Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ครูตีนักเรียนได้ไหม ? ตอบเลยว่าไม่ได้นะ หมดยุคไม้เรียวสร้างคนแล้ว !

Posted By Plook Magazine | 15 ก.ย. 63
19,758 Views

  Favorite

แนวคิดการลงโทษด้วยการ ‘ตี’ เคยถูกคิดว่าเป็นวิธีในการสร้างคนให้มีคุณภาพในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถึงกับมีคำกล่าวในตำนานไว้ว่า “ได้ดีเพราะไม้เรียว’ ทำให้เราชิน คิดว่าการที่ครูตีเราคือเรื่องปกติที่ทำได้ หลาย ๆ คนน่าจะเคยโดนครูตีกันคนละทีหรือหลายทีมาแล้ว

 

Cr. story.motherhood

 

การลงโทษด้วยการตีก็ไม่ต่างกับการสนับสนุนการทำความรุนแรงกับเด็ก โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ที่ปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศสวีเดน อังกฤษและสกอตแลนด์ ก็มีกฎหมายออกมาห้ามไม่ให้ตีเด็กในโรงเรียนแล้ว ส่วนในฝรั่งเศสคู่รักที่แต่งงานใหม่จะต้องพูดคำสาบานว่าทั้งคู่จะไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายหรือจิตใจกับลูก    

 

ในประเทศใกล้เคียงอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ตีเด็กในโรงเรียนมาตั้งนานแล้ว แถมยังมีแคมเปญปัง ๆ รณรงค์กันให้ทั่วว่าการตีเนี่ย มันไม่ได้ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเลย แถมยังมีแนวโน้มทำให้เด็กโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบใช้ความรุนแรง และแนะนำให้เอา ‘การปรับพฤติกรรมเชิงบวก’ ไปใช้จะดีกว่า เพราะครูตีเด็กไม่ได้ ไม่ว่าเด็กสมัยไหนก็ตีไม่ได้ มันคือ ความเข้าใจผิดและความคิดแบบล้าหลัง  

 

ครูตีเด็กไม่ได้ ผิดกฎหมายอาญา

การลงโทษเด็กด้วยการตีนั้นถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2542 แล้ว และในปี 2546 ได้มีการปรับกฎการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ตามมาตรา 6 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นคือ คุณอดิศัย โพธารามิก ได้วางกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาไว้ว่า การลงโทษสามารถทำได้ 4 แบบดังต่อไปนี้ 

1. ว่ากล่าวตักเตือน อาจจะถูกเรียกให้ไปคุยปรับทัศนคติ ชี้แจงว่าทำไม่ถูกต้องยังไง ในกรณีที่ทำผิดไม่ร้ายแรง เช่น มาสาย ไม่เข้าเรียน คุยในห้อง ไม่สนใจการเรียน ทรงผมผิดระเบียบ เล่นมือถือในห้อง ลักขโมย ทะเลาะวิวาท ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เป็นต้น 

2. ทำทัณฑ์บน แต่ถ้าทำผิดกฎของโรงเรียนหลายครั้ง ไม่ปรับปรุงตัวเองเลยก็จะถูกทำทัณฑ์บน เช่น มาสายตลอดทั้งเทอมหรือเกือบทุกวัน อาจจะให้ทำทัณฑ์บนเอาไว้ว่าถ้ามาสายอีกจะไม่ออกใบรับรองความประพฤติให้ และต้องมารายงานตัวทุกวันก่อน 8.00 น. เป็นต้น 

3. ตัดคะแนนความประพฤติ คือการลงโทษด้วยการหักคะแนนจากการทำผิดหลาย ๆ ครั้ง ทำโดยกิจการนักเรียน ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น เพราะต้องใช้ใบแสดงความประพฤติเมื่อต้องไปสอบหรือสมัครงานพาร์ทไทม์ เป็นต้น

4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับฝ่ายกิจการนักเรียน อาจจะให้เด็กไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมหรือบำเพ็ญประโยชน์ โดยกิจกรรมจะต้องเป็นกิจกรรมเชิงบวก ไม่ใช่กิจกรรมประจานที่ทำให้เด็กอับอาย เช่น บางโรงเรียนหากมาสายก็จะให้นั่งสมาธิกลางแจ้ง 10 นาที หรือให้วิ่งรอบสนาม 5 รอบ เป็นต้น

 

เราจะเห็นได้ชัด ๆ เลยว่า ‘การตี’ ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎการลงโทษข้อไหน ดังนั้นต้องเข้าใจตรงกันว่า ‘ครูไม่มีสิทธิ์ลงโทษด้วยการตี’ เพราะมันผิดกฎว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา

 

ทั้งนี้การหยุดลงโทษเด็กด้วยการตีจะนำมาซึ่งผลดีมากมาย อย่างแรกเด็กจะไม่ซึบซับความรุนแรง อย่างที่สองเด็กจะเลิกกลัวครูแต่เปลี่ยนไปเป็นเคารพ ตอนนี้การลงโทษในโรงเรียนก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้วในหลายประเทศ แต่ถ้าหากสังคมไหนยังคงลงโทษด้วยการ ‘ตีเด็ก’ หรือนิ่งเฉยเมื่อเห็นการลงโทษเด็กด้วยการตีในโรงเรียน ก็แสดงว่าสังคมนั้น โรงเรียนนั้น ยังคงมองเด็กเป็นแค่สิ่งของที่ไม่มีความสำคัญหรือมีความหมายเท่าผู้ใหญ่ แทนที่จะมองเด็กว่าเป็นคนคนหนึ่งที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน  

 
 
 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow