Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มารยาททางสังคมที่นักเรียนควรจะมี

Posted By Plook Teacher | 15 ก.ค. 63
66,612 Views

  Favorite

มารยาททางสังคม คือ กรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีเหตุผลจากการที่มนุษย์เรานั้น ไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวได้ จึงจำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย และเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขจึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกันเอาไว้

ทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมกันทุกประเทศ แต่อาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งเมื่อเราต้องไปเยี่ยมเยือนหรืออยู่ร่วมในสังคมของประเทศใด ก็ควรเรียนรู้วัฒนธรรมและมารยาทพื้นฐานของประเทศนั้น เพื่อไม่ก่อปัญหาหรือสร้างความไม่สบายใจให้คนในสังคมนั้น ๆ

 

ด้วยเหตุนี้เอง มารยาททางสังคมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสอนให้นักเรียนตั้งแต่วัยเริ่มแรกได้เรียนรู้ และปลูกฝังให้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งค่อนข้างมีพิธีรีตอง โดยมารยาททางสังคมของไทยที่ควรเรียนรู้นั้น มีดังนี้

การพูด

ควรใช้วาจาที่สุภาพในการพูดกับบุคคลอื่น รู้จักกาลเทศะในการพูด ไม่พูดประชดประชัน หรือพูดแทรกขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนา รู้จักพูดขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งของหรือการช่วยเหลือ และรู้จักพูดขอโทษ เมื่อทำผิดพลาดต่อบุคคลอื่น นอกจากนี้ ในการพูดกับผู้ที่อาวุโสกว่าควรมีหางเสียง คือลงท้ายด้วยคำว่า ครับ สำหรับผู้ชาย และลงท้ายประโยคด้วยคำว่า ค่ะ หรือ คะ สำหรับผู้หญิง

 

การทักทาย

แต่ละประเทศนั้น มีรูปแบบการทักทายที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาใช้การจับมือ ฝรั่งเศสใช้การชนแก้ม ญี่ปุ่นใช้การโค้งคำนับ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยจะทักทายกันด้วยการไหว้และการกล่าวคำว่าสวัสดี โดยการไหว้นั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ซึ่งใช้แตกต่างกันดังนี้

      ระดับที่ 1 : ไหว้ระดับหน้าอก นิ้วชี้จรดปลายคาง สำหรับไหว้เพื่อนฝูงหรือบุคคลทั่วไป

      ระดับที่ 2 : ไหว้ระดับใบหน้า นิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว สำหรับไหว้ผู้อาวุโสหรือผู้มีพระคุณ

      ระดับที่ 3 : ไหว้ระดับศีรษะ นิ้วชี้จรดเหนือหน้าผาก สำหรับการไหว้พระรัตนตรัย

ซึ่งการเลือกใช้การไหว้ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลนั้น นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้ปฏิบัติที่มีต่อผู้อื่น และเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีอีกด้วย

 

การแต่งกาย

ประเทศไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแต่งกายให้ถูกกับกาลเทศะ หรือถูกกับงาน เช่น การแต่งกายไปงานศพ ควรแต่งกายด้วยชุดสีดำ สีเทา หรือ สีขาว หรือการแต่งกายสำหรับการทำบุญที่วัด ควรใส่เสื้อผ้าสีขาว เป็นต้น ดังนั้นจึงควรเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับงานหรือโอกาสอันควร

 

การนั่ง การยืน และการเดิน

การนั่งถือเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพที่ดี การนั่งตัวตรงด้วยความสำรวม ไม่ประเจิดประเจ้อ ไม่นั่งหลังโก่ง เท้าคาง หรือแคะแกะเกาผิวหนังขณะที่นั่งอยู่กับบุคคลอื่น เป็นมารยาทที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติดูดีในสายตาผู้อื่น นอกจากนี้ควรนั่งเก้าอี้ในลักษณะของการนั่งเต็มเก้าอี้ ไม่โยกเก้าอี้หรือนั่งเก้าอี้สองขา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตราย

สำหรับการยืน ในกรณีที่ต้องยืนเคารพธงชาติ หรือยืนคุยกับบุคคลอื่น ควรยืนตัวตรง ไม่โยกตัวไปมาหรือทำตัวยุกยิก สร้างความรำคาญต่อคู่สนทนาหรือผู้พบเห็น ส่วนการเดิน การเดินที่ดีนั้น จะต้องเดินด้วยความมั่นคง เต็มฝีเท้า ไม่เดินกะโผลกกะเผลก ไม่เดินช้าหรือเร็วเกินไป ควรเดินให้สอดคล้องกับผู้ร่วมสนทนาหรือผู้ที่ใช้ทางร่วมกัน และเมื่อต้องเดินผ่านผู้ใหญ่ควรจะก้มหัวเล็กน้อย และไม่ควรเดินตัดหน้าผู้อื่นที่กำลังสนทนากันอยู่

 

การรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหารของแต่ละเชื้อชาตินั้น ล้วงมีรูปแบบที่แตกต่างกัน บางประเทศใช้ตะเกียบ บางประเทศใช้ช้อนกับส้อม หรือช้อนกับมีด ซึ่งขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศนั้น ๆ

สำหรับไทย เราใช้ช้อนกับส้อมเป็นอุปกรณ์หลักในการรับประทานอาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น จะต้องนั่งทานด้วยความเรียบร้อย ไม่ใช้ช้อนหรือส้อมในการเคาะหรือขูดจาน ไม่ตักคำใหญ่จนเกินไป ควรแบ่งกับข้าวเป็นชิ้นพอดีคำก่อนจะตักรับประทาน ควรมีช้อนกลางสำหรับตักกับข้าวเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากการรับประทานอาหารร่วมกัน และไม่ควรพุดคุยกันขณะกำลังเคี้ยวอาหาร   

 

การใช้บริการรถสาธารณะ

การใช้บริการสาธารณะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรสอนให้นักเรียนใช้บริการอย่างเหมาะสมและมีมารยาทในสังคม ในกรณีที่ต้องรอใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ ทุกคนควรจะต้องเข้าคิว โดยยืนต่อกันเป็นแถวให้เรียบร้อย ไม่ควรแย่งกันใช้บริการ เพราะนอกจากจะไม่สะดวกแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย นอกจากนี้ ก่อนจะขึ้นยวดยานพาหนะ ควรให้ผู้ที่อยู่ข้างในออกมาก่อน ถึงค่อยเดินเข้าไป และควรเสียสละที่นั่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เด็ก และคนพิการ ซึ่งไม่สะดวกในการยืน

นอกจากนี้ในการโดยสารขนส่งมวลชน ในกรณีที่มีผู้บริการร่วมกันจำนวนมาก เมื่อใช้บริการควรสะพายกระเป๋าไว้ด้านหน้า เพื่อสะดวกในการโดยสารของผู้ร่วมใช้บริการท่านอื่นและเป็นการระวังข้าวของของตัวเองอีกด้วย

 

การใช้สมาร์ทโฟน

ปัจจุบันนี้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กลายเป็นของประจำตัวในการใช้ชีวิตของคนยุคสมัยนี้ ซึ่งมารยาทของการใช้เครื่องมือสื่อสารนั้น ควรจะต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ เช่น เมื่อต้องติดต่อสื่อสาร ควรเลี่ยงหรือขออนุญาตผู้ร่วมสนทนาออกไปคุยข้างนอก ไม่ควรรับและคุยขณะที่สนทนากับบุคคลอื่น และไม่ควรเล่นสมารทโฟน ขณะที่พูดคุยกับบุคคลอื่น หรือขณะที่บุคคลอื่นกำลังพูดคุยด้วย รวมถึงไม่ควรแอบดูข้อมูลในสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช่ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

 

เคารพสิทธิผู้อื่น

ครูผู้สอนควรปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น  ยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาผู้อื่น เคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช้สิทธิของตัวเองไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย

 

การดูแลตัวเองขณะเจ็บป่วย

การดูแลตัวเองขณะเจ็บป่วย คือ การดำเนินชีวิตในขณะเจ็บปวดโดยไม่ให้เป็นภาระและส่งผลเสียต่อบุคคลอื่น เช่น การใส่ผ้าปิดปากขณะมีอาการไอ จาม หรือปฏิบัติตามคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการช่วยให้คนอื่นปลอดภัย ไม่ติดโรค

 

หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องของมารยาทนั้นเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึ ล้าสมัย แต่หลายครั้งที่เรื่องที่ดูล้าสมัยนี้ช่วยสร้างโอกาสและความรู้สึกดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ที่ได้รับด้วย ทุกวันนี้เราอาจจะต้องการนักเรียนที่เก่งและฉลาดเพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต แต่มันคงจะดีกว่า ถ้านักเรียนที่เก่งและฉลาดนั้น มีมารยาทที่ดีในสังคมร่วมด้วย เพราะนอกจากจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าแล้ว ยังสรรค์สร้างสังคมให้น่าอยู่ได้อีกทางหนึ่ง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow