Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาทำความเข้าใจ พฤติกรรมการเล่นของเด็กในแต่ละวัยเถอะ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 04 ส.ค. 63
5,796 Views

  Favorite

พ่อแม่หลายคนมีคำถามว่า ลูกอยู่ในวัยนี้ เราควรจัดกิจกรรมการเล่นอย่างไรให้กับลูก หรือควรซื้อของเล่นแบบไหน ที่จะเหมาะกับพัฒนาการของลูก

 

ซึ่งก่อนที่เราจะทราบว่าควรจัดกิจกรรมการเล่นแบบไหน หรือควรซื้อของเล่นอะไรให้กับลูก เราควรที่จะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของการเล่นของเด็กในแต่ละวัยกันก่อนค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

เด็กวัย 0-1 ปี

เด็กขวบปีแรกมักสนุกกับการดูคนอื่นเล่น (onlooker play) การตอบสนองของระบบประสาทจะตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เช่น เล่นจั๊กจี้เด็กจะหัวเราะ จะสนใจของเล่นสีสันสดใส ของเล่นที่เคาะมีเสียงดัง ของเล่นที่ใช้มือขีดเกิดเส้นยุ่ง ๆ ในรูปแบบอิสระ ไร้รูปทรง เวลาในการเล่นไม่ควรเกิน 5 นาที

เด็กวัย 1-2 ปี

จะมีพฤติกรรมการเล่นคนเดียว (solitary play) ชอบมีโลกของตนเองในช่วงเวลาสั้น ๆ มักไม่สนใจไม่ร่วมเล่นกับคนอื่น การเล่นของเล่นในแต่ละชิ้นจะใช้เวลาไม่นานแค่ 5-7 นาทีต่อ 1 กิจกรรมเท่านั้น

เด็กวัย 2-3 ปี

มีพฤติกรรมการเล่นแบบคู่ขนาน (parallel play) คือ ต่างคนต่างเล่น ส่วนใหญ่สนใจเฉพาะกิจกรรมของตนเอง อาจมีแอบดูเพื่อนข้าง ๆ เล่นเป็นพัก ๆ ในวัยนี้หากต้องเล่นร่วมกันเด็กอาจยังมีทะเลาะหรือแย่งของเล่นกันบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในวัยนี้ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางค่อนข้างมาก

เด็กวัย 4-5 ปี

เริ่มเล่นร่วมกับเพื่อนแบบความสัมพันธ์เบื้องต้น (associated play) คือ เล่นกับเพื่อนในแนวทางที่ตนต้องการ หรือเล่นกับเพื่อนที่ชอบหรืออยากเล่นเหมือนกับตัวเองเท่านั้น ยังไม่รู้จักการยืดหยุ่น คือ ถ้าเพื่อนไม่เล่นแบบที่ตนเองอยากเล่น ก็จะไม่เล่นด้วย การเล่นจะเป็นกิจกรรมแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน เช่น วิ่งไล่จับ หรือเล่นบทบาทสมมติ ช่วงเวลาเล่นประมาณ 10-15 นาที

เด็กวัย 5-8 ปี

เล่นอย่างมีปฏิสัมพันธ์ เล่นรวมกันเป็นกลุ่ม มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน มีความเข้าใจในกฎ กติกาการเล่นมากขึ้น ดังนั้นในวัยนี้การเล่นจึงมีความซับซ้อน และมีเงื่อนไขมากขึ้น เช่น เล่นซ่อนหา หรือการเล่นบอร์ดเกมต่าง ๆ การเล่นในแต่ละครั้งจะเริ่มใช้เวลามากขึ้น ตามความสนใจและความยากง่ายของเกมนั้น ๆ

 

เมื่อเราทราบถึงธรรมชาติของการเล่นของเด็กในแต่ละวัยแล้ว ต่อไปการจัดกิจกรรมหรือการเล่นกับลูกก็จะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่พ่อแม่ก็สามารถทำได้ อย่าลืมนะคะว่าการเล่นที่เหมาะสมกับวัย จะช่วยสร้าง “ความฉลาด” ให้กับลูกได้ค่ะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow