง ที่แม้บางส่วนอาจจะยังไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนราษฎร์เพื่อเข้าไปทำงานด้านการเมือง แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะรับรู้และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้เฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

 

    หลายเดือนมานี้ เรามักจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการนัดชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน ซึ่งมีความพยายามที่จะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในแวดวงการเมือง แม้ว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้น อาจจะมีทั้งที่บริสุทธิ์ใจหรืออาจมีเหตุผลบางอย่างแอบแฝง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของวัยรุ่นยุคใหม่ที่รู้สึกว่าการเมืองนั้นมีความสำคัญกับชีวิตเขาค่อนข้างมาก

 

    ความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งในพัฒนาของวัยรุ่นเลยก็ว่าได้ เพราะถือว่ามีส่วนในความสนใจของวัยรุ่น ซึ่งเป็นความสนใจทางสังคม (Social Interests)

 

    ความสนใจทางสังคม (Social Interests) ของวัยรุ่นนั้น เฮอร์ลอก (Hurlock, E. B.) ได้อธิบายไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า Introduction to Psychology ว่า ความสนใจทางสังคมของวัยรุ่นนี้ มักจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และบุคคลในสังคม เช่น งานเลี้ยงต่าง ๆ และการพบปะสนทนากัน มีความสนใจในกิจกรรมทางสังคม ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่และในหมู่เพื่อนสนิท ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจของเขาที่จะเลือกกิจกรรม และการมีโอกาสที่จะเข้าร่วมกิจกรรมได้

 

เฮอร์ลอกยังกล่าวอีกว่า การพบปะสนทนากันเป็นกลุ่มระหว่างเพื่อนสนิท เป็นกิจกรรที่เด็กวัยรุ่นชอบทำ เรื่องที่เขาพูดคุยกันก็ขึ้นอยู่กับเพศ คือ วัยรุ่นหญิงมักพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง งานเลี้ยง การมีนัดกับเพศตรงข้าม เรืองตลกขบขัน หนังสือ เรื่องของครูอาจารย์และเพื่อนที่โรงเรียน ส่วนวัยรุ่นชายจะชอบพูดคุยถึงเรื่องกีฬา ภาพยนตร์ การมีนัดกับเพศตรงข้าม และเรื่องการเมือง

 

นอกจากนี้ทั้งสองเพศ ยังให้ความสนใจในชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกกดขี่จากสังคมหรือไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งความสนใจเหล่านี้จะแสดงออกโดยการเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลอดจนในชุมชนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้

 

จากความเห็นของ เฮอร์ลอกจะเห็นได้ว่า เรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง รวมถึงความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่วัยรุ่นนั้นให้ความสนใจ เพราะด้วยความสุดโต่งทางความคิดที่เกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนที่มีเฉพาะในช่วงวัยนี้ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ควรต้องทำให้เกิดการแก้ไขอย่างถึงที่สุด

 

นอกจากนี้ด้วยความที่วัยรุ่นในยุคนี้ คือ กลุ่มที่อยู่ในเจอเนอเรชัน Z พวกเขาจึงมีความเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี และมักจะซึบซับทุกอย่างตามความรู้สึกผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาให้เข้าถึงกลุ่มบุคคลได้ง่ายขึ้น เช่น โปรแกรมสำหรับการติดต่อสนทนาออนไลน์ เช่น Line หรือ Messenger หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook หรือ Twister เป็นต้น ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสื่อในการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ที่ตรงกับความสนใจของพวกเขา ซึ่งเรื่องของการเมืองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่วัยรุ่นยุคนี้กำลังให้ความสนใจ

 

เหตุผลที่วัยรุ่นในยุคนี้ให้ความสนใจและมีอารมณ์ร่วมในเรื่องของการเมืองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาในยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรง เกิดการแบ่งพักแบ่งฝ่าย และเห็นถึงผลพวงในความขัดแย้งนั้น จนทำให้รู้สึกว่าในยุคของพวกเขาควรจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านี้ และไม่ควรกลับไปเป็นการเมืองแบบเดิมอีก ประจวบกับความรู้สึกในการเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องของการได้มาและการทำงานของภาครัฐในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งถูกประโคมโดยสื่อที่ต้องการขายข่าวในเชิงที่ต้องการให้เกิดการวิพากวิจารณ์มากกว่านำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา ก็ยิ่งทำให้พวกเขามีอารมณ์ร่วมในเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นไปอีก

 

สิ่งนี้คล้ายคลึงกับสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ ซึ่งแกนนำในการชุมนุมในครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นนักศึกษา ซึ่งครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นยุคทองของการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าผลของการชุมนุมในครั้งนั้น ทำให้เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมและความสูญเสียเป็นจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทยและส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองมาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

ปัจจุบันแม้ว่าการชุมนุมของนักศึกษาในยุคนี้จะมีความสร้างสรรค์และไม่ได้รุนแรงเหมือนเช่นเมื่อก่อน รวมถึงภาครัฐเองก็มีบทเรียนจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้การจัดการการชุมนุม รวมถึงการควบคุมดูแลนั้นยังคงเป็นไปด้วยความปลอดภัยและอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ ทำให้การชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นวัยรุ่นนั้น ยังคงดำเนินการได้อย่างเป็นปกติสุขตราบเท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป

 

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่าความสนใจของวัยรุ่นที่มีต่อการเมืองได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมมองที่แตกต่างออกไป ซึ่งพรรคการเมืองที่แสดงออกและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ได้กลายมาเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ควบคู่กับพรรคการเมืองเดิมที่ยังคงได้รับเสียงต่อรับที่ดีจากประชาชน ซึ่งถ้าตัดเรื่องของการเมืองที่อาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝงออกไป การชุมนุมทางการเมืองของวัยรุ่นนั้น นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ในอนาคตเราจะมีพลเมืองที่เข้าถึงและเข้าใจการเมืองมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพินิจพิจารณาบุคคลในการเข้ามาทำงานการเมืองได้อย่างเหมาะสม

 

แต่อย่างไรก็ดี การให้ความรู้ความเข้าใจกับวัยรุ่นในเรื่องการเมืองอย่างเหมาะสมเป็นกลาง จะช่วยให้พวกเขาพินิจพิจารณาเรื่องราวทางการเมืองด้วยตัวเองได้อย่างเหมาะสม และไม่ตกเป็นเครื่องมือของสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอข่าวด้วยผลประโยชน์แอบแฝง รวมถึงผู้ไม่หวังดีที่ต้องการใช้การชุมนมของนักศึกษาเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องราวที่นอกเหนือการเมืองและความเหมาะสมได้

 

จงอย่าคิดว่าวัยรุ่นเป็นเพียงเด็กเมื่อวานซืนที่ไม่รู้อะไร เพราะพวกเขาก็มีความคิดความอ่านเฉกเช่นเดียวกับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าความคิดความอ่านของพวกเขานั้น ยังไม่ได้หล่อหลอมด้วยประสบการณ์มากพอเหมือนกับผู้ใหญ่ ดังนั้นเราในฐานะของผู้ใหญ่ควรสอนและให้คำแนะนำเขาอย่างเหมาะสม โดยให้เห็นถึงมุมมองที่หลากหลายในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ และเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็นต้องคัดค้านหรือขัดขวาง แต่ยังคงใส่ใจดูแลเพื่อไม่ให้เกินขอบเขตที่ควรจะเป็น จึงน่าจะแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

อย่าลืมว่าในอนาคตการเมืองยังไงก็ยังคงเป็นเรื่องที่วัยรุ่นต้องเลือกด้วยตัวเองอยู่ดี ดังนั้นแทนที่จะให้เขาเลือกอย่างถูกใจเราโดยไร้ความเข้าใจ สู้ให้เขาเลือก โดยอาจไม่ถูกใจเรานักแต่ผ่านการกลั่นกรองอย่างมีวิจารณญาณแล้วดีกว่า จริงไหมล่ะครับ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow